เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เพจ Beach For Life Thailand แจ้งข่าวกรณีสมาชิกเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทจากนักวิชาการผู้ออกแบบกำแพงกันคลื่น เหตุวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบกำแพงกันคลื่น โดยต้นเพจและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ออกมาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการแสดงความเห็นของชาวบ้าน “ไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเกลียดชังหรือความเสียหาย และอาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อเจตนาของการสื่อสารที่เพียงต้องการทักท้วงเพื่อหาทางออกต่อปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเท่านั้น”
ไม่ใช่แค่วิพากษ์วิจารณ์กำแพงกันคลื่น เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นก็เคยถูกฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทเกี่ยวกับการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทั้งยังมีกรณีที่นักวิชาการอิสระ นักการเมือง หรือนักขับเคลื่อนเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ถูกฟ้องร้องคดีแพ่งกรณีกินรวบโรงไฟฟ้า มีมูลค่าฟ้องร้องสูงถึง 100 ล้านบาท หรือในต่างประเทศเอง บริษัท แมคโดนัลด์ ฟ้องหมิ่นประมาทนักเคลื่อนไหวกลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace) ในประเทศอังกฤษ โดยนักเคลื่อนไหวต้องใช้เวลาถึง 7 ปี และเสียเงินไปกว่า 481.5 ล้านบาท
กลับมาที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และ เพจ Beach For Life ที่ถูก SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) เพื่อขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคม ที่พยายามให้เกิดความกดดันและความกลัว ด้วยการเรียกร้องค่าเสียหายมูลค่าสูงการดำเนินคดีในชั้นศาลที่ใช้เวลายาวนาน เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เสียทั้งความรู้สึกต่อระบบตุลาการในไทย
เมื่อการฟ้องร้องในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ถูกใช้เพื่อแสวงหาความยุติธรรม แต่ถูกใช้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อทำให้เสียงของการเรียกร้องสิทธิและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงต่อสาธารณะอ่อนแรงและเงียบลงไป ส่วนใหญ่เราจะเห็นผู้ที่ถูกปิดปาก คือ กลุ่มนักเคลื่อนไหว ชุมชน นักวิชาการอิสระ ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทเอกชนกับภาคประชาชนในหลายๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งในไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในระยะยาวยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย
Transparency International (TI) ได้เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) ของปี 2023 ประเทศไทยได้คะแนน 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 108 จาก 180 ทั่วโลก คะแนนที่ถูกประเมินมีความเกี่ยวข้องอย่างมีนัยร่วมกับดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law) โดย The World Justice Project (WJP) เปิดเผยให้เห็นภาพรวมของดัชนีหลักนิติธรรมของประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 82 จาก 142 ประเทศ ด้วยคะแนน 0.49 สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนถึงอะไร?
หากตอบด้วยข้อมูลจากดัชนีหลักนิติธรรม อาจกล่าวได้ว่าวันนี้คะแนนกลางอยู่ที่ 0.50 คะแนน แม้ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2558 ที่ไทยได้คะแนนอยู่ที่ 0.52 จนในปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่ขยับออกห่างจากเส้นกลางไปไหน การย่ำอยู่กับที่โดยที่ไม่ก้าวหน้าไปไหน เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหลักนิติธรรมไทยกำลังเจอปัญหาเรื้อรังมายาวนาน อย่างกรณีความไม่ปลอดภัยของผู้เสียหายที่เรียกร้องความยุติธรรมจากการสร้างแนวกำแพงกันคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งชายหาดที่เคยเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่ประกอบอาชีพ และพื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมถูกแทนที่ด้วยกำแพงคอนกรีต ส่งผลต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ป่าชายเลน แนวปะการัง สัตว์ทะเล และวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายหาดดั้งเดิม
แล้วเราสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ในเมื่อพลเมืองพยายามออกมาเรียกร้องหรือวิพากษ์ความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมพยายามหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน แต่ต้องโดนการ SLAPP จากกลุ่มผู้มีอำนาจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ปรับปรุงและทบทวนอำนาจตุลาการ: ศาลหรือฝ่ายตุลาการ คือ กลไกของรัฐที่ประชาชนคาดหวังให้เป็นกลางมากที่สุด โดยปราศจากการถูกแทรกแซงและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นมาตรฐานอย่างน่าเชื่อถือ การสร้างอำนาจสมบูรณ์ภายใต้หลักประชาธิปไตยควรมีผู้ตรวจสอบอิสระเข้ามาเป็นกลไกถ่วงดุลศาลอย่างมีส่วนร่วมระหว่างประชาชน
ภาครัฐต้องโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วม: อย่างกรณีการสร้างกำแพงกันคลื่นเกิดจากปี 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นกำแพงกันคลื่นออกจากบัญชีประเภทโครงการที่ต้องจัดทำ EIA คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดกำแพงกันคลื่นโดยไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชุมชน หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดกฎหมายอย่างไร ควรมีการเผยข้อมูลสำคัญและเปิดโอกาสจัดทำประชามติให้ประชาชนและหน่วยงานอิสระเข้ามาแสดงความเห็นและหาทางออกร่วมกัน
สนับสนุนการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน: ยิ่งไปกว่านั้น เสรีภาพขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย คือ การพยายามตีความกฎหมายในแนวทางหลักสิทธิมนุษยชน แต่ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้มีการออกและบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับเพื่อพยายามปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่เห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ดังนั้น ปัญหาในเชิงหลักนิติธรรมทางกฎหมายจึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องทบทวนเพื่อให้เกิดเสรีภาพและความเท่าเทียมตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล
การออกร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก: แม้จะอยู่ในช่วงเสนอร่างเข้ารัฐสภา และมีสถานะเร่งดำเนินการ แม้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐที่ประพฤติมิชอบ ส่อทุจริตคอร์รัปชัน แต่ก็มีความคาดหวังว่าพระราชบัญญัติจะขยายความหมายที่ครอบคลุมการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนต่อการวิพากษ์วิจารณ์โครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรพิจารณาเพิ่มเติมดังนี้
1.การนิยาม SLAPP : กำหนดความหมายของ SLAPP ซึ่งเป็นการฟ้องคดีที่มีจุดประสงค์เพื่อปิดปาก ข่มขู่ และทำให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์ต้องเงียบ เนื่องจากต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทางกฎหมายจนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านได้ให้ครอบคลุมบริบทและสถานการณ์ในปัจจุบัน
2.มาตรการป้องกันบุคคลที่ถูก SLAPP : กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลถูกเป้าหมายด้วย SLAPP รวมถึงกระบวนการย่นย่อสำหรับยกเลิกคดีที่ไม่มีมูลความจริงในระยะเริ่มต้น
3.ทางแก้ไขทางกฎหมายสำหรับจำเลย : พัฒนากลไกสำหรับจำเลยในคดี SLAPP เพื่อขอความช่วยเหลือจากศาลโดยทันที รวมถึงการยกเลิกคดีและอาจได้รับค่าทนายความและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างครอบคลุม
ท้ายที่สุดแล้วการใช้ SLAPP เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อเศรษฐกิจในระยะยาว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชน องค์กรอิสระ และหน่วยงานรัฐ ต้องร่วมมือกันสร้างกรอบกฎหมายและนโยบายที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ SLAPP อย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ควรส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการวิจารณ์และการเรียกร้องสิทธิโดยไม่ต้องกลัวถูกคุกคามด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การดำเนินการเช่นนี้จะเป็นการปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นสังคมประชาธิปไตย
ข้อมูลจาก
[1] Atirut Duereh. ‘หลักนิติธรรมไทย’ รั้งอันดับ 80 ของโลก – กระบวนการยุติธรรมทางอาญาคะแนนถดถอย “สังคมสงบสุขและยุติธรรม” จึงยังเกินเอื้อมถึง? ชวนสำรวจผ่านดัชนี WJP Rule of Law 2022. เว็บไซต์: www.sdgmove.com/2023/03/01/rule-of-law-wjp-index-thailand-2022
[2] Beach For Life. จดหมายเปิดผนึกถึง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ เรื่อง ขอเข้าพบอธิการบดี กรณีอาจารย์แจ้งความดำเนินคดีกับสมาชิกเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น. www.facebook.com/photo?fbid=122177152346003325&set=a.122098561838003325.
[3] ชัญญา อินทร์ไชยา. SLAPP: เมื่อกฎหมายปิดปากขัดขวางสื่อ ประโยชน์สาธารณะจะเกิดขึ้นอย่างไร. เว็บไซต์: https://waymagazine.org/slapped-but-not-silenced.
[4] ฉัตร คำแสง. เศรษฐกิจโตช้าไป หรือเราหวังไว้มากเกิน?. เว็บไซต์ : https://www.the101.world/over-optimistic-forecast-gdp
[5] ประชาไท. รัฐรับหลักการทำ EIA ก่อนสร้างกำแพงกันคลื่น-กลุ่ม Beach for Life ขอดูคำสั่ง. เว็บไซต์: https://prachatai.com/journal/2022/12/101790.
[6] ไอลอว์. ไม่ใช่แค่ SLAPP ปิดปาก แต่กลั่นแกล้งด้วยกระบวนการยุติธรรม. เว็บไซต์: https://www.ilaw.or.th/articles/16707
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี