รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศตอนหาเสียงเลือกตั้งว่า จะนำเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเห็นว่า วิกฤตรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ แต่รัฐบาลเงื้อง่าราคาแพงข้ามปี รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่งแถลงผลการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมว่า ที่ประชุมมีมติจะเสนอนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการและอนุกรรมการ ทั้ง 2 ชุด ภายในเดือนมกราคม โดยจะจัดทำเป็นเอกสารเสนอให้ตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งคำถามประชามติครั้งแรก
ถึงวันนี้ ครม.ยังไม่ได้รับทราบผลการศึกษาและไม่รู้ว่า ครม. เห็นชอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญถึงสามครั้งหรือไม่ โดยจะทำประชามติสามครั้งนั้น หมายความร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยสามปี เป็นอย่างนี้แล้วจะเรียกว่า วาระเร่งด่วนแห่งชาติได้อย่างไร ในฐานะคนทำข่าว พอเข้าใจได้ว่ารัฐบาลพยายามถ่วงเวลาเพราะรู้อยู่เต็มอกว่า ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญปัจจุบันซึ่งได้ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญปราบโกง”
รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนขึ้นจากเค้าโครงของรัฐธรรมนูญปี 2550 ต่างกันตรง ที่ได้เพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทำให้นักการเมืองติดคุกติดตะรางแล้วหลายราย ตั้งแต่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และ ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเนื่องจากทำผิดคดีอาญาต้องโทษจำคุกก่อนหน้าเล่นการเมืองแล้วหลายคน
อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองที่มีประวัติโกงทั้งโคตรกับพรรคการเมืองที่มีนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันสูงสุดของชาติอาจอ้างว่า รัฐธรรมนูญ 60 ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่งตั้ง 250 คนมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองที่มีประวัติคอร์รัปชั่นจะใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้เพราะเหตุว่า บทเฉพาะกาลห้าปีที่พ่วงมาในรัฐธรรมนูญ 60 จะสิ้นวาระบังคับใช้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าและหลังจาก 6 เมษายน 2567 รัฐธรรมนูญปี’60 จะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น
ผู้เขียนเคยถกกับผู้อาวุโสทางการเมืองระหว่างทำประชามติรับไม่รับ รัฐธรรมนูญ’60 เราถกกันในประเด็นที่ว่า รัฐธรรมนูญไทย กับ รัฐธรรมนูญพม่าว่าอันไหนไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน ท่านผู้อาวุโสกล่าวว่าท่านไม่รับรัฐธรรมนูญปี’60 ที่ร้ายแรงกว่าของพม่าที่ให้อำนาจ สว.แต่งตั้งเลือกนายกฯและให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ตอนนั้นผู้เขียนแย้งว่า รัฐธรรมนูญ’60 มีข้อบกพร่องที่พ่วงบทเฉพาะกาลห้าปี และหลังจากนั้นประเทศไทยก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนรัฐธรรมนูญสหภาพพม่าไม่มีบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญพม่ายังให้สิทธิพิเศษกองทัพได้เป็นสมาชิกรัฐสภา 25% โดยไม่ต้องสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญพม่าให้เอกสิทธิ์กองทัพได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม รมต.มหาดไทย และ รัฐมนตรีกิจการชายแดนโดยไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จึงสรุปว่ารัฐธรรมนูญปี’60 ของไทยเป็นประชาธิปไตยมากกว่า รัฐธรรมนูญเมียนมา ถึงแม้ว่าเรายังไม่เป็นเสรีประชาธิปไตยแบบตะวันตกก็ตาม ทุกฝ่ายต้องทำความเข้าใจว่า บริบทสังคมและการเมืองของพม่ากับไทยไม่เหมือนประเทศตะวันตก
นักการเมืองในนานาอารยประเทศส่วนใหญ่มีความมั่นคงในการเข้าทำงานการเมือง เนื่องจากเขามีรัฐธรรมนูญถาวรที่ใช้ต่อเนื่องกันมานานเป็นศตวรรษหรือหลายทศวรรษ นักการเมืองส่วนใหญ่จึงตกผลึกในรัฐธรรมนูญและอุดมการณ์พรรคการเมือง นักการเมืองในประเทศประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินเดีย อังกฤษ สเปน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ ส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยย้ายพรรคกัน นักการเมืองในนานาอารยะประเทศมักถือว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบัน นักการเมืองร่วมงานกับพรรคไหนแล้วไม่ย้ายพรรคกันง่ายๆ
ส่วนประเทศไทยนักการเมืองไม่ตกผลึกในรัฐธรรมนูญและอุดมการณ์ของพรรคการเมือง นักการเมืองในประเทศไทยจึงติดอยู่กับคติที่ว่า #เข้ามาเล่นการเมือง นักการเมืองบ้านเราจึงไม่ชอบอะไรที่บังคับใช้ถาวร ประเทศไทยจึงใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 2475 ถึงวันนี้ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วยี่สิบฉบับ และมีพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาแล้วดับไปไม่น้อยกว่า 300 พรรค นักการเมืองไทยย้ายพรรคกันเป็นว่าเล่น บางคนย้ายถึงสามพรรคภายในปีเดียว นักการเมืองไทยเดี๋ยวเป็นฝ่ายค้านเดี๋ยวเป็นฝ่ายรัฐบาล เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลตัวเองหรือเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลขณะเป็นฝ่ายค้านก็มี
ดังนั้นประเทศไทยจำต้องมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่แฝงด้วยอำนาจนิยม เช่น บทเฉพาะกาล 5 ปีมาพ่วงเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองโคตรโกงปล้นชาติได้ต่อเนื่อง บทเฉพาะกาลที่กำหนดไว้ห้าปีอย่างน้อยก็ป้องปรามการโกงทั้งโคตรได้ระยะหนึ่งจึงเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี’60 มีความชอบธรรมที่จะใช้คู่กับประชาธิปไตยแบบไทยๆ เพราะถึงเป็นรัฐธรรมนูญที่แฝงด้วยอำนาจนิยมแต่ก็ผ่านการลงประชามติของผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 16 ล้านคน
อย่างไรก็ตามถึงแม้ รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่แฝงด้วยอำนาจนิยม นักการเมืองโคตรโกง ก็ใช้เล่ห์กลโกงได้ในทุกมิติ นักการเมืองโคตรโกงในประเทศไทยโกงได้ แม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรม นักการเมืองสามารถใช้กฎกระทรวงที่แก้ไขเพิ่มด้วยตัวเองเลี่ยงได้ แม้กระทั่งคำสั่งศาลให้จำคุกในความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นที่ศาลตัดสินจำคุก แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายอ้างกฎกระทรวงที่ให้นักโทษไม่ต้องเข้าคุกแล้วไปเสวยสุขอยู่ในห้องรอแยลสวีทของโรงพยาบาล หรือ บ้านก็ได้
ดังนั้นเขียนรัฐธรรมนูญอีกร้อยฉบับก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเลวร้ายของนักการเมืองได้ ดังที่นายภูมิธรรมกล่าวว่า ต้องทำประชามติถึงสามครั้งก่อน รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ คือ ไปการทำประชามติครั้งแรก เป็นคำถามง่ายๆว่า“ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขหมวด 1บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งคาดว่าจะเริ่มถามได้ภายในเดือนมกราคมนี้ และจะทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง
ส่วนครั้งที่ 2 เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 256 ซึ่งจะมีการสอบถามที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และองค์คณะ สำหรับครั้งที่ 3 จะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการจัดทำประชามติเฉลี่ยปีละ 1 ครั้งก็น่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในรัฐบาลชุดนี้
จากประสบการณ์ทำข่าวการเมืองมานานเกือบห้าสิบปีขอทำนายว่า การทำประชามติล้มเหลวตั้งแต่ครั้งแรก ด้วยเหตุผลที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ไว้ใจผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประกอบกับมีคนจำนวนมากเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญ’60 ยังเหมาะกับสภาวะการเมืองไทย ประชาชนส่วนใหญ่พอใจที่ไม่แก้ไขบททั่วไปหมวด 1 หมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม การไม่แก้ไขหมวด 2 อาจสร้างความไม่พอให้กับพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีนโยบายเปลี่ยนแปลงทุกสถาบันในประเทศไทยรวมทั้งปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองที่ว่านี้อาจลงประชามติไม่เห็นชอบก็เป็นไปได้ จึงได้ทำนายว่าการทำประชามติตกม้าตายในครั้งแรก
ส่วนการทำประมติครั้งที่ 2 ไม่ต้องพูดถึงเพราะตกม้าตายตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว แต่เพื่อความเข้าใจว่ารัฐบาลคิดอะไร ในการทำประชามติครั้งที่ 2 เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 ซึ่งจะมีการสอบถามที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)และองค์คณะ และประชามติ ครั้งที่ 3 จะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการจัดทำประชามติเฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง ก็น่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในรัฐบาลชุดนี้
หากเกิดบาปเหมาะเคราะห์ร้ายขึ้นกับประเทศไทย บังเอิญรัฐบาลผลักดันให้ทำประชามติได้ถึงสามครั้งสามครา งบประมาณที่มาจากภาษีชาวบ้านก็อาจถูกผลาญไปถึงหนึ่งหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยล้านบาท สว.สมชาย แสวงการ เปิดเผยตัวเลขประมาณการว่า การทำประชามติใช้งบประมาณครั้งละ 3,500 ล้านบาทใช้จ่ายกับ ส.ส.ร. และองค์คณะ 5,000 ล้านบาทเมื่อรวมกันแล้วการร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เงินถึง 15,700 ล้านบาท ถือเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุเพราะรัฐธรรมนูญไทยมีอายุการใช้โดยเฉลี่ยไม่ถึงสิบปี
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี