แค่ 2 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 6 ล้านกว่าคน
แน่นอนว่า ส่วนใหญ่เข้ามาทางสนามบินสุวรรณภูมินั่นเอง
1. รัฐบาลเศรษฐาจะต้องเร่งทำให้เกิดความชัดเจนว่า นโยบาย 3 สนามบินเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูง ยังจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่? จะเริ่มก่อสร้างได้จริงๆเมื่อไหร่? หรือจะต้องเปิดประมูลใหม่?
เพราะปัจจุบัน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างเลย นั่นย่อมมีผลต่อโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก รวมไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในอีอีซี
2. การเดินหน้าพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทเดิม
ต้องชื่นชมแนวทางการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND, AVIATION HUB” เดินหน้าพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) และให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับขึ้นมาอยู่ใน 50 อันดับแรกของโลก ภายใน 1 ปี และอยู่ใน 20 อันดับแรกภายใน 5 ปี
ต่อมา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และไทม์ไลน์ที่นายกฯวางไว้ให้ได้ และเชื่อมั่น 100% ว่า จะสามารถปรับปรุงพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้กลับมามีบริการที่ดีได้ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีแน่นอน
2.1 รมว.สุริยะ ระบุว่า จะนำหัวข้อที่สกายแทร็กซ์ (Skytrax) ใช้พิจารณาไปดำเนินการแก้ไข ยกระดับบริการ เช่น เรื่องบริการห้องน้ำ เป็นหัวข้อที่อาจจะรับทราบกันน้อยว่าเป็นส่วนหนึ่งในการจัดอันดับ ตนได้สั่งการให้ ทอท. สำรวจตรวจสอบทั้งในเรื่องจำนวนที่ต้องทำเพิ่มเติม รวมไปถึงความสะอาดและกลิ่น ให้ไปดูด้วยว่าห้องน้ำของห้างสยามพารากอนมีความสะอาด มีกลิ่นหอมแค่ไหน ใช้น้ำหอมยี่ห้ออะไรบ้าง หากดีก็นำมาเป็นต้นแบบที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เรื่องนี้เป็นความใส่ใจในรายละเอียดตามที่นายกรัฐมนตรี
2.2 รมว.สุริยะยืนยันว่า จะมุ่งพัฒนาตามแผนแม่บทเดิม โดยเร่งด่วน คือ
โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) และ ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion) พร้อมกับมุ่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) โดยตั้งใจจะให้มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ ซึ่งจะไม่มีการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ (North Expansion) ที่เคยมีแนวคิดที่จะเพิ่มเติมจากแผนแม่บทเดิม
2.3 นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า การลงทุนพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก มีความพร้อมจะเปิดประกวดราคาในเดือนมิ.ย.2567 จะเพิ่มพื้นที่ อีก 100,000 ตร.ม. จากเดิม 450,000 ตร.ม. จะเป็น 550,000 ตร.ม. และส่วนต่อขยายอาคารด้านตะวันตกจะเพิ่มพื้นที่อีก 100,000 ตร.ม. รวมเป็น 650,000 ตร.ม. รวม 2 โครงการจะเพิ่มพื้นที่อีก 30% และขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 30 ล้านคน/ปี
รวมถึง อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ขีดความสามารถรวม 90 ล้านคน/ปี
แผนระยะยาว ในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทเดิม มีศักยภาพในการเพิ่มการเดินทางเข้าท่าอากาศยานด้านทิศใต้ จากถนนบางนา-ตราด รองรับรถได้เพิ่มอีกเท่าตัว
รวมถึงมีความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เท่ากับอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) ซึ่งจะทำให้สุวรรณภูมิรองรับได้เป็น 150 ล้านคน/ปี และทำให้สุวรรณภูมิใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก
ทอท.จะมีการศึกษาทบทวนแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใหม่ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือภายในเดือน พ.ย. 2567 ภาพรวมการพัฒนาจะนิ่งและชัดเจน เพื่อนำไปสู่การออกแบบรายละเอียดอีกประมาณ 15 เดือน และคาดว่าปลายปี 2568 ไม่เกินต้นปี 2569 จะเปิดประมูลอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีคาดว่าจะทยอยเปิดให้บริการได้ในปี 2572-2573
ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุด้วยว่า เป้าหมายในการทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็น 1 ใน 50 อันดับของโลกภายใน 1 ปี จะต้องมีการปรับปรุงบริการต่างๆ ต้องมีมาตรฐาน เพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้โดยสารประทับใจและสะดวกสบาย จะส่งผลต่อการจัดอันดับ ทอท.จะดูแลทุกกระบวนการ ทั้ง เช็คอิน ตรวจค้นและ ตรวจหนังสือเดินทาง รวมไปถึงพื้นที่และห้องพักคอยต่างๆ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) จะเพิ่มเจ้าหน้าที่ 600 นาย และช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Auto Channel ) 80 ช่อง เพื่อลดระยะเวลาคอย และทอท.จัดหากำลัง 800 อัตรา เข้ามาเสริมในกระบวนการตรวจค้นและการแนะนำผู้โดยสาร
3. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte เสนอแนะและให้ข้อมูลเชิงลึกน่าสนใจ ระบุว่า
“เร่งขยายสุวรรณภูมิ ก่อนผู้โดยสารล้นสนามบิน
น่าดีใจที่สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นประตูหลักสู่ประเทศไทยมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ หลังจากลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนถึงปี 2566มีผู้โดยสาร 51.7 ล้านคน คาดว่าอีกไม่นานปริมาณผู้โดยสารจะเท่ากับปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ 65.4 ล้านคน ซึ่งเกินความจุของสนามบิน
หากไม่เร่งแก้ไข สนามบินสุวรรณภูมิจะแน่นแออัด สร้างความไม่สะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร รวมทั้งทำให้ผู้โดยสารล่าช้าเสียเวลา เป็นผลให้คุณภาพการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิลดลง อันดับของสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเทียบกับสนามบินอื่นๆ ทั่วโลก ก็อาจจะลดลง…
…ตามแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2536 เป็นแผนที่ยังคงทันสมัยและยังใช้งานได้ดี มีองค์ประกอบหลักดังนี้
(1) อาคารผู้โดยสารหรือเทอร์มินัล 2 หลัง ประกอบด้วย เทอร์มินัล 1 อยู่ทางทิศเหนือด้านมอเตอร์เวย์ และเทอร์มินัล 2 อยู่ทางทิศใต้ด้านถนนเทพรัตน (หรือถนนบางนา-ตราด)
(2) อาคารเทียบเครื่องบินรอง (Satellite หรือ SAT สำหรับให้ผู้โดยสารนั่งรอขึ้นเครื่องบิน) 2 หลัง ตั้งอยู่ระหว่างเทอร์มินัล 1 และเทอร์มินัล 2
(3) รถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือ APM) วิ่งใต้ดินเชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับเทอร์มินัล 2 และ
(4) รันเวย์ 4 เส้น ตั้งอยู่ด้านตะวันตก 2 เส้น และด้านตะวันออก 2 เส้น
องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 120 ล้านคนต่อปี
แผนแม่บทดังกล่าวมีการวางแผนการก่อสร้างเป็นระยะๆ ดังนี้
ระยะที่ 1 สร้างเทอร์มินัล 1 สร้างรันเวย์ 1 และรันเวย์ 2 แล้วเสร็จในปี 2549 ทำให้สนามบินมีความจุ 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก สร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) และรถไฟฟ้าไร้คนขับช่วงที่ 1 (APM-1) เชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับ SAT-1 สนามบินจะมีความจุเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 60 ล้านคนต่อปี (45+15)
ระยะที่ 3 ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันตก สร้างรันเวย์ 3 จะทำให้สนามบินมีความจุเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 75 ล้านคนต่อปี (60+15)
ระยะที่ 4 สร้างเทอร์มินัล 2 ด้านทิศใต้ สร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 2 (SAT-2) สร้างรันเวย์ 4 และรถไฟฟ้าไร้คนขับช่วงที่ 2 (APM-2) เชื่อมระหว่าง SAT-1 กับ SAT-2 รวมทั้งเชื่อมกับเทอร์มินัล 2 จะทำให้สนามบินจะมีความจุเพิ่มขึ้น 45 ล้านคนต่อปี รวมเป็น 120 ล้านคนต่อปี (75+45)
ถึงเวลานี้ การก่อสร้างระยะที่ 2 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจาก ทอท.ยังไม่ขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออก ทั้งๆ ที่ได้ออกแบบเสร็จแล้ว และได้รับอนุมัติผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว อันที่จริง ทอท. น่าจะฉกฉวยโอกาสขยายเทอร์มินัล 1 ด้านตะวันออกในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะมีผู้โดยสารน้อย ไม่รบกวนการก่อสร้าง
แต่ก็ยังดีที่ ทอท.ได้สร้าง SAT-1 และ APM-1 เชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับ SAT-1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566
ก่อนที่ผู้โดยสารจะล้นสนามบิน ทอท.ควรเร่งรัดเพิ่มความจุของสนามบินสุวรรณภูมิตามแผนแม่บทที่วางไว้ดังกล่าวข้างต้น (เทอร์มินัลแปะควรเลิกคิด) พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออกสนามบิน โดยเฉพาะการเดินทางเข้า-ออกสนามบินด้านทิศใต้บนถนนเทพรัตน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม บนถนนเทพรัตน จะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ LRT) ทำให้การเดินทางเข้า-ออกเทอร์มินัล 2ตามแผนแม่บท ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย และรวดเร็ว ทอท. ควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดรถไฟฟ้าสายนี้
นอกจากรถไฟฟ้ารางเบาบนถนนเทพรัตนแล้ว ทราบมาว่า ทอท.ได้มีการออกแบบเบื้องต้นอุโมงค์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่เวลานี้ให้บริการถึงเทอร์มินัล 1 ให้เชื่อมต่อจากเทอร์มินัล 1 ถึงเทอร์มินัล 2 ตามแผนแม่บท ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้เอาไว้แล้ว นั่นหมายความว่าอีกไม่นานก็จะมีแอร์พอร์ตลิงก์ให้บริการไปจนถึงเทอร์มินัล 2ตามแผนแม่บท โดยวิ่งอยู่ในระดับต่ำกว่ารถไฟฟ้าไร้คนขับ หรือ APM ทำให้การเดินทางเข้า-ออกเทอร์มินัล 2 ตามแผนแม่บท ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านใต้ มีความสะดวกสบาย และรวดเร็วยิ่งขี้น
ทั้งหมดนี้ด้วยความหวังดี อยากให้สนามบินสุวรรณภูมิได้รับการจัดอันดับให้เป็นสนามบินที่ดีอันดับต้นๆ ของโลกดังเช่นสนามบินชางงีของสิงคโปร์”
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี