เรื่องการแจกเงิน“ดิจิทัล 1 หมื่นบาท” ที่ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน เพียงแค่รู้ว่ารัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยที่ไปหาเสียงกับชาวบ้านเอาไว้ เหมือนสัญญาว่าจะแจก ด้วยการขูดเงินงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินปี 2567 และ 2568 รวมทั้งเงินของ ธ.ก.ส. นำมาแจก เพื่อไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกับการที่จะต้องเดินเข้าคุกกันเป็นแถวจากการออก พ.รบ.เงินกู้ นั้น มีเรื่องให้ต้องขบคิดมากทีเดียว
เพราะเงิน 5 แสนล้านบาทที่จะเอามาหว่านแจกเหมือนทิ้งโก๋กระจาดในงานประจำปีของโรงเจ เป็นเงินภาษีอากรของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เงินของนักโทษเด็ดขายทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นทั้งเจ้าของคอกพรรคเพื่อไทยตัวจริง และเป็นดีเอ็นเอของ“ระบบทักษิโณมิกส์”หรือ“ระบบประชานิยมแบบทักษิณ” ซึ่งร่ำรวยติดอันดับ 1 ใน 10 มหาเศรษฐีไทยที่มั่งคั่งตามที่นิตยสาร“ฟอร์บส”(Forbes) จัดอันดับ ว่าปี 2566 ทักษิณมีทรัพย์สินสุทธิ 2,100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท จากการทำธุรกิจการเงินและการลงทุน
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เงินก้อนมหาศาล 5 แสนล้านบาท ที่ไป“รีด”มาจากงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นรายจ่ายประจำและรายจ่ายสำหรับการลงทุนของรัฐ เพื่อนำมาแจกตามนโยบาย“ประชานิยมแบบทักษิณ”นี้ ก็ไม่ใช่เงินของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตพ่อค้าบ้านจัดสรร“บริษัทแสนสิริ” และอดีตหุ้นส่วนใหญ่“บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)” หรือ “XSpring” ที่เป็นกลุ่มธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร โดยเฉพาะบริการทางการเงินดิจิทัล หรือ “Digital Financial Service” รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย
ยิ่งพอเห็นชื่อ“XSpring” ก็ทำให้ต้องร้อง“เอ๊ะ !”ขึ้นมาทันที เพราะบริษัทนี้ก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะผันตัวเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจนกระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรี“หุ่นเชิด”ขัดตาทัพอยู่ในเวลานี้นั้น
ในปี 2564 บริษัทแสนสิริที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ขยายธุรกิจจากภาคอสังหาริมทรัพย์สู่ธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ ด้วยการซื้อหุ้น“บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอลฯ” โดยบริษัทแสนสิริฯเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ในสัดส่วน 15 เปอร์เซ็นต์ จากเงินลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท
เมื่อค้นข้อมูลต่อไปได้ตามพบว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เคยกล่าวถึงการเข้าไปลงทุนใน“XSpring” ไว้ว่า “แสนสิริเห็นโอกาสและเทรนด์การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจการเงินดิจิทัลทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก จึงได้เข้าลงทุนใน XSpring บริษัทการเงินครบวงจรที่กำลังจะนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาเชื่อมโลกการเงินปัจจุบันและโลกอนาคตเข้าไว้ด้วยกัน...ซึ่งการรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ รวมถึงธุรกิจทางด้านการเงินสำหรับดิจิทัลอีโคโนมีหรือ Digital Financial Service ของ แสนสิริ จะเพิ่มโอกาสการเติบโตของรายได้จากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ตลอดจนเพิ่มความแข็งแรงทางการเงินและการดำเนินธุรกิจของแสนสิริที่ดีอยู่แล้วให้แข็งแรงยิ่งขึ้น" (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 14 พฤษภาคม 2564)
แม้นายเศรษฐา ทวีสิน จะเป็นอดีตประประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทแสนสิริ ในทางนิตินัยจากการโอนหุ้นทั้งหมดของ“SIRI”จำนวน 661 ล้านหุ้นให้แก่นางสาวชนัญดา ทวีสิน บุตรที่บรรลุนิติภาวะโดยเสน่หาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ไปแล้วก็ตาม แต่ในทางพฤตินัย นายเศรษฐากับลูกสาวซึ่งมีสถานภาพโสดก็ยังพักอาศัยบ้านเดียวกัน หรือแม้แต่รถยนต์ส่วนบุคคลของบุตรสาว นายเศรษฐาก็ยังเคยนำมาใช้อยู่บ่อยๆ และยิ่งถ้าจะใช้คำของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร มาใช้ ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเกี่ยวกับ“ดีเอ็นเอ”ระหว่างทักษิณกับอุ๊งอิ๊ง และนายเศรษฐากับนาสาวชนัญดา ที่มิสามารถตัดขาดจากกันได้
ถ้าจะต่อภาพให้เห็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแยกกันไม่ออกเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ก็คือคณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติเห็นชอบ 7 มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) จากการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 9 เมษายนที่ผ่านมานี้เอง
หนึ่งในมาตรการนั้น คือ“การหักลดหย่อนภาษี–ลดค่าธรรมเนียม” ทั้งปรับปรุงมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย เช่นลดค่าจดทะเบียนโอนจาก 2 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์ และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจาก 1 เปอร์เซ็นต์เหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะที่จดทะเบียนโอนในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์สำหรับการซื้อขายอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ ที่ดินพร้อมอาคาร ห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา
การออกมาตรการนี้ของรัฐบาลโดยการเสนอของกระทรวงการคลังที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงยากที่จะเลี่ยงไม่ให้คนทั่วไปมองได้ว่าเป็น“ผลประโยชน์ทับซ้อน” โดยกระทรวงการคลังอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากได้เห็นสัญญาณการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566) โดยมีบ้านที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม เหลือขายจำนวน 2.5 แสนหน่วย และหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาวได้ จึงเป็นที่มาของการเสนอมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ 7 มาตรการดังกล่าว
ใน 7 มาตรการดังกล่าวยังมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องโดยผ่านธนาคารไม่ต่างจากโครงการ“ดิจิทัล วอลเล็ต”ที่ใช้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) แต่มาตรการนี้ใช้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ภายใต้โครงการสินเชื่อบ้าน “Happy Home” วงเงินโครงการ 2 หมื่นล้านบาท
โครงการ“ดิจิทัล วออลเล็ต”ที่จะต้องนำเงิน 5 แสนล้านบาทที่เป็นเงินสดไปแลกแปลี่ยนเป็น“เงินดิจิทัล”เพื่อมาผ่าน “Super App”แจกแก่ประชาชน 50 ล้านคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปนั้น ถ้าไม่ใช่กลุ่มธุรกิจการเงินที่ให้การบริการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลได้ประโยชน์แล้ว ถามว่าใครจะได้ประโยชน์ เช่นเดียวกับ“7 มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์” ผู้ได้รับประโยชน์เต็มๆ ก็คือกลุ่มทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง
สำหรับโครงการแจกเงิน“ดิจิทัล 1 หมื่นบาท” คนที่จะได้ประโยชน์ นอกจากกลุ่มธุรกิจการเงินที่ให้การบริการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งก็คือทุนใหญ่ที่ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของโครงการนี้ ประชาชนผู้กำเงินดิจิทัลหรือเงินกงเต็กไปซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็กระดับอำเภอก็ไม่ต่างจากต้นทางของท่อลำเลียงส่งเงิน ผ่านร้านค้าขนาดเล็ก ขนาดกลางไปสู่ปลายทางคือทุนใหญ่ ส่วนรัฐได้แค่เศษเงินที่เป็นภาษีจากเงิน 5 แสนล้านบาทเท่านั้น
สงสารประเทศไทยและรู้สึกสังเวชใจในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย-เห็นคนโกงคนชั่วรุมทึ้งชาติบ้านเมืองไม่รู้จักจบสิ้น
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี