อย่าให้กฎหมู่ อยู่เหนือกฎหมาย
ไม่ควรยึดเอาความผูกพันทางใจของคนกลุ่มหนึ่ง มาอยู่เหนือระบบยุติธรรมตามกฎหมายบ้านเมือง
กรณีข้อพิพาทที่ดินระหว่างจุฬาฯ กับอุเทนถวายเกิดขึ้นหลายสิบปีแล้ว
1. ปี 2478 อุเทนถวายทำสัญญาเช่าพื้นที่กับจุฬาฯ เป็นเวลา 68 ปี
หลังครบกำหนดสัญญา จุฬาฯไม่ต่อสัญญา มีการทำบันทึกข้อตกลงให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนภายในเดือน ก.ย.2548
ต่อมา ปี 2548 มีการทำบันทึกข้อตกลงอีก ให้ย้ายอุเทนถวายไปก่อสร้างใน จ.สมุทรปราการ แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงได้ นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีทางแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งมีมติให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่ พร้อมชำระค่าเสียหายให้แก่จุฬาฯกว่า 1.1 ล้านบาทต่อปี
ต่อมา อุเทนถวายยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อปี 2556 ปรากฏว่า ศาลปกครองกลางยกฟ้อง โดยระบุว่าจุฬาฯคือผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และมติของ กยพ.ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
อุเทนถวายสู้ต่อในชั้นศาลปกครองสูงสุด
10 ธ.ค.2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางคือ ให้อุเทนฯ ย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2565 โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง
เพราะฉะนั้น ปัญหาพิพาทได้ข้อสรุปในทางกฎหมายเป็นที่ยุติแล้ว
หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลมิฉะนั้น อาจถูกฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้
2. ประเด็นนี้ ไม่ควรเอาไปปั่นเป็นเรื่องเกียรติศักดิ์ศรีของสถาบัน เพราะคนละเรื่องกัน
ศิษย์เก่าจบจากอุเทนถวายมาประกอบสัมมาอาชีพ ทำคุณประโยชน์แก่สังคมมากมาย เป็นคนละเรื่องการทำตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาล
3. หากฝ่ายอุเทนถวายมี “หลักฐานใหม่” ก็สามารถใช้ช่องทางยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ต่อศาลปกครอง
เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ อาทิ คดีค่าโง่โฮปเวลล์ เป็นต้น
มิใช่ใช้มวลชนกดดัน
4. ในคำพิพากษาศาลปกครอง ระบุชัดเจนว่า
ศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่า กระบวนการในการพิจารณามีมติของ กยพ. ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ ไม่ปรากฏว่ามีส่วนใดบกพร่อง
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างถึงการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งทางผู้ฟ้องคดีได้อ้างว่ามีความชอบธรรมที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนเฉกเช่นเดียวกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทยด้วยนั้น เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแล้วไม่ปรากฏหลักฐานว่า จะมีพระบรมราชโองการพระราชทานที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีในขณะเมื่อเริ่มก่อตั้ง รวมถึงประเด็นดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีควรยกขึ้นกล่าวอ้าง หรือกล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ในชั้นที่ได้มีการตรา พ.ร.บ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2482 และกรณีเป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องพิจารณาและดำเนินการเพื่อให้มีการออกกฎหมายโอนที่ดินพิพาทแก่วิทยาเขตอุเทนถวาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังมิได้มีกฎหมายโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้วิทยาเขตอุเทนถวาย ขนย้ายและส่งมอบที่ดินพิพาทคืน พร้อมชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินให้ข้ออ้างของผู้ฟ้อง คดีจึงไม่อาจรับฟังได้
5. ศ.ดร.ธงทองจันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์แสดงความคิดเห็น ระบุว่า
“1. ผมเคยทำหน้าที่ผู้อำนวยการหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่นานสิบกว่าปี ได้ค้นคว้าเอกสารและผ่านตาเอกสารเกี่ยวกับที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาครบทุกชิ้น ไม่ปรากฏหลักฐานใดว่า “อุเทนถวาย” ได้รับพระราชทาน ได้รับโอนหรือมีกรรมสิทธิ์ด้วยประการหนึ่งประการใดในที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอุเทนถวายในปัจจุบัน มีแต่เพียงสัญญาเช่า ซึ่งครบกำหนดไปนานปีแล้ว และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ต่อสัญญาเช่าให้อีก
2.อุเทนถวายมีข้อโต้เถียงในเรื่องกรรมสิทธิ์ และนำคดีขึ้นสู่ศาล คดีถึงที่สุดว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของแปลงนี้
3.ผมจำวันเวลาที่แน่นอนไม่ได้ แต่ได้มีการเจรจาตกลงและทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างอุเทนถวายกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าอุเทนถวายจะย้ายการเรียนการสอนไปยังสถานที่ใหม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
4.เรื่องเหตุกระทบกระทั่งระหว่างอุเทนถวายกับสถาบันการศึกษาอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกัน มีมาช้านาน และมีความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นต่อเนื่อง บางคราวประชาชนคนธรรมดาก็ถูกลูกหลง บาดเจ็บล้มตายไปกับเขาด้วย
5.ผมได้ทราบจากข่าวสารสาธารณะว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน โดยการให้สถาบันการศึกษาที่ชื่อ อุเทนถวายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกยังคงรับนักศึกษาปีที่หนึ่งในปีการศึกษาหน้าที่จะถึงนี้ โดยให้ไปจัดการเรียนการสอนในวิทยาเขตหรือสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่พื้นที่ปทุมวัน ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดชี้ขาดมานานปีแล้วว่าเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6.การดำเนินการตามข้อ 5 ข้างต้น นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งย่อมอยู่ในฐานะที่จะได้รับทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า เมื่อตนเข้าไปเป็นนักศึกษา จะมีสถานที่เรียนอยู่ที่ใด เป็นการรับทราบข้อมูลล่วงหน้า ทำให้มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้
7.มีบางเสียงอภิปรายกล่าวอ้างว่า หากอุเทนถวายไม่อยู่ที่ปทุมวันที่แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะนำที่ดินไปจัดผลประโยชน์หรือทำธุรกิจ ผมเห็นว่าข้อเถียงดังกล่าวเป็นการหลงประเด็น หลงตรรกะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมมีความชอบธรรมที่จะนำที่ดินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ตามที่เห็นสมควร จากความรู้ส่วนตัวของผม พื้นที่ตรงนี้อยู่ในแผนการใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ในการศึกษามานมนานแล้ว
แต่ถ้าในวันข้างหน้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคิดจะปรับแผนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ก็เป็นเรื่องที่ประชาคมจุฬาฯรวมตลอดถึงประชาชนจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด ถ้ามีเรื่องทุจริตคิดมิชอบเกิดขึ้น ไม่ต้องเดือดร้อนถึงคนอื่นหรอกครับ เพียงแค่คนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน เขาย่อมไม่ยอมอยู่นิ่งอย่างแน่นอนครับ”
6. ขอชื่นชมท่าทีของ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศุภมาส อิศรภักดี ที่แสดงท่าทีรับฟัง ให้เกียรติ แต่แสดงจุดยืนในหลักการที่ให้ความเป็นธรรมมั่นคง ในการเป็นประธานการประชุมดำเนินการตามคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยหารือร่วมกันทั้งสองฝ่ายมาแล้วก่อนหน้านี้
รมว.ศุภมาส ยืนยันว่า จะต้องทำตามกฎหมาย และรับฟังทุกฝ่าย โดยพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาเป็นสำคัญ
สอดคล้องกับนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี