ในช่วงก่อนปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ เล็กน้อย พระเจ้ามังระแห่งอาณาจักรหงสาวดี ได้สั่งให้ยกทัพใหญ่ทั้งจากทางเหนือซึ่งนำมาโดยเนเมียวสีหบดี โดยไปตีกบฏล้านช้างและรวบรวมไพร่พลเพิ่มเติม จนมีกำลังพลมากกว่า ๔๐,๐๐๐ คน ผ่านลงมาทางจังหวัดตาก กำแพงเพชร และอีกทัพหนึ่งมาจากทางใต้ โดยเข้ามาตีเมืองทวายก่อน นำทัพมาโดยมังมหานรธา มีกำลังพล ๓๐,๐๐๐ คน เพื่อจะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เพื่อให้ตกเป็นเมืองขึ้นให้จงได้
ในช่วงเวลาดังกล่าว กษัตริย์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาคือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓๓ ของอาณาจักรอยุธยา ถึงแม้จะได้พยายามต่อสู้ แต่จากการที่กรุงศรีอยุธยาไม่ได้ผ่านการศึกสงครามมาเป็นเวลานาน ความเข้มแข็งของกองทัพจึงลดน้อยลงมาก และในที่สุดกองทัพของอาณาจักรหงสาวดี ก็ตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ และเผาทำลายกรุงศรีอยุธยาจนเกือบจะสิ้นซาก
สามเดือนก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตก พระยาวชิรปราการหรือพระเจ้าตากในขณะนั้น ได้รับคำสั่งให้ตั้งทัพรับกองทัพพม่าอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ได้พิจารณาเห็นแล้วว่าในที่สุดกองทัพไทยจะพ่ายแพ้อย่างแน่นอน จึงได้ตัดสินใจยกพล ประมาณ 500 คน ซึ่งมีทั้งทหารไทยตีฝ่าทัพพม่า โดยตั้งเป้าหมายว่าจะหนีออกไปเพื่อรวบรวมไพร่พลให้ได้พอสมควร แล้วจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาคืน
ทัพของพระเจ้าตากได้หนีออกไปทางด่านเมืองนครนายก แล้ววกลงมาทางฉะเชิงเทรา เมื่อมาถึงบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ได้พบกับกองทัพพม่าและเกิดการสู้รบขนานใหญ่ซึ่งถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจน โดยพระเจ้าตากสามารถเอาชนะทัพพม่าได้ หลังจากนั้นจึงได้เคลื่อนพลรวมทั้งรวบรวมไพร่พลจากหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกตั้งแต่ชลบุรีจนไปถึงระยอง และได้พักทัพอยู่ที่ระยองเป็นระยะเวลาหนึ่ง
ในที่สุดพระเจ้าตากได้ตัดสินใจที่จะเข้าตีเมืองจันทบูรหรือจันทบุรีในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่ ซึ่งหากเอาชนะได้ก็เชื่อว่าจะสามารถรวบรวมไพร่พลและสรรพาวุธต่างๆ เป็นจำนวนมากได้ เพื่อจะยกทัพกลับมาตีเอากรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า
หลังจากอาหารมื้อเย็น พระเจ้าตากได้สั่งให้ทหารทุบหม้อข้าวหม้อแกงทิ้งทั้งหมด และบอกว่า ซึ่งเสมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า เราจะต้องเข้าตีเมืองจันท์ และต้องเอาชนะให้ได้ หากไม่สามารถเอาชนะ อาหารเย็นมื้อนี้ก็คืออาหารมื้อสุดท้ายของพวกเรา
พระเจ้าตากได้ยกทัพเข้าตีเมืองจันท์และเอาชนะได้เมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งตรงกับเดือน ๗ แรม ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศก เวลา ๓ ยามเศษ ตรงกับวันที่ ๑๕ มิถุนายน ปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว ๒ เดือน โดยพระเจ้าตากได้ขี่ช้างพังคีรีบัญชร นำทัพเข้าพังประตูเมืองจันทบูร เข้าต่อสู้กับทัพของเจ้าเมืองจันทบูรอย่างเข้มแข็ง เอาชนะได้ในที่สุด โดยเจ้าเมืองจันทบูรและครอบครัวได้ลงเรือหนีออกไปยังเมืองบันทายมาศ
พระเจ้าตากได้ตั้งทัพอยู่ที่เมืองจันทบูร และได้ออกรวบรวมไพร่พล อาวุธยุทโธปกรณ์ ได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราดซึ่งมีเรือสำเภาจีนที่มาค้าขายมาจอดทอดทุ่นอยู่หลายลำ ได้เจรจากับพ่อค้าจีนเพื่อขอเรือเหล่านั้น เมื่อไม่สำเร็จจึงได้เข้าต่อสู้กันและในที่สุดก็สามารถเอาชนะ และยึดเรือสำเภาจีนไว้ได้ทั้งหมด ตลอดจนได้สร้างอู่ต่อเรือที่บริเวณบ้านเสด็จ จนได้เรือที่จะใช้นำกำลังพลจากเมืองจันทบูร ซึ่งขณะนั้นรวบรวมไว้ได้ประมาณ ๕,๐๐๐ คน ได้ฝึกการรบเป็นอย่างดี เพื่อจะกลับมาต่อสู้กับกองทัพพม่าที่ยังยึดกรุงศรีอยุธยาอยู่
จนกระทั่งถึงเดือนตุลาคมปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ ซึ่งสิ้นฤดูมรสุมแล้ว เหมาะกับการที่จะยกทัพเรือ พระเจ้าตากจึงยกทัพกลับเข้ามา โดยผ่านเข้าทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าตีเมืองธนบุรีที่ข้าศึกยังยึดเอาไว้ หลังจากได้ชัยชนะก็เคลื่อนทัพต่อขึ้นไปที่กรุงศรีอยุธยา
กองทัพเรือของพระเจ้าตาก ได้ยกขึ้นไปจนถึงค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งพม่าได้ให้แม่ทัพชื่อสุกี้ตั้งค่ายรักษากรุงศรีอยุธยาไว้ จึงได้เข้าต่อสู้กับทัพพม่า และเอาชนะได้โดยไม่ยาก โดยแม่ทัพพม่าเสียชีวิตในที่รบ ทำให้พระองค์สามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาและอิสรภาพของชาติไทยกลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุน นพศกเวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๑๐ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. โดยใช้เวลาเพียง ๗ เดือน ในการกู้ชาติหรือกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาเป็นของไทย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นนักรบที่มีความกล้าหาญและเชี่ยวชาญการรบ ทางบกทั้งบนหลังม้า และยังเป็นนักรบที่มีความกล้าหาญและเชี่ยวชาญในการรบทางเรือเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินอยู่นั้น ได้กระทำการรบทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๓๐ ครั้ง โดยเป็นการรบทางเรือถึง ๑๑ ครั้ง
ในปีพุทธศักราช ๒๓๑๔ พระองค์ได้ยกกองทัพเรือ ซึ่งมีเรือรบจำนวนถึง ๒๐๐ ลำ และเรือเดินทะเลอีก ๑๐๐ ลำ มีกำลังพลมากกว่า ๑๕,๐๐๐ คน เพื่อไปตีเมืองกำปงโสม เมืองฮาเตียนหรือเมืองบันทายมาศ และได้รับชัยชนะกลับมา
กองทัพเรือไทยได้ให้การยกย่องและสดุดีพระองค์เป็นอย่างมากเสมอมา ดังจะเห็นได้ว่า ในฐานทัพเรือหรือจุดที่ตั้งของกองทัพเรือต่างๆ จะมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ในประเทศไทยของเรานั้น มีอนุสาวรีย์ที่เป็นรูปหล่อของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประดิษฐานอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มากกว่าอนุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดๆ
เหตุการณ์ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์เป็นเครื่องยืนยันว่า กองทัพเรือหรือราชนาวีไทยนั้นมีความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะปกปักรักษาชาติรักษาแผ่นดินมาโดยตลอด อาทิ เหตุการณ์ร.ศ. ๑๑๒ซึ่งกองทัพเรือไทยต้องต่อสู้กับชาติมหาอำนาจฝรั่งเศสที่พยายามรุกรานประเทศไทย โดยหวังจะเอาประเทศไทยเป็นเมืองขึ้นให้ได้ เหมือนกับที่ได้ยึดเอาประเทศในแถบอินโดจีนไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา หรือลาวเป็นเมืองขึ้นได้ทั้งหมด
ทหารเรือไทยไม่เคยยอมแพ้ใครง่ายๆ ถึงแม้ว่า จะมีกำลังรบที่มีแสนยานุภาพน้อยกว่า แต่ก็ยังสามารถจมเรือรบของฝรั่งเศสในการสู้รบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงแม้ในที่สุดต้องยินยอมชดใช้ความเสียหายให้แก่ฝรั่งเศส ที่อ้างเอาสาเหตุของทหารฝรั่งเศสที่เสียชีวิต มาเรียกร้องให้ชาติไทยเราต้องชดใช้เงินเป็นจำนวนมาก เพื่อแลกกับอิสรภาพของชาติ ซึ่งในที่สุดในหลวงรัชกาลที่ ๕จำเป็นต้องยินยอมนำเงินส่วนพระองค์ที่เรียกว่าเงินพระคลังข้างที่ ที่พระบาทสมเด็จนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทำมาค้าขาย และเก็บใส่ไว้ในถุงสีแดงและเรียกเงินส่วนนี้ว่าเงินถุงแดงเป็นจำนวนมหาศาลออกมาเพื่อชดใช้ แลกเปลี่ยนกับการที่ไทยจะต้องเสียอิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งชาวไทยทั้งหลายรวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่คิดว่ามีความคิดก้าวไกลควรจะต้องตระหนักถึงบุญคุณอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ไทยไว้ด้วย อย่าได้หลงใหลไปกับการเอาตัวบทกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส ที่คนบางคนได้มีโอกาสไปศึกษามา มาเป็นรูปแบบในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเป็นอันขาด
การเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพเรือจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น และรัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องตระหนักในเรื่องนี้ หากเขี้ยวเล็บทางทะเลของชาติไม่เข้มแข็ง ไม่แสดงให้ประเทศรอบบ้านเห็นถึงแสนยานุภาพนี้ การถูกรุกรานก็เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การขอซื้อเพิ่มเติมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยของกองทัพเรือ อาทิ เรือดำน้ำซึ่งปัจจุบันก็น่าจะคลี่คลายไปได้จากการที่นายทหารเรือระดับสูง ที่เป็นผู้แทนของกองทัพเรือไทย เดินทางไปที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทำข้อตกลง ในการเปลี่ยนเครื่องยนต์ของเรือดำน้ำจากเครื่องยนต์ของเยอรมัน ไปใช้เครื่องยนต์อื่นซึ่งอาจจะเป็นเครื่องยนต์ของจีนก็ได้ เพื่อให้การต่อเรือดำน้ำที่มีสัญญาและงบประมาณอยู่แล้วได้ดำเนินการต่อไป
ควรจะต้องยอมรับความจริงว่า กองเรือดำน้ำของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เป็นกองเรือดำน้ำที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร และเรือดำน้ำทั้งหลายนั้นก็ผลิตขึ้นเองในประเทศจีนทั้งสิ้น และมีศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่ากองเรือดำน้ำของชาติอื่นเป็นแน่
คณะรัฐมนตรีต้องตระหนักในเรื่องนี้ อย่านำการเมืองที่ต้องการสร้างสัมพันธ์ กับพรรคฝ่ายค้านบางพรรค ที่ขณะนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มาเป็นเครื่องตัดสินในการที่จะยกเลิกการสั่งต่อเรือดำน้ำ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ด้วย
รัฐบาลใดก็ตามที่เข้ามาบริหารประเทศอย่าได้คิดว่าจะสามารถบริหารประเทศ ที่ขณะนี้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้บ้านเมืองเกิดความเจริญก้าวหน้า โดยไม่พึ่งพากองทัพของชาติไม่ว่าจะเป็นกองทัพใดๆ ได้เป็นอันขาด
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี