การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอย่างเช่น ปีใหม่ หรือสงกรานต์ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อๆ กันมา
ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ประกาศยกเว้นค่าผ่านทางของทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษฉลองรัช ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567
ล่าสุด ครม.มีมติรับทราบตามข้อเสนอรายงานของกระทรวงคมนาคม
1. ย้อนหลังไป ตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2553 จนถึงปี 2566 กระทรวงคมนาคมมีแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษบูรพาวิถี
โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 กำหนดให้ไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 17 เมษายน 2566 เวลา 24.00 น. ในส่วนของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี -สุขสวัสดิ์)
โดยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางสายดังกล่าว เช่นเดียวกับทางพิเศษบูรพาวิถี
ระบุว่า เป็นสายทางที่ต่อเนื่องกันเพื่อระบายการจราจรแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวก และรวดเร็วในการเดินทางของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
2. มาปีนี้ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีข้อสั่งการในการประชุมเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงคมนาคม
มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไปพิจารณาการยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษฉลองรัช โดยขอให้เร่งพิจารณา หากเป็นไปได้ขอให้ดำเนินการให้ทันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยประสานกับเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง เกี่ยวกับกำหนดการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษของกรมทางหลวงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ได้รับแจ้งว่า กรมทางหลวงจะกำหนดให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2567 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567 เวลา 24.00 น.
คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษฉลองรัช ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2567 เวลา 00.01 น. ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567 เวลา 24.00 น.
3. ไม่มีของฟรี
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจัดทำข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบต่อรายได้ที่ไม่ได้เรียกเก็บ และประโยชน์ที่จะได้รับโดยรวมจากการไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษฉลองรัช ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567
พบว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะไม่ได้รับรายได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2567ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567 รวม 7 วัน ซึ่งจะมีปริมาณจราจรมาใช้ทางพิเศษประมาณ 3,413,998 คัน
คิดเป็นรายได้ประมาณ 139,893,271 บาท (139 ล้านบาท)
รายละเอียดข้อมูล ปรากฏดังนี้
ทางพิเศษบูรพาวิถี ระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567
พบข้อมูล ดังตารางนี้
ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี- สุขสวัสดิ์) ระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567
พบข้อมูล ดังตารางนี้
ทางพิเศษฉลองรัช ระหว่างวันที่ 11 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2567
พบข้อมูล ดังตารางนี้
4. ชั่งน้ำหนัก ผลได้กับผลเสีย
กระทรวงคมนาคม รายงานว่า การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ทางพิเศษฉลองรัช ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า
ประโยชน์ ผลประโยชน์ที่ประเทศชาติ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะได้รับ นอกเหนือจากผลประโยชน์ที่ประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ (VOC Saving, VOT Saving) ยังมีผลประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้
ได้แก่ ความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยต่อผู้ใช้ทางพิเศษ และลดมลพิษทางอากาศบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษช่วงเทศกาลที่มีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก และเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่มีต่อประชาชนเพื่อให้เกิดเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงาน และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาใช้ทางพิเศษทั้ง 3 สายทาง มากยิ่งขึ้น
ส่วนผลกระทบ คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ไม่ใด้รับรายได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วัน เป็นรายได้ประมาณ 139,893,271 บาท
แต่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่าเงิน ประมาณ 165,539,297 บาท
โดยกระทรวงคมนาคมรายงานว่า ประกอบด้วยมูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ (Vehicle Operating Cost Saving : VOC Saving) 60,943,757 บาท และมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง (Value of Time Saving : VOT Saving) 104,595,540 บาท
รวมเป็นเงินประมาณ 165,539,297 บาท (165 ล้านบาท)
นั่นจึงสรุปว่าคุ้มค่าที่จะงดเก็บค่าผ่านทาง
5. ของฟรี ใครก็ชอบ นักการเมืองก็ได้หน้า แต่คุ้มค่าจริงมั้ย?
น่าสังเกตว่า ผลกระทบ คือ รายได้ที่หายไป 139 ล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่ประเมินจากจำนวนรถ เป็นข้อมูลที่จับต้องคาดการณ์ได้ชัดเจน
เมื่อเทียบกับผลประโยชน์จากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ (Vehicle Operating Cost Saving : VOC Saving) 60ล้านบาท และมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง (Value of Time Saving : VOT Saving) 104 ล้านบาท จะประเมินมูลค่าแท้จริงชัดเจนแน่นอนได้น้อยกว่า
ยกเว้นเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ ใครๆ ก็ชอบ แต่โลกนี้ไม่มีของฟรี
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี