มรดกบาปจำนำข้าว เหมือนผีร้ายตามหลอกหลอนไม่เลิก
ยังค้างหนี้จำนำข้าวกว่าสองแสนล้านไม่พอ ข้าวสารลอตสุดท้ายที่ตามบัญชีระบุว่าเก็บมา 10 ปี รมยา 120 รอบ ก่อนหุงให้รัฐมนตรีกินต้องซาวน้ำ 15 น้ำ กลับเหมือนเป็นเจ้ากรรมนายเวร
1. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศพร้อมกินข้าวลอตดังกล่าวด้วย
หลังจากที่ รมว.พาณิชย์กินโชว์สื่อไปแล้ว กินไป เขี่ยข้าวออกจากช้อนไปด้วย
แต่การกินโชว์ แค่มื้อเดียว กินไม่กี่คำ ไม่ได้ช่วยพิสูจน์อะไรเลยว่าข้าวปลอดภัย
ยิ่งกรณีนายกฯ จะกินโชว์ ยิ่งไม่แน่ว่าจะเป็นข้าวจากลอตดังกล่าวจริงหรือไม่
2. อาจารย์อ๊อด รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตือนว่า ข้าวเก่าเก็บอาจอันตรายกว่าที่คิด เพราะมีสารอะฟลาท็อกซิน ตัวก่อมะเร็งร้ายแรง จากการยืนยันขององค์การอนามัยโลก
“ข้าวเก่า 10 ปีหากตรวจสอบแล้วปลอดภัยก็เอามาทำประโยชน์ได้ครับ แต่มันจะคุ้มหรือไม่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี อาจารย์อ๊อดเป็นห่วงอยู่ตัวเดียวคือสารตัวนี้ สาร“อะฟลาท็อกซิน” สารก่อมะเร็งที่มีอันตรายมาก” – อ.อ๊อดกล่าว
3. รศ.พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ระบุว่าข้าวเก่า 10 ปี อาจมีสารพิษจากเชื้อราอยู่ไม่น้อย เหตุเพราะมีแมลง มอด ทั้งยังเต็มไปด้วยมูลของสัตว์เหล่านี้ที่นำมาซึ่งการเจริญเติบโตของเชื้อรา เป็นแหล่งสะสมของสารพิษจากเชื้อรา มีสารก่อมะเร็งที่จะส่งผลเสียต่อร่างกายอีกด้วย
4. สารพิษที่ว่า คือสาร “อะฟลาท็อกซิน” สารก่อมะเร็งที่มีอันตรายมาก
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง
ปริมาณเพียง 1 ไมโครกรัม สามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรียและทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่อง
ผู้ที่ได้รับอะฟลาท็อกซิน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรกๆ จะมาแสดงอาการเมื่อเกิดการเรื้อรังแล้ว คือ กินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อราแล้วเชื้อรานั้นสร้างสารอะฟลาท็อกซิน ทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง เกิดภาวะตับแข็ง ก่อเกิดมะเร็งตับและอาจมีผลต่อระบบไต หัวใจ
เหตุใด จะต้องเอาผู้บริโภคข้าว ไปเสี่ยงกับเรื่องแบบนี้ด้วย?
5. เงื่อนไขการประมูล ต้องปกป้องชื่อเสียงข้าวไทย และคุ้มครองผู้บริโภค
นายกฤษณรักษ์ ใจดี นักบริหาร 9 รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และรักษาการแทนผู้อำนวยการ อคส. เปิดเผยว่า ขณะนี้ อคส. อยู่ระหว่างการพิจารณาออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเปิดประมูล (ทีโออาร์) ข้าวสารหอมมะลิปริมาณ 15,000 ตัน จากโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57
คาดว่า จะแล้วเสร็จและออกประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลได้กลางเดือน พ.ค.นี้
“หลังจากออกประกาศทีโออาร์ อคส. จะเปิดชี้แจงทีโออาร์ให้กับผู้สนใจได้รับทราบ จากนั้นจะเปิดโกดังให้ผู้สนใจไปตรวจสอบคุณภาพข้าว เปิดให้ยื่นซองคุณสมบัติของผู้ที่จะประมูล ตรวจสอบคุณสมบัติและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ จากนั้นจะเปิดให้ยื่นซองเสนอราคา และเปิดซองราคา พิจารณาและต่อรองราคา และประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลราวๆ ต้นเดือนมิ.ย. ส่วนราคาขาย น่าจะขายได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม (กก.) ละ 18 บาทหรือได้มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 270 ล้านบาท หลังจากนั้นจะนำเงินส่งคืนคลัง และปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้ทั้งหมด”
กรณีที่จะพิสูจน์ว่าข้าวมีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้หรือไม่นั้น?
อคส.ระบุว่า มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพข้าวในช่วงก่อนฝากเก็บข้าวในโกดัง และตลอดระยะเวลาการฝากเก็บ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบความปลอดภัยของข้าว น่าจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลมากกว่า แต่ก่อนการนำข้าวไปขายสู่ผู้บริโภค โดยทั่วไป ผู้ชนะประมูลต้องปรับปรุงคุณภาพข้าวก่อนอยู่แล้ว เช่น การอบข้าว ขัดสี แยกเมล็ดแตกหักออก เป็นต้น แต่ทราบว่า ผู้ส่งออก สนใจประมูลเพื่อส่งออก เพราะมีหลายประเทศที่นิยมบริโภคข้าวเก่า ข้าวสีเหลือง ไม่นิยมข้าวเมล็ดสีขาว เช่น ประเทศในแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง
คุณพระช่วย...
อคส.ตอบอย่างนั้นได้ ไม่ผิด
แต่คนเป็นนายกฯ จะต้องทำมากกว่า อคส.
รัฐบาลต้องกำกับดูแล โดยวางมาตรการตรวจสอบและป้องกันมิให้นำข้าวเก่า 10 ปี ที่อาจจะมีสารอันตราย นำมาปะปนกับข้าวใหม่คุณภาพดีในตลาด เพื่อรักษาความเชื่อมั่นต่อข้าวไทย โดยอาจมีมาตรการควบคุมมิให้นำมาเวียนขายในประเทศ มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนต่อผู้บริโภคว่าข้าวลอตนี้ไปขายที่ไหน เป็นต้น
6.เงื่อนงำข้าวค้างโกดัง ปาหี่การเมืองเรื่องคดีจำนำข้าว?
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าด้วยเรื่อง “ข้าว 10 ปีกินได้หรือ #พบเงื่อนงำข้าวค้างโกดัง #ปาหี่การเมืองเรื่องคดีจำนำข้าว?”
ตามแกะรอยข้าวลอตนี้ น่าสนใจ ระบุว่า
“...ข้าวค้างสต๊อก 10 ปี จากโครงการรับจำนำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยิ่งตรวจสอบยิ่งพบเงื่อนงำหลายประเด็น ทั้งเรื่องความเป็นมาเกี่ยวกับข้าวค้างโกดังลอตนี้ ที่บริษัทประมูลข้าวผิดสัญญาไม่ชำระเงิน ผลประโยชน์ของผู้ที่มีส่วนได้เสีย ความเกี่ยวพันทางการเมือง หรือผลทางคดีความ?
จากรายงานความเป็นมาข้อเท็จจริงที่ผมได้รับจากแหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ ลงวันที่ 26 มีนาคม 2567 นั้น ทำให้มีข้อสังเกตและคำถามไปยังท่านรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง เพิ่มเติมดังนี้
1) นายภูมิธรรม รองนายกฯและรมต.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ว่าได้รับการร้องเรียนว่า มีข้าวค้างเก็บใน 2 คลัง จำนวนมากถึง 120,000 กระสอบ เพราะมีปัญหาคลังถูกปิดและทำให้โกดังเสียโอกาส
: คำถามคือ
1.1 ใครเป็นผู้ร้อง? ในทางการข่าวระบุว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของโกดังคลังเก็บข้าวและผู้นำท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับบางพรรคการเมือง มีประโยชน์ได้เสียในเรื่องนี้ ใช่หรือไม่
1.2 รัฐมนตรีพาณิชย์ทราบมาก่อนหรือไม่ว่า “ผู้ร้องน่าจะเป็นผู้ประมูลข้าวได้เองแต่ผิดสัญญาไม่รับมอบข้าวทั้งหมดและไม่ชำระเงินแก่รัฐ จนองค์การคลังสินค้าต้องยกเลิกสัญญา และยังเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากเงินค่าเช่าโกดังค่ารับฝากและค่าบำรุงรักษาจำนวนมาก ต่อมาอีกถึง 9 ปี ทั้งที่กระทำผิดสัญญากับ อคส.
1.3 มีการตรวจสอบว่า มีการทุจริตในเบิกจ่ายเงินใดๆ หรือไม่ มีความคืบหน้าในการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัททั้งสองที่เป็นผู้ทำผิดสัญญาประมูลและไม่ชำระเงิน หรือไม่ อย่างไร
2) คลังพูนผลเทรดดิ้งหลัง 4 จังหวัดสุรินทร์ ที่มีข้าวค้างโกดัง 3,356 ตัน นั้น
*ผู้ซื้อข้าวในการประมูลครั้งที่ 5/2558 คือ บริษัทพูนผลเทรดดิ้ง เจ้าของคลังสินค้าพูนผลเทรดดิ้งหลัง 4 ได้รับมอบข้าวไปแล้ว 1,967 ตัน ต่อมาผู้ซื้อผิดสัญญาไม่ชำระค่าข้าว องค์การคลังสินค้า (อคส.) บอกเลิกสัญญา คงเหลือข้าว 3,356 ตัน
*ส่วนผู้ประมูลซื้อข้าวรายอื่นก่อนหน้าคือบริษัทข้าวซีพีเมื่อ 2557 ได้รับมอบข้าว4,181 ตัน ไปครบถ้วนและชำระเงินเรียบร้อยไม่ผิดสัญญา
: คำถาม คือ
2.1 รัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่า บริษัทพูลผลเทรดดิ้ง ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าของโกดังคลังพูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 คือผู้ที่ประมูลข้าวได้ตั้งแต่ 2558 เป็นผู้ผิดสัญญารับมอบข้าวไปแล้วบางส่วน แต่ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเงินข้าว องค์การคลังสินค้า จึงต้องยกเลิกสัญญา และข้าวที่ค้างในโกดังคลังพูนผลจำนวน 3,356 ตันนี้ คือข้าวที่ผู้ประมูลผิดสัญญาไม่รับมอบไปเอง แต่ยังเก็บไว้ในโกดังต่อมาจนทุกวันนี้
2.2 ค่าฝากรักษาข้าวและค่ารมยาฆ่าแมลง fumigation ตลอดทุกเดือนมูลค่ามหาศาลนี้ ใครเป็นผู้จ่ายเงินแก่เจ้าของโกดังคลังข้าวซึ่งเป็นผู้ผิดสัญญา การจ่ายเงินดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
2.3 เรื่องนี้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในความเสียหายจากบริษัทพูนผลเทรดดิ้งผู้ผิดสัญญาที่ไม่ชำระเงินและไม่รับมอบข้าวที่ประมูลไปแล้ว ตั้งแต่ 2558 หรือไม่ผลคดีเป็นอย่างไร
3) คลังกิตติชัย จังหวัดสุรินทร์ ที่มีข้าวค้างโกดัง 11,656 ตัน นั้น
*ผู้ซื้อข้าวในการประมูลครั้งที่ 5/2558 คือบริษัท โรงสี ส.ชัยเจริญ รับมอบข้าวไป 9,343 ตัน แล้ว ผู้ซื้อผิดสัญญาไม่ชำระเงิน องค์การคลังสินค้า (อคส.) จึงยกเลิกสัญญา คงเหลือข้าว 11,656 ตัน
*ส่วนผู้ประมูลซื้อข้าวรายอื่นหลังจากนั้น คือบริษัทยโสธรอินเตอร์เทรดไรซ์ เมื่อ 2560 ได้รับมอบข้าว 5,095 ตัน ไปครบถ้วนและชำระเงินเรียบร้อยไม่ผิดสัญญา
คำถามคือ
3.1 รัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่า ข้าวที่ตกค้างในคลังสินค้า กิตติชัย 11,656 ตันนั้นบริษัทโรงสี ส.ชัยเจริญ ที่เคยเป็นผู้ซื้อข้าวนี้จากการประมูลและผิดสัญญาไม่ชำระเงินนั้นเจ้าของ คือ นายโรจนินทร์ หิรัญโชคอนันต์ เจ้าของ 3 โรงสีใหญ่ ในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์และศรีสะเกษ โดยที่นายโรจนินทร์ ปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรีตำบลกังแอน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ที่สื่อมวลชนหลายสำนักถูกแนะนำว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว และออกมาสัมภาษณ์ช่วยรัฐมนตรี ยืนยันรับรองว่า ข้าว 10 ปี ในโกดังที่ท่านรัฐมนตรีและสื่อมวลชนเอามาทดลองหุงนั้น เป็นข้าวคุณภาพสารอาหารคงเดิมกินได้ กินแล้วไม่ตาย ตามข่าว https://www.thaipbs.or.th/news/content/339766 https://www.nationtv.tv/news/region/378943542 นั้น คือเจ้าของบริษัทโรงสี ส.ชัยเจริญ เป็นผู้ประมูลข้าวลอตนี้ได้ในปี 2558 รับมอบข้าวไปแล้ว 9,343 ตัน แต่ผู้ซื้อผิดสัญญาไม่ชำระเงิน อคส. ยกเลิกสัญญา ทำให้เหลือข้าวคงค้างสต๊อกไว้ในโกดังคลังนี้ทิ้งไว้ 11,656 ตัน
3.2 ใครจ่ายเงินค่าฝากรักษาข้าวและค่ารมยาฆ่าแมลง fumigation ทุกๆ 2 เดือนมูลค่ามหาศาลนี้ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
3.3 เรื่องนี้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในความเสียหายจากบริษัท โรงสี ส.ชัยเจริญผู้ผิดสัญญาที่ไม่ชำระเงินและไม่รับมอบข้าวที่ประมูลไปแล้ว ตั้งแต่ 2558 หรือไม่ผลคดีเป็นอย่างไร
และเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนผู้บริโภค เพราะจะมีการนำข้าวค้าง 10 ปีดังกล่าว ออกมาประมูลขาย ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและตลาดค้าข้าวต่างประเทศ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จะดำเนินการติดตามตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป อาทิ
-ข้อเสนอแนะให้นำข้าวไปตรวจสอบห้องแล็บทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีสารพิษตกค้างจากการรมยาฆ่าแมลงมานาน 10 ปี หรือการเสื่อมคุณภาพสารอาหารและการตรวจหาสารก่อมะเร็งที่เกิดจาก aflatoxin และอื่นๆ ก่อนที่จะนำไปประมูลขายให้ประชาชนนำไปบริโภคในประเทศหรือส่งออกขายไปต่างประเทศ
-ติดตามตรวจสอบการบริหารจัดการไม่ให้เกิดการทุจริตซ้ำในโครงการ หรือความพยายามสร้างหลักฐานใหม่ ที่อาจสงสัยว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาเด็ดขาดไปแล้ว ถึง 2 ชั้นศาลฎีกาเป็นที่ยุติแล้ว
โดยจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อมีมติให้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ตามหน้าที่และอำนาจต่อไปครับ”
น่าสนใจมาก
มรดกบาปจำนำข้าว ต้องตรวจก่อนขาย เตือนก่อนวายวอด
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี