เมื่อปี พ.ศ. 2540 มีกฎหมายออกใหม่มา 1 ฉบับ มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ลงนามสนองพระบรมราชโองการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 เป็นปีที่ 52 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
กฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้จะมีผลบังคับใช้มาแล้วถึง 27 ปี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ แต่การปฏิบัติการตามกฎหมาย ก็ยังหย่อนยาน และมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ที่ต้องการให้ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) แก้ไขความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่ประชาชนคนไทยต้องรับภาระ
ดังนั้น ในปัจจุบัน จึงยังมีสัญญาที่ไม่เป็นธรรมใช้อยู่อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นสัญญากู้นอกระบบ ระหว่างเอกชนต่อเอกชน หรือสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน
เมื่อรัฐบาลของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เข้ามาใช้อำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ ก็พยายามแก้ไขความไม่เป็นธรรม ระหว่างเอกชนกับเอกชนแล้ว ดังจะเห็นจากการแก้ไขสัญญากู้นอกระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยผู้กู้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้
แต่ที่รัฐบาลของนายกฯเศรษฐายังไม่ได้ทำ ก็ได้แก่สัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่หน่วยงานฝ่ายรัฐซึ่งจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยเฉพาะกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าที่ดินของรัฐต่อเอกชน จะมีข้อความที่ไม่เป็นธรรม ต่อผู้บริโภค (เอกชน) หรือผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หลายประการ ขัดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 4 อาทิ
- ให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
- ให้ฝ่ายรัฐ เรียกร้องข้อกำหนด ให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระเพิ่มขึ้น มากกว่าภาระที่ เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา
- ให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาได้ โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ
บทความนี้ จึงได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อจะให้รัฐบาลของนายกฯเศรษฐา ได้มีมาตรการ (take action) เพื่อแก้ไขปัญหาหน่วยงานของรัฐ เอาเปรียบเอกชนและผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ ที่ต้องถูกหน่วยราชการ บังคับอยู่ด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ก่อนที่หน่วยราชการจะถูกฟ้องไปยังศาลปกครอง ขอให้นายกฯเศรษฐา สั่งกระทรวงการคลัง หรือกรมธนารักษ์ หรือรัฐวิสาหกิจอื่นใด ให้ยกเลิกข้อความที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาเสียทันที หรือก่อนที่อธิบดีหรือผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจจะถูกฟ้องทางอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ประชาชนต้องเสียหาย
หวังว่าบทความนี้ คงจะทำให้ฝ่ายรัฐ (ผู้ใช้อำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ) จะตระหนักถึงความสำคัญของการวางดุลแห่งอำนาจ (Balance of power) ว่า มิใช่รัฐบาลจะมีสิทธิ์ทำอะไรตามอำเภอใจได้ทุกอย่าง ผู้ใช้อำนาจตุลาการ (ศาลปกครอง,ศาลอาญา) ก็ยังสามารถยกเลิกข้อกำหนดหรือลงโทษฝ่ายบริหารได้ เมื่อมีผู้เสียหายนำเรื่องมาฟ้องร้อง หากฝ่ายบริหารสั่งการเกินขอบเขตอำนาจ หรือละเว้นการแก้ไข สิ่งที่ขัดกับกฎหมาย และทำให้เอกชนและผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพต้องเสียหาย
ศิริภูมิ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี