ในการเปิดอภิปรายตามมาตรา 152 ผู้อภิปรายที่โดดเด่นที่สุด ได้เนื้อหาสาระมากที่สุด เป็นตัวอย่างของนักตรวจสอบคุณภาพดีที่สุดในครั้งนี้คือ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายถึงพิรุธในอาการป่วย การรักษาของแพทย์ และการจัดการของกรมราชทัณฑ์ จนเป็นผลให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องอยู่ในเรือนจำเลย จนถึงวันพักโทษ
ประเด็นสำคัญจากการตรวจสอบ การอภิปราย และการตั้งข้อสังเกตของหมอวาโย มีดังนี้
1.การรักษาตัวนอกเรือนจำ และนอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ในเรื่องของการรักษานอกเรือนจำ มีกฎหมายเกี่ยวข้องแค่ฉบับเดียว คือ กฎกระทรวง เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ ปี 2563 โดยส่วนที่เกี่ยวข้องคือ ข้อ 2 ที่ระบุว่า เมื่อมีนักโทษหรือผู้ต้องขังคนไหนป่วย ให้ผู้คุมแจ้งกับ ผบ.เรือนจำ ซึ่งมีหน้าที่ต้องส่งคนไข้ไปรักษาที่โรงพยาบาลข้างในเรือนจำเมื่อรักษาแล้ว อาการดีขึ้น ก็ต้องส่งกลับไปคุมขังต่อหากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพพอที่จะรักษาได้ ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง เครื่องมือเฉพาะด้านไม่ถึง ก็จะส่งตัวคนไข้ไปรักษาข้างนอก โดยแพทย์จะให้ความเห็นไปยัง ผบ.เรือนจำ เมื่อ ผบ.เรือนจำ อนุมัติแล้ว ก็ให้นำตัวคนไข้ไปยังโรงพยาบาลนอกเรือนจำ
โดยหลักของกฎหมายแล้ว คือ ให้ไปแบบเช้าไปเย็นกลับ (OPD case) เว้นแต่กรณีที่แพทย์ให้ความเห็นว่าคนไข้เจ็บหนักจนต้องแอดมิท ผู้คุมที่นำตัวนักโทษไป ต้องทำรายงานประกอบความเห็นส่งไปที่ ผบ.เรือนจำ หาก ผบ.อนุญาต ก็ให้แอดมิทได้
กรณีนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ อายุ 74 ปี มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอาการแน่นหน้าอกมาประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อไล่เลียงลำดับเหตุการณ์จะพบว่า 13 ชั่วโมงก่อนหน้ามีอาการดังกล่าวเขาเพิ่งลงจากเครื่องบินและถูกควบคุมตัวไปศาล ศาลตัดสินจำคุก 8 ปี, 12 ชั่วโมงก่อน-รับตัวเข้าเรือนจำ,3 ชั่วโมงก่อน-นอนไม่หลับ, 1 ชั่วโมงก่อน-แน่นหน้าอก
ประวัติในอดีตเคยติดโควิด 3 ครั้ง แพทย์แจ้งว่าการทำงานของปอดไม่ปกติ ตรวจร่างกายและสัญญาณชีพพบความดันโลหิตสูง ความเข้มข้นของออกซิเจนในที่ปลายนิ้วต่ำ แต่ไม่ทราบค่าที่แน่ชัด, การวินิจฉัยที่แน่ชัดไม่แน่ใจ แต่น่าจะเสี่ยงอันตรายกับชีวิต การจัดการรักษาให้ส่งไปที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งหากวินิจฉัยแยกโรคออกมาจากอาการดังกล่าว จะพบว่ามีความเป็นไปได้ ทั้งภาวะฉุกเฉินทางหลอดเลือดหัวใจ, ลิ่มเลือดอุดตันในปอด, ผนังหลอดเลือดแดงฉีกขาด, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, กระดูกเอ็นซี่โครงอักเสบ หรือ อาการแพนิก ซึ่งล้วนแต่ทำให้สามารถเจ็บแน่นหน้าอกได้ทั้งนั้น
แต่การวินิจฉัยจริงๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องใช้การตรวจสืบค้นเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเอกซเรย์ช่องอก ซีที ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอคโค่ ทร็อปที ดีไดเมอร์ หรือ เบสิกแล็บทั่วไป คำถามสำคัญ คือ โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพแค่ไหน และสามารถรักษาอาการแน่นหน้าอกได้หรือไม่
เมื่อพิจารณาแล้ว โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลขนาด 500 เตียง พื้นที่ใช้สอย 22,000 ตารางเมตรศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีทั้งแผนกจิตเวช แผนกกายภาพบำบัด หอผู้ป่วยอายุรกรรม แผนกวัณโรค แผนกเอชไอวี มีเครื่องฟอกไตด้วยการฟอกเลือด มีห้องผ่าตัดใหญ่หลายห้อง ห้องศัลยกรรมทั่วไป ห้องศัลยกรรมกระดูก ผ่าตา-หู-คอ-จมูก ห้องผ่าตัดเฉพาะทางด้านระบบศัลยกรรมปัสสาวะ มีศัลยกรรมนรีเวชด้วย เรียกว่ามีครบ ทั้ง major-minor-special clinic เพราะฉะนั้นเรียกได้ว่า ศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลระดับใหญ่ ทำไมกรณีนี้ ไม่รักษาตัวในโรงพยาบาลราชทัณฑ์?
ถ้าอยู่บนสมมุติฐานว่า นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณป่วยจริง และแพทย์ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างถูกต้องจริง ผลที่ออกมาในขั้นนี้ ก็เท่ากับกำลังบอกว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพ ไม่มีเครื่องมือไม่สามารถรักษาได้ เมื่อทราบอาการผู้ป่วย ทราบแค่ความดันและออกซิเจนปลายนิ้ว ก็เร่งรีบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลข้างนอกได้ทันทีภายในเวลา 20 นาที เจ็บหน้าอกขึ้นมา 23.59 ถึงโรงพยาบาลตำรวจประมาณ 00.20
2.การผ่าตัดปริศนา
ตั้งแต่อดีตนายกฯ เข้าเรือนจำในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และรับการส่งตัวมาโรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 มีเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง คือ การผ่าตัดที่เกิดขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม 2566 หรือครบรอบ 62 วันของการเข้ารักษาพยาบาล ซึ่งชวนให้เกิดคำถามบางประการขึ้นมา
หมอวาโยสงสัยว่า น่าจะเป็นการผ่าตัดครั้งที่สอง ไม่น่าจะเป็นการผ่าตัดครั้งแรก เพราะถ้าป่วยหนักจริงจากอาการหลอดเลือดหัวใจในระหว่างวันที่ 23 สิงหาคมถึง 20 กันยายน ควรจะต้องมีการผ่าตัดก่อนไปแล้วครั้งหนึ่ง นอกจากมีการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทัน
ซึ่งการผ่าตัดที่หมอวาโยคาดว่าเป็นครั้งที่สองนี้ ตามแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ และการเปิดเผยจากผู้ใกล้ชิด บอกว่า เป็นการผ่าตัดจากเหตุ “เส้นเอ็นเปื่อยยุ่ยและกระดูกคอเสื่อม” ซึ่งทั้งสองโรคนี้มีอาการ คือยกแขนไม่ขึ้น ทั้งคู่ การผ่าตัดต้องใช้อาร์ซีอาร์ ก็คือผ่าตัดส่องกล้องไปแก้ ส่วนกรณีกระดูกคอก็ต้องเสื่อมขนาดที่ทับเส้นประสาทด้วย ก็ต้องผ่าตัดที่บริเวณคอ
ประเด็นก็คือ เวลาจะผ่าตัดคนไข้ ต้องมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด 2 แบบ คือ ข้อบ่งชี้สมบูรณ์ (absolute indication) คือต้องผ่าตัดด้วยวิธีการหนึ่งๆ ไม่มีทางเลือกและกรณีทางเลือก (elective case) ที่คนไข้สามารถเลือกวิธีผ่าตัดได้ คำถามก็คือ คนไข้ที่เป็น “ผู้ต้องขัง” มีสิทธิได้รับการผ่าตัดด้วยกรณีทางเลือกหรือไม่ สามารถทำที่โรงพยาบาลข้างนอกได้ไหม และใช้หลักเกณฑ์อะไร?
หมอวาโยยังชี้ต่อไปว่า เมื่ออยู่โรงพยาบาลตำรวจถึงวันที่ 62 มีการผ่าตัดไหล่หรือคอ ซึ่งหากเป็นกรณีผ่าไหล่มักนอนโรงพยาบาลไปไม่เกิน 3 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ถ้าผ่าคอนอนโรงพยาบาลไม่เกิน 5-7 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือถ้าเป็นผู้สูงอายุจริงๆ ก็นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ หรือมากสุด 3 สัปดาห์ หรือถ้ามีภาวะแทรกซ้อนก็รอฟื้นตัวดีๆ แต่กรณีนี้พบว่านอนต่อถึง 4 เดือน หรือ 180 วัน ทำให้ต้องมาพิจารณาว่า ภาวะแทรกซ้อนนั้นคืออะไร?
แน่นอนว่าการผ่าตัดทุกครั้งอาจทำให้ติดเชื้อได้ แต่ในกรณีนี้หากมีภาวะแทรกซ้อนจะต้องเป็นการติดเชื้อเชิงลึกผ่าพลาดไปโดนเส้นประสาท พลาดไปโดนกล้ามเนื้อ หรือเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมอง หรือพลาดไปโดนเส้นประสาท เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งภาวะเหล่านี้ต้องนอนเป็นปี ไม่ใช่แค่ 4 เดือน
ที่น่าสงสัย คือกรณีการผ่าตัดทั้งคอและไหล่ ซึ่งก็คือ “การผ่าตัดศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์” นั้น โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีแพทย์ออร์โธปิดิกส์และมีห้องผ่าตัดออร์โธปิดิกส์อยู่ด้วย ดังนั้น ทำไมถึงต้องมาเป็น “กรณีทางเลือก”ที่โรงพยาบาลตำรวจ นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม 2566 จนถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2566 ที่มีการผ่าตัด มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งคือ การออกประกาศของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 สรุปใจความก็คือแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แต่สิ่งที่ปรากฏในข่าวในวันรุ่งขึ้นเลย คือบทสัมภาษณ์ของรองนายแพทย์ใหญ่ที่ระบุว่าในความเห็นของแพทย์ที่ส่งไป ไม่ได้ลงความเห็นให้อยู่รักษาต่อ เพราะอยู่ในการประเมินของกรมราชทัณฑ์ ว่า จะอยู่ต่อหรือไม่อย่างไร สรุปแล้วข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างไรกันแน่?
3. เปรียบเทียบผู้ป่วย 2 คน ในเวลาเดียวกัน
หมอวาโยยังยกกรณีเปรียบเทียบที่เกิดในช่วงเวลาเดียวกัน คือ กรณีของ นายเอกชัย หงส์กังวาน ที่มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง มีตับอักเสบอยู่เดิม แล้วมาเกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ทำซีทีสแกนในโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้วเจอฝีสองเม็ด โรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ได้ จึงส่งไปที่โรงพยาบาลราชวิถี รับการผ่าตัดแล้ว นอนอยู่ได้ประมาณ 10 วัน เมื่ออาการทรงตัวก็ส่งกลับไปที่โรงพยาบาลในเรือนจำ ไปให้ยาฆ่าเชื้อต่อ
แต่เมื่อเทียบกับกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลตำรวจถึง 180 วัน สังคมจึงสงสัยว่าทำไมการบังคับใช้กฎหมายฉบับเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกันของคนไข้สองคนถึงดูไม่ค่อยสอดคล้องกัน และต่างกันเกือบ 20 เท่า
4. “ห้องพักพิเศษ” ไม่เท่ากับ “ห้องควบคุมพิเศษ”
หมอวาโยระบุว่า กฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ใน “ห้องพักพิเศษ” ที่แยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องอยู่ใน “ห้องควบคุมพิเศษ” ตามที่สถานพยาบาลจัดให้ ซึ่งโดยหลักแล้ว ห้องควบคุมพิเศษก็เช่น ห้องกักตัวผู้ป่วยโควิด หรือวัณโรค หรือห้องครอบแก้วเพื่อป้องกันการติดเชื้อ คำถามคือ ห้องควบคุมพิเศษที่นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณได้เข้าพักนั้น เป็น “ห้องควบคุมพิเศษ” ที่โรงพยาบาลจัดเอาไว้เพื่ออะไร มีตั้งแต่เมื่อไหร่ และสิ้นสุดลงเมื่อไหร่?
7. “คะแนนพักโทษ” นี้ ท่านได้แต่ใดมา?
สุดท้าย คือเรื่อง “การพักโทษ” มีกฎหมายเกี่ยวกับการพักโทษแค่ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์, กฎกระทรวงและประกาศกรมราชทัณฑ์ โดยในส่วนของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 52 ระบุไว้ให้ในกรณีที่ทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ คำถามก็คือ การที่ผู้ต้องขังจะได้รับสิทธิการพักโทษในกรณีที่ทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษจะต้องเป็นเหตุที่ทำ ณ ขณะที่ถูกต้องขังอยู่ หรือสามารถย้อนไปก่อนที่จะเข้ามาต้องขังได้?
หรือหากเป็นไปตามประกาศกรมราชทัณฑ์ หลักเกณฑ์การพักโทษในกรณีพิเศษมีอยู่ 3 หลักเกณฑ์ นั่นคือมีความเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรือสูงอายุ ซึ่งในกรณีนี้รัฐมนตรีได้เคยตอบโดยอ้างถึงการประเมินที่ไปยืมหลักเกณฑ์ของกรมอนามัยในการประเมินผู้ป่วยสูงอายุมา
หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ มีคะแนนเต็ม 20 คะแนน จากทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งต้องได้ไม่เกิน 11 คะแนนถึงจะสามารถใช้สิทธิได้ โดยในกรณีผู้ป่วยรายนี้ได้ไป 9 คะแนนด้วยกัน
จากคำอธิบายผลคะแนนอยู่ท้ายเอกสารที่ส่งให้รัฐมนตรี มีตารางอยู่ข้างท้ายแบ่งคนไข้เป็น 3 กลุ่ม ซึ่ง 9 คะแนนอยู่ในกลุ่มที่ช่วยตัวเองได้บ้าง ต้องการความช่วยเหลือบางส่วน มีโรคเรื้อรังหลายโรค มีภาวะแทรกซ้อน มีกลุ่มอาการของผู้สูงอายุ มีผลต่อการเคลื่อนที่และการเข้าสังคม
นี่คือข้อเท็จจริงที่เห็นได้ด้วยตา ผู้ประเมินมีสามชื่อคือพยาบาลวิชาชีพ, ผอ.ส่วน และ ผบ.โรงพยาบาล ประเมินในวันที่ 179 ส่งเสนอ แล้วอดีตนายกฯ ก็ได้รับการพักโทษเลย รัฐมนตรีย่อมเห็นได้ด้วยตาของตัวเองว่าเลขผลคะแนนนี้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่?
หมอวาโยตั้งคำถามกับนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า
ตามมาตรา 52 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ กรณีทำความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ เกิดก่อนต้องขังได้ใช่หรือไม่ และผู้ต้องขังทุกคนจะสามารถยึดหลักเกณฑ์นี้นับตั้งแต่วันนี้ได้หรือไม่ ขอหลักเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรมกว่านี้ที่มันไม่ใช่ดุลพินิจได้หรือไม่?
รายงานการประเมิน 9 คะแนนที่รัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติเองกับมือ ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องว่าตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่?
รัฐมนตรีได้ตรวจสอบหรือไม่ว่าแพทย์และพยาบาลวิชาชีพที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมดได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานจริง โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล
สรุป : ขอชื่นชมการทำหน้าที่ครั้งนี้ของหมอวาโยว่าทำข้อมูลได้ดี ใช้ความรู้ทางการแพทย์และทางกฎหมายที่มีมาตรวจสอบโดยไม่ต้องตีฝีปาก ประดิษฐ์วาทกรรมรุ่มร่าม เสียเวลา นับเป็น “ตัวอย่างการทำหน้าที่” ให้แก่ สส. ทั้งเก่าและใหม่ ใช้เป็นมาตรฐานการทำงานเชิงตรวจสอบในวันข้างหน้าต่อไป
และ “ข้อเสนอแนะสำคัญ” ต่อ นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง กับ พรรคก้าวไกล ก็คือ นำข้อมูลจากการตรวจสอบนี้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช. หาคำตอบว่า การกระทำของ ผบ.เรือนจำ พยาบาลประจำเรือนจำ แพทย์ประจำโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” หรือไม่
ทำให้ถึงที่สุด
ให้ประชาชนเห็นว่า การตรวจสอบของพรรคก้าวไกลนั้นทำจริง โดยไม่ต้องมีลีลา “ออมมือไว้ไมตรี” เพื่อหวังผล “การจับมือกัน” ในวันข้างหน้า
พิสูจน์ตัวเองต่อไปครับ!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี