ประเทศส่วนใหญ่ในโลกกว้างได้ประกาศว่าตนเองเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ซึ่งในจำนวนนี้ มีบางประเทศที่ประสบความสำเร็จในความเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่งเป็นประชาธิปไตยเพียงในนาม หรือไม่ก็มีความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (Illiberal Democracy)
แล้วอะไรเล่าคือตัวชี้วัดการเป็นสังคมและประเทศที่เป็นเสรี หรือไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย?
ก็ขอเริ่มจากการยกตัวอย่างประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐจีนไต้หวัน เกาหลีใต้ ภูฏาน ติมอร์ตะวันออก และญี่ปุ่น โดยประเทศเหล่านี้มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน เช่น
1.มีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดบทบาท และภาระหน้าที่ขององค์ประมุข หรือประมุข ของประเทศ อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานสภา ประธานศาลฎีกา และองค์กรตรวจสอบอิสระต่างๆ
2.มีระบบการเลือกตั้ง และการกระจายอำนาจระหว่างส่วนกลาง กับส่วนปกครองท้องถิ่น ผ่านการเลือกตั้งโดยการเข้าร่วมของประชาชนพลเมือง
3.การมี และการใช้กฎหมายที่มิมีการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้ ประชาชนพลเมืองมีทั้งสิทธิและหน้าที่ ฝ่ายสื่อมีความเป็นอิสระและไม่อยู่ในอาณัติของฝ่ายใด
4.ฝ่ายรัฐให้บริการต่อประชาชนพลเมือง รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารที่จะอำนวยให้ประชาชนพลเมืองรับรู้ ตระหนักรู้ ได้รับการบริการและมีส่วนร่วม ฝ่ายรัฐมีหน้าที่ในเรื่องทุกข์สุขขั้นพื้นฐานของประชาชนพลเมือง เช่น เรื่องการรักษาพยาบาล การศึกษา ที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภค
5.ประชาชนพลเมืองก็สามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากความหวาดกลัวและการคุกคามใดๆ และสามารถจะรวมตัวเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ไม่เป็นการบ่อนทำลายสังคมประชาธิปไตย และกระทบกระเทือนต่อความสงบสุขของประชาชน
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีประเทศหรือสังคมรอบๆ บ้านเราที่อ้างว่า เป็นเสรีประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมหรือความเป็นจริงในการปฏิบัตินั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่นที่ ฟิลิปปินส์ ที่ความเป็นไปในเรื่องการบ้านการเมืองก็กระจุกตัวอยู่ที่ตระกูลหรือราชวงศ์การเมืองแค่จำนวนสิบๆ กว่าตระกูลเท่านั้น ซึ่งเป็นเสมือนกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มีพลังอำนาจต่างๆ เหนือกลุ่มอื่นๆ และประชาชนพลเมืองเป็นการทั่วไป ความเป็นประชาธิปไตยจึงมีความเหลื่อมล้ำในตัวและไม่เป็นเสรี
ที่มาเลเซีย ก็ยังมีเงาของลัทธิมลายูนิยม และอิสลามนิยมที่ครอบงำสังคม และโครงสร้างทางการเมืองของมาเลเซียอยู่ ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยและความจำกัดของเสรีภาพในหมู่ชนเชื้อสายจีนและอินเดีย ทั้งในเรื่องชาติพันธุ์และการนับถือศาสนา
ที่กัมพูชา ประชาธิปไตยรวมทั้งการเลือกตั้งทั่วไปก็เป็นแค่ฉาก เพราะตระกูลฮุน ได้ขจัดคู่ต่อสู้ทางการเมืองไปหมดแล้ว และการเลือกตั้งทั่วไปก็เป็นการเลือกตั้งแบบ “ของ” / “โดย” / “เพื่อ” พรรคเดียวเท่านั้น
เมื่อหันไปทางตะวันตก บังกลาเทศ ก็เป็นประชาธิปไตยแบบพรรคเดียว ส่วนที่ปากีสถาน ก็เป็นประชาธิปไตยแบบกองทัพนำพา ส่วนที่เนปาลพรรคเหมานิยม (Maoist) ก็วางตัวให้มีอำนาจและอิทธิพลเหนือพรรคอื่นๆ และประชาชนพลเมืองมีความรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพถูกจำกัด ส่วนที่ศรีลังกานั้น ประชาธิปไตยแบบครอบครัวการเมืองครอบงำ ก็ยังเป็นเงามือปกคลุมประเทศอยู่ และที่มัลดีฟส์ การเมืองแบบเลือกข้างระหว่างจีนนิยมกับอินเดียนิยมก็กำลังก่อตัวไปสู่ความขัดแย้ง และการเอาแพ้เอาชนะกันแบบใครดีใครอยู่ และฉะนั้นก็มีเงาของการรวบอำนาจ หรือเผด็จการนิยม
ประเทศดังกล่าวที่ระบุมานี้ ฝ่ายผู้มีอำนาจได้เข้าไปครอบงำกระบวนการยุติธรรม และควบคุมสื่ออย่างเข้มข้น จึงถือเป็นประชาธิปไตยแบบไม่เสรีกันทั้งนั้น
สำหรับสังคมไทย เราก็พูดกันมาตลอดว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เรามิได้มีโอกาสได้มาพูดจากันอย่างจริงจังว่า เรามีความเข้าอกเข้าใจในคำนิยามดังกล่าวว่าอย่างไร และมีการยอมรับซึ่งกันและกันมากน้อยแค่ไหน
ฉะนั้น จึงมีคำถามว่า ประเทศไทยเราเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยจริงหรือไม่? หรือเราเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ไม่แท้จริงกันแน่?
ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีเวทีและกลไกที่เราจะสามารถมานั่งปรึกษาหารือ ถกเถียงและอภิปรายกันอย่างเปิดเผย ด้วยการเปิดใจ แสดงสติปัญญาด้วยความรักชาติบ้านเมืองกันอย่างจริงจัง
ในหนังสือประวัติศาสตร์สำหรับเด็กๆ ในวัยเรียนมีการกล่าวถึง ชาวสุโขทัยสามารถไปสั่นกระดิ่ง ณ ที่อยู่อาศัย หรือที่ทำการงานของผู้นำได้ บ่งบอกซึ่งสิทธิเสรีภาพ บ่งบอกซึ่งสายใยเชื่อมโยงระหว่างการเป็นหัวหน้าบ้านกับลูกบ้าน บ่งบอกซึ่งการเคารพนับถือและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันเพื่อความผาสุกเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง
เราทุกคนต่างมีภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันขจัดชิ้นส่วนปัจจัยต่างๆ (Elements) ที่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยออกไป หรือนัยหนึ่งคำว่า Illiberal Democracy จะต้องไม่อยู่ในสารบบสังคมไทยแต่อย่างใดอีกต่อไป
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี