เข้าสู่ “หน้าร้อน” กันแล้ว ซึ่งหากย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2567 ช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 โดยระบุว่า ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ เริ่มต้นในวันที่ 21 ก.พ. 2567 และจะสิ้นสุดช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2567 โดยลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ “อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ 43.0-44.5 องศาเซลเซียส” ส่วนมากช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม แต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 36.0-37.0 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1.0-1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา หรือช่วงฤดูร้อนปี 2566 ซึ่งอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 20
หน้าร้อนแบบนี้ หนึ่งในภัยคุกคามสุขภาพคงหนีไม่พ้น “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก (Heat Stroke)” โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งแทบตลอดทั้งวัน หนึ่งในนั้นคือเหล่า “ไรเดอร์” ขี่มอเตอร์ไซค์รับ-ส่งอาหารหรือสินค้าต่างๆ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “ไรเดอร์ VS ฮีทสโตรก” โดย สหภาพไรเดอร์ (Freedom Rider Union) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย
อัญชลี เพิ่มสมบุญ กลุ่มไรเดอร์ ซีคอนบางแค กล่าวว่า ไรเดอร์เป็นอาชีพที่ทำงานภายใต้ภาวะกดดัน ทั้งจากสภาพการจราจรที่ติดขัดและอากาศที่ร้อนอบอ้าว “ช่วงเวลา 11 โมงครึ่ง ไปจนถึงบ่ายโมงกว่าๆ คือช่วงเวลาที่ร้อนที่สุด แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ไรเดอร์ต้องเร่งทำงานมากที่สุด” เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่บริษัทห้างร้านต่างๆ พักรับประทานอาหารกลางวัน ทำให้มีลูกค้าใช้บริการสั่งอาหารเป็นจำนวนมาก ไรเดอร์จึงไม่สามารถพักในช่วงเวลานี้ได้เพราะถือเป็นช่วงที่มีงานเข้ามาให้ทำมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ ของวัน
“ถ้าช่วงบ่ายสองไปแล้วถึงประมาณสี่โมงเย็นก็จะไม่ค่อยยุ่ง แต่ว่าก็จะมีมาเป็นเรื่อยๆ แต่จะไม่ต่อเนื่องเหมือนช่วง 11 โมงกว่าๆ ถึงบ่ายโมง มีคนจะสั่งเยอะ แล้วก็จะมีอีกช่วงหนึ่งก็จะเป็นช่วงเลิกงาน ช่วงห้าโมงเย็นถึงสองทุ่ม แต่อันนั้นจะไม่ค่อยร้อน จะไม่เหมือนตอนช่วงเที่ยงๆ ที่จะร้อนมาก” อัญชลี ระบุ
อัญชลี เล่าต่อไปว่า งานของไรเดอร์ไม่ได้มีมาทำให้ทำตลอดทั้งวัน บางช่วงเวลาถือว่าค่อนข้างเงียบซึ่งไรเดอร์ก็จะหาจุดพักรถหลบแดด เช่น ใต้ร่มไม้ เพราะหลายพื้นที่ก็ไม่มีห้างหรือร้านค้าติดเครื่องปรับอากาศให้เข้าไปหลบ และจิบน้ำบ่อยๆ อนึ่ง “หลายคนไม่รู้ว่าตนเองมีโรคประจำตัว เมื่อมาเป็นไรเดอร์จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยง” เพราะเมื่อเจออากาศร้อนอาจมีอาการเป็นลมวูบได้ง่ายและไม่รู้ล่วงหน้าด้วยว่าจะเป็นตอนไหน
ปิยะพงษ์ บุญถึง กลุ่มไรเดอร์ เจ้าสัวเพชรเกษม 69 เล่าถึงการทำงานของไรเดอร์ที่ต้องเผชิญกับอากาศร้อนอบอ้าว ว่า ช่วงที่ไรเดอร์จะรู้สึกร้อนเป็นพิเศษคือช่วงที่ขี่รถจอดรอสัญญาณไฟแดง โดยเฉพาะหากไม่สามารถขึ้นไปจอดบริเวณแถวหน้าสุดของแยกได้ ก็จะต้องทนกับความร้อนที่ถูกปล่อยออกมาจากรถยนต์ บวกกับเครื่องแบบของไรเดอร์ที่เป็นเสื้อแจ๊กเกต ก็ยิ่งทำให้รู้สึกร้อนมากขึ้น และนี่เป็นเหตุผลที่ทำไมไรเดอร์หรือแม้แต่คนขี่มอเตอร์ไซค์โดยทั่วไปจะต้องพยายามหาทางไปจอดติดไฟแดงโดยอยู่ด้านหน้าเหนือรถยนต์ให้ได้
“ยูนิฟอร์มมันก็จะเป็นเสื้อแขนยาว แล้วในแบรนด์ที่ผมวิ่ง เสื้อแขนยาวข้างในมันเป็นผ้าร่ม มันก็จะไม่ค่อยระบายเท่าไร ไหนจะผ้าปิดหน้า หมวกกันน็อก ถุงมือ รองเท้าผ้าใบ คือแน่นทั้งตัวตั้งแต่หัวยันเท้า เขาก็เอาเราเป็นแบนเนอร์โฆษณาบนท้องถนนไปเลย เขาถึงได้บังคับให้เราใส่ นโยบายเขาเป็นอย่างนี้” ปิยะพงษ์ กล่าวถึงการสวมเครื่องแบบของเหล่าไรเดอร์ แม้จะร้อนก็ต้องทนเพราะเป็นกฎของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม
ปิยะพงษ์กล่าวต่อไปว่า การทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอบอ้าวบวกกับรูปแบบงานที่ต้องเร่งรีบยังส่งผลต่อสภาวะจิตใจของเหล่าไรเดอร์ นั่นคืออาการ “หัวร้อน” หงุดหงิดง่าย นำไปสู่ความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ก็ต้องพยายามควบคุมสติ โดยเฉพาะต้องไม่กระทบกระทั่งกับลูกค้า อย่างตนจะมีคติว่า “เราเจอกันแค่ 1–2 นาที จากนั้นแล้วก็ผ่านไป” จะไม่เอาเรื่องนั้นเก็บมาคิดต่อ ส่วนการดูแลตนเองระหว่างทำงาน คือการจิบน้ำบ่อยๆ รวมถึงระหว่างรองานก็จอดรถหลบในที่ร่มพร้อมกับถอดเครื่องแบบที่เป็นเสื้อแจ๊กเกตออก
ด้าน อรพันธ์ อันติมานนท์ รองผู้อำนวยการ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในภาษาไทย คำที่ถูกต้องที่ใช้เรียกฮีทสโตรก คือ “โรคลมร้อน” เป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นแต่ไม่มีเหงื่อออก หากไม่ได้ดื่มน้ำหรือเข้าไปพักในสถานที่เย็นหรือมีลมโกรก ก็จะทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมหมดสติ และหากอาการรุนแรงมากก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
“กลุ่มเสี่ยงฮีทสโตรก” แน่นอนว่าคืออาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ซึ่งไรเดอร์ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยสภาพการทำงานบวกกับเครื่องแบบที่สวมใส่ นอกจากนั้น ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือคนคนที่ร่างกายมีน้ำหนักมาก ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น “วิธีสังเกตสัญญาณเตือนอันตราย” หากพบว่าเริ่มมีอาการมึนหรือปวดศีรษะ หน้ามืด หายใจเร็ว หัวใจเต้นแรง ผิวหนังไม่มีเหงื่อออก ให้รีบเข้าไปพักในที่ร่มทันที
“การป้องกันไม่ให้เกิด ถ้าเป็นอาชีพอื่นหรือเป็นผู้สูงอายุ เราก็จะบอกว่าหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดโดยเฉพาะช่วงนี้ ช่วงมีนาคมหรือเมษายน แต่ทีนี้ด้วยอาชีพ ก็เข้าใจ
นะเราจะไปหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดื่มน้ำมากๆ คือดื่มน้ำให้มากขึ้น หน้าฝนหรือหน้าหนาวถ้าเราไม่กระหายไม่ดื่มไม่เป็นไร แต่ว่าช่วงหน้าร้อนนี่ดื่มน้ำให้มากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้รู้สึกคอแห้งอยากดื่มน้ำ ฉะนั้นเราต้องดื่มน้ำเลย เขาเรียกว่ายังไม่ต้องรอให้กระหาย ประมาณ 2-4 แก้วต่อชั่วโมงเลย อันนี้ฝากเลยเพราะเป็นสิ่งที่เราทำได้เอง ฉะนั้นขับมอเตอร์ไซค์ขอให้ติดขวดน้ำไว้” อรพันธ์ กล่าว
ประการต่อมา “เมื่อเข้าร้านค้าให้ซื้อน้ำเย็นดื่ม ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (เช่น กาแฟ) หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย ส่วน “วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น” เมื่อเจอผู้มีอาการฮีทสโตรกให้นำตัวเข้าไปพักในที่ร่มอากาศเย็น ในสภาพนอนราบ หากสวมเสื้อผ้าหนาๆ (เช่น แจ๊กเกต) ให้ถอดหรือคลายกระดุมออก จับขายกสูงเล็กน้อยประมาณ 30 องศาเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปที่สมองได้ดีขึ้น และหากสามารถหาผ้าขนหนูและน้ำเย็นได้ ก็ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดบริเวณใบหน้า รอบคอและท้ายทอย
แต่หากทำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น ชีพจรยังเต้นเร็ว ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี