“เรานั่งอยู่ตรงนี้ เราเขียน เรากด เราคิดว่าคนที่เราพูดถึงมีตัวตนหรือเปล่า อันนี้ต้องคิดก่อน คือเมื่อก่อนสมัยแรกๆ เลยของการใช้อินเตอร์เนต มันมีกฎ-กติกา-มารยาท มันมีข้อหนึ่งที่บอกว่า “ต้องตระหนักว่าคนที่คุณสื่อสารด้วยบนโลกออนไลน์มีตัวตนอยู่จริง” เขาบอกเลยนะ เพราะฉะนั้นจะทำอะไรคุณต้องนึกว่ามันเกิดผลกระทบกับคนจริงๆ แต่ ณ ทุกวันนี้ เราก็ไม่รู้ว่าความตระหนักรู้ตรงนั้นมันยังเยอะอยู่หรือเปล่า เพราะเห็นว่าเขียนไปแชร์ไปโดยใจร้าย คือพูดได้ว่ารู้สึกใจร้าย เพราะบางทีเราเห็น Comment (ความคิดเห็น)เห็นอะไรมันแรงมาก”
ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เปิดประเด็นชวนคิดในวงเสวนา “ฮักบ่Hate การสื่อสารที่ไม่สร้างความเกลียดชัง”จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเครือข่ายอีกหลายองค์กร เมื่อเดือน ก.พ. 2567ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นคู่ขนานไปกับการจัดงาน วันส่งเสริมความปลอดภัยทางอินเตอร์เนต (Safer Internet Day) ในระดับสากล ที่เริ่มจัดในทวีปยุโรปตั้งแต่ปี 2547 ก่อนขยายไปทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์
ซึ่งต้องบอกว่า “แต่ละโพสต์-แต่ละคอมเมนต์ ที่เราพิมพ์และกดส่งออกไป เราอาจคิดว่าเรื่องเล็กๆ ไม่เป็นอะไร แต่ในบางกรณีมันสามารถทำร้ายบางคนได้ถึงชีวิต” ศรีดา ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งเจอโพสต์ “อ้วนดำ” บนโลกออนไลน์ ผู้โพสต์อาจเห็นว่าตนเพิ่งโพสต์ถึงเด็กคนนั้นเพียงครั้งเดียว แต่สำหรับตัวเด็กนั้นเจอถ้อยคำดังกล่าวมาเป็นพันครั้ง (รวมถึงโดนล้อเลียนมาตั้งแต่ในโลกจริง) รับไม่ไหวอีกต่อไป กลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ก่อนตัดสินใจจบชีวิต จึงมีคำถามว่า “ใจเขาใจเรา” คำคำนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า? เข้าใจหรือไม่ว่านั่นคือมนุษย์ มีเลือดเนื้อและความรู้สึก
ประการต่อมา “คนไทยเข้าใจกฎหมายหมิ่นประมาทมาก-น้อยเพียงใด?” เช่น มีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมาก แต่ต่อท้ายว่า “คหสต. (ความเห็นส่วนตัว)” ราวกับเชื่อว่าทำแบบนี้แล้วไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย นอกจากนั้น “การใช้ถ้อยคำที่ทำร้ายจิตใจกัน หลายครั้งนำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความรุนแรงจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตอบโต้กัน” อาทิ มีกรณีผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ขึ้นพาดหัวข่าวระบุว่า ได้รับคำชมว่าเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุด
สักพักก็มีชาวเนตรายหนึ่งมาแสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นจะสวยเลย ตามด้วยอีกรายเข้ามาสำทับเพิ่มอีกว่า ไปหาผู้หญิงจริงๆ ดีกว่าไหม? จากนั้นก็มีอีกฝ่ายเข้ามาตอบโต้ว่า แล้ว LGBTQ+ จะสวยบ้างไม่ได้หรืออย่างไร? ต่างฝ่ายต่างมีพวก ระดมพลโต้เถียงกันไป-มา ลุกลามบานปลายไปสู่การใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ที่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นถ้อยคำหยาบคายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงถ้อยคำที่ก่อให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่ยอมรับกัน สร้างความเกลียดชัง กีดกัน ด้อยค่า
“Bully (กลั่นแกล้งรังแก) กับ Hate Speech (ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง) ไป-กลับได้ Hate Speech ก็อาจกลายเป็นกลั่นแกล้งรังแก รุมทำร้ายทางร่างกายก็ได้นะเพราะจริงๆ ทุกวันนี้ สมมติว่าการทำร้าย แกล้งกันรังแกกัน ระรานกัน ของราชบัณฑิตเขาใช้คำว่าระรานทางไซเบอร์ (CyberBullying) มันดูรุนแรงกว่ากลั่นแกล้งรังแก ระรานคือเหมือนกับอันธพาลเลย ฉะนั้นทำร้ายกันทางกายภาพ ถ่ายคลิปวีดีโอขึ้นมา ก็จะมีทางวาจามากระทำซ้ำอีก แชร์ไปบิดเบือน แล้วก็อาจมีการทำร้ายร่างกายแล้วก็ถ่ายขึ้นมาอีก
เพราะฉะนั้นตัวเองคิดว่าไม่พูดถึงจำนวนว่ามันมากขึ้นหรือน้อยลง แต่พูดว่ามันบานปลายในแง่ที่ว่าการแกล้งหรือด่าว่าใครสักคนหรือทั้งกลุ่มก้อน พอขึ้นมาบนออนไลน์มันมีคนร่วมเยอะขึ้น แล้วเรื่องมันก็ไปไกลขึ้น ฉะนั้นการแก้ไขก็ยากขึ้น ผลกระทบก็หมู่มากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ตัวเอง
คิดว่า การใช้เทคโนโลยีทำให้เรื่องนี้มันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีใจเขาใจเรา” กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ให้ความเห็น
ศรีดา ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการกลั่นแกล้งรังแก มักจะเน้นไปที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเหยื่อ เช่น ให้กำลังใจ บอกว่าอย่าไปให้ค่าพวกที่มาทำร้ายเรา ส่งเสริมบทบาทสถาบันครอบครัวให้เป็นหลักยึดได้ อย่างไรก็ตาม หากเหยื่อเป็นเด็กก็อาจแบกรับไม่ไหว
อย่างตนเคยไปร่วมเวทีเสวนาที่เกี่ยวกับภัยออนไลน์ มีผู้ร่วมงานที่เป็นเด็กแสดงความคิดเห็นว่า การกลั่นรังแกทางออนไลน์ (Cyberbullying) เป็นปัญหาใหญ่ของชีวิต ในขณะที่ผู้ใหญ่จะมองไปที่ปัญหาอื่นๆ มากกว่า เช่น การหลอกลวงทรัพย์สิน (Scammer) หรือการคุกคามทางเพศ
โดยเสียงสะท้อนของเด็กๆ ระบุว่า เมื่อเกิดปัญหากลั่นแกล้งรังแกกัน เด็กต้องต่อสู้รับมือกันเองเพราะผู้ใหญ่มองว่าเด็กเล่นกันเดี๋ยวก็เลิกไปเอง ในทางกลับกัน สำหรับเด็กที่ชอบกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเกิดได้ด้วยองค์ประกอบ 1.ความไม่เท่ากันของอำนาจ(เช่น เด็กตัวใหญ่รังแกเด็กที่ตัวเล็กกว่า) กับ 2.มีวิธีคิดที่ไม่ดี(จึงใช้ความเหนือกว่าทางอำนาจ เช่น ขนาดของร่างกาย ไปรังแกผู้อื่น) ในกรณีที่พบว่า มีผู้ใหญ่โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองให้ท้าย ในทางจิตวิทยาชี้ชัดได้เลยว่า เด็กคนนั้นโตไปก็แนวโน้มเป็นนักเลงอันธพาล เข้าสู่วงจรอาชญากรรม
“การที่แกล้งคนอื่นนั่นแปลว่าเขาไม่ได้รู้จักการจัดการกับปัญหา โตขึ้นเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง แก้ปัญหาแบบไม่ถูกเรื่องถูกราว เพราะฉะนั้นตนเองก็เลยมองประเด็นนี้ว่า แทนที่เราจะไปสนใจที่เหยื่อให้เขาเข้มแข็ง เราไปสนใจคนที่แกล้งด้วย ที่สำคัญคือเราไปสนใจ Bystander (คนรอบข้าง) พวกเราในนี้คือส่วนใหญ่เลยนะที่เป็นผู้เห็นเหตุการณ์การกลั่นแกล้ง Bully ต่างๆ ถามว่าเราช่วยอะไรหรือเปล่า? คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเฉย ดูอยู่ห่างๆ
เพราะอะไร? สมมุติว่าเดินไปเห็นผู้ชายตีผู้หญิงอยู่ กล้าเข้าไปช่วยไหม? ทุกคนส่ายหน้าหมดเลย 1.ธุระไม่ใช่ 2.กลัวลูกหลง 3.ไม่รู้ว่าเขาผัว-เมียกันหรือเปล่า? ซึ่งจริงๆ ผัว-เมียก็ตีกันไม่ได้นะ กฎหมายเราก็ไม่มีความรู้ เด็กกลั่นแกล้งรังแกกัน ส่วนใหญ่เพื่อนก็ไม่กล้าช่วยเพราะนี่ก็เพื่อนเราทั้งคู่เราก็ไม่รู้จะอยู่ข้างใคร? เดี๋ยวโดนลูกหลง เดี๋ยวเขาเกลียดเราเหตุผลที่จะไม่เยอะแยะเลย อีกเหตุผลคือเดี๋ยวก็มีคนอื่นช่วยเอง กลายเป็นไม่มีใครช่วยเลย” ศรีดา ระบุ
กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เน้นย้ำว่า อยากให้มีการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ สังคมโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลั่นแกล้งรังแก หรือการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง หากเราไม่ต้องการเพิกเฉยแล้วจะทำอะไรได้บ้าง? ดังตัวอย่างข้างต้น ที่มีการแบ่งฝ่ายทะเลาะเบาะแว้งใช้ถ้อยคำรุนแรงจากข่าว LGBTQ+ ที่พาดหัวข่าวบอกเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุด ซึ่งนี่คือความท้าทาย เพราะหลายคนก็เลือกที่จะเห็นแล้วปล่อยผ่านไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะกลัว “ทัวร์ลง” ระดมพลเข้ามาด่าว่าโจมตี
แต่จริงๆ แล้วมีวิธีที่สามารถทำได้ เช่น บอกว่าความสวยเป็นเรื่องความชอบของแต่ละบุคคล หรือเข้าไปเตือนในทางลับ (หลังไมค์ inbox) บอกว่าข้อความนี้อาจเข้าข่ายถูกฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งวิธีการแบบนี้จะไม่สร้างศัตรู ดังนั้น ก็ต้องให้ความรู้กับสังคม หากคนหมู่มากลุกขึ้นมาไม่นิ่งเฉย ก็จะเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมได้!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี