ขณะที่เขียนบทความนี้อยู่ ผมอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อมาพบผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักปฏิบัติ และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน การเปิดเผยข้อมูล และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมไปถึงตัวแทนจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น Google ที่สามารถสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลในการตรวจจับความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้
ผมไม่ได้มาอยู่แค่ซานฟานซิสโกครับ ก่อนหน้านี้ผมไปประชุมที่วอชิงตันดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยส์เซียน่า และซีแอทเทิล รัฐวอชิงตัน และจากนี้ต่อไปผมกำลังจะเดินทางต่อไปเมืองแรพิดรัฐเซาท์ดาโคตา เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซสส์ เมืองนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก และจบที่เมืองฟิลลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนียซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน ไอเซนฮาวร์เฟลโลว์ชิปส์ (Eisenhower Fellowships)ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทุนการเดินทางและการกินอยู่ของผมที่นี่ ทั้งหมดเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พร้อมกับเพื่อนๆ อีก 21 คนจาก 21 ชาติ ที่เดินทางมาพร้อมกับโครงการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
Eisenhower Fellowships นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1953 เพื่อเป็นเกียรติแด่ประธานาธิบดี ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ผู้นำกองทัพสัมพันธมิตรบุกเอาชนะนาซีได้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายทางการเมือง และเนื่องจากเขาได้เห็นความเลวร้ายของสงครามด้วยตาของตัวเองมาแล้ว เขาจึงเป็นผู้นำที่พยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกอย่างยั่งยืน และแนวทางสำคัญหนึ่งของเขาคือ การให้คนจากต่างที่ต่างภาษาได้มาเจอกัน ได้คุยกัน เรียนรู้จากกันและกัน จนเป็นเพื่อนกัน และนี่จึงกลายมาเป็นหลักการสำคัญของ Eisenhower Fellowships นี้ที่พาคนที่มีความหลากหลายจากทั่วโลก ที่เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศของตัวเอง มาพบเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด และเป็นเพื่อนกันในการขยายผลกระทบทางสังคมจากระดับชาติให้เป็นระดับโลก
จนถึงวันนี้ผมอยู่สหรัฐอเมริกามาครบ 3 สัปดาห์หรือครึ่งทางพอดี เลยขอเอาประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับและแลกเปลี่ยนจากการประชุมต่างๆ ที่นี่มาแบ่งปันให้ทุกท่านได้รับทราบกันนะครับ
โครงการที่ผมนำเสนอสำหรับการเดินทางเรียนรู้ครั้งนี้คือ การเปิดเผยข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยผมเชื่อว่า เครื่องมือในการต่อต้านคอร์รัปชันที่เราเรียนรู้มาจากทั่วโลกและแนวความคิดที่มีการเสนอกันในประเทศอย่างมากมายนั้น มีหลายร้อยแนวคิดและเครื่องมือ แต่ทั้งหมดนั้นไม่สามารถนำมาปฏิบัติใช้จริงได้หรือถึงใช้ได้ก็มีโอกาสความสำเร็จต่ำมาก เพราะเราขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญไปนั่นคือข้อมูลเปิด ที่ครอบคลุม มีมาตรฐาน และเข้าถึงได้ง่าย
ทำไมน่ะหรือครับ จำกรณีเสาไฟฟ้ากินรีได้ไหมครับ เรื่องนั้นเกิดจากประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง เช่นเดียวกับผมและท่านผู้อ่านทุกท่าน เดินไปเห็นเสาไฟฟ้ากินรีตั้งอยู่เรียงรายในท้องทุ่งที่ไม่มีผู้คนเดินผ่าน เรื่องมันก็คงจะจบแค่นั้น ถ้าเขาไม่ได้รับรู้ว่า เสาไฟฟ้ากินรีแต่ละต้นราคาเฉียดแสนบาท ซึ่งแพงกว่าราคาตลาดกว่าสิบเท่า แล้วที่เขารู้ข้อมูลนี้ได้ ก็เพราะองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันนำข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งประชาชนเข้าถึงได้ยาก เอามาเปิดเผยใน ACT Ai ที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai ในการวิเคราะห์ข้อมูลว่า มีความสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน มาเปิดให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้โดยง่าย จนเมื่อเขาส่งข้อมูลที่เป็นทางการนี้ไปที่เพจต้องแฉ จึงเกิดเป็นกระแสสังคมขนาดใหญ่ขึ้นอย่างที่เราได้เห็นกัน และนำไปสู่การสืบสวนสอบสวนโดยหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. ที่ลงไปในพื้นที่อย่างรวดเร็ว
ลองคิดต่อนะครับว่า ถ้าเรามีข้อมูลมากกว่านี้ เช่น ข้อมูลทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อมูลผู้บริจาคเงินจำนวนมากให้พรรคการเมือง ข้อมูลคำชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ข้อมูลการตัดสินของศาลในคดีทุจริต เราจะสามารถให้ Ai เรียนรู้รูปแบบการโกงต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาทั้งหมด เพื่อตรวจสอบความสุ่มเสี่ยงการทุจริตหรือการทับซ้อนของผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม (conflict of interests) ของการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายเงินต่างๆ ของภาครัฐ ได้ภายในพริบตา
ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้ว่า สิ่งที่ผมคิด ไม่ใช่ความฝัน ระบบเช่นนี้มีอยู่จริงแล้วในหลายประเทศ รวมถึงหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาเอง เช่น เมืองนิวออร์ลีนส์มีระบบเปิดข้อมูลภาษีโรงเรือนของทุกอาคารในเมืองอย่างครบถ้วน สามารถดูได้เลยว่า อาคารที่อยู่ติดกัน ลักษณะคล้ายกัน จ่ายภาษีเท่ากันหรือไม่หรือแตกต่างกันมากแค่ไหน เพราะเราก็เคยเห็นสถานการณ์ในประเทศไทยที่อาคารเหมือนกันเลย อยู่ติดกัน แต่จ่ายภาษีต่างกันหลายสิบเท่า เพราะเจ้าของตึกหนึ่งจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่มาแล้ว
ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ผมได้มีโอกาสพบเจ้าหน้าที่รัฐหลายแห่ง ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งต่างก็ใช้ระบบ Ai ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจหาความสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการใช้งบฉุกเฉิน ซึ่งมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลนี้โดยเฉพาะเลย ทำให้การใช้จ่ายเงินเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต่างๆ มีประสิทธิผลมากขึ้น ไม่รั่วไหลไปสู่กระเป๋าใคร
วันนี้ทั้งวันผมมีประชุมกับอาจารย์และนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการวิจัยด้านหลักนิติธรรม (Rule of Law) ด้วยการส่งเสริมความมีส่วนร่วมของประชาชน ได้รับทราบว่าที่มีการศึกษาการใช้กระบวนการที่หลากหลายมากในการดึงให้ประชาชนที่มีความเห็นขัดแย้งกัน สามารถมาพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ได้ หลายกระบวนการนี้ น่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดายแล้ว สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้จริง ด้วยการสนับสนุนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดที่ผมเขียนเล่ามานี้ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนจากการเดินทางในครั้งนี้ในอีก 3 สัปดาห์ที่เหลือ ผมเชื่อว่าจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ อีกมากมาย และจะได้นำมาสรุปให้ทุกท่านได้อ่านต่อในโอกาสต่อไปนะครับ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี