นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ระบุว่า จะดำเนินการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
ประเด็นนี้ มีข้อดี-ข้อเสีย ที่ต้องพิจารณาแก้ปัญหาให้ตรงจุดเป็นธรรม เพราะกระทบกับประชาชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
1. การปลดล็อกกัญชาในวันที่ 9 มิ.ย. 2565 คือ วันที่การปลดกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษมีผลบังคับใช้จริง
ผลคือ ประชาชนสามารถปลูกกัญชาภายในครัวเรือนได้ แต่ต้องจดแจ้งให้เรียบร้อย
ส่วนร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ปรากฏว่า ไม่สามารถผ่านเป็นกฎหมายได้
การควบคุมการใช้กัญชาในปัจจุบัน อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่หน่วยงานต่างๆ มีอยู่ แต่ยังไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมด
2. ถ้านำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็หมายความว่า กิจกรรมที่ใช้กัญชา ทั้งในทางเสพ และในทางรักษาพยาบาล ทำผิลตภัณฑ์ สินค้า ปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน บริษัทเอกชนทั้งหลาย ผิดกฎหมายหมด
ถอยหลังลงคลองไปอีก
3. ปัจจุบัน มีการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ที่สร้างสรรค์จำนวนมาก
ด้านการแพทย์ ได้แก่ ยารักษาโรคต่างๆ อาทิ โรคลมชักบรรเทาอาการนอนไม่หลับ ปวดเจ็บ ฯลฯ
ด้านสุขภาพ เช่น บำรุงผิว ในกัญชามีโอเมก้า 3 หรือทำให้ทานอาหารได้ ทำให้สมองโปร่ง
ด้านเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและน้ำดื่ม อุตสาหกรรมยาสีฟัน ลดปวด รักษาเหงือก เป็นต้น
กัญชาเป็นสมุนไพร มีผลดีต่อเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนลดการนำเข้ายาจากฝรั่ง
4. นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ให้ความเห็นว่า
นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันเขียนไว้ชัดเจนว่า “รัฐบาลจะดำเนินแนวทางนโยบายการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ” ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็ให้การรับรองเอาไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้น การดำเนินการที่ดีที่สุดในขณะนี้คือการออกกฎหมายมาควบคุมการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง และได้มีการเสนอกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้กัญชา กัญชง ในสภาผู้แทนราษฎร
นายศุภชัย ยืนยันว่า การใช้กัญชา ในประเทศไทย มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนแล้วว่าการนำกัญชา กัญชง มาใช้ ปริมาณสารสกัดจะต้องมี THC ไม่เกิน 0.2% ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสหประชาชาติ และหลายประเทศทั่วโลกดำเนินการตามนี้ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มยุโรป ก็มีการออกกฎหมายมาควบคุมการใช้ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชา โดยที่อุตสาหกรรมกัญชาคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่านับหมื่น นับแสนล้านบาท
“การประกาศให้กัญชาทุกส่วน หรือ บางส่วน หรือเฉพาะสารสกัด เป็นยาเสพติด ต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ จึงจะตอบประชาชนได้ว่า เหตุใดจึงมีการประกาศเปลี่ยนแปลงสถานะของกัญชา ให้กลับไปเป็นยาเสพติด เนื่องจากการประกาศให้กัญชาทุกส่วนที่ผลิตในประเทศพ้นจากการเป็นยาเสพติด และกำหนดให้สารสกัดที่มี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก เป็นยาเสพติด เป็นการประกาศโดยมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารองรับ และเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ดังนั้น จึงต้องมีเหตุผลมารองรับหากจะมีมติเปลี่ยนแปลงประกาศฉบับปัจจุบัน”
การประกาศให้กัญชา เป็นยาเสพติด จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพหรือไม่ อย่างไร ต่อไป โดยเฉพาะหากมีการประกาศให้กัญชา เป็นยาเสพติด จะเหมาะหรือไม่ ที่รัฐบาลจะใช้ยาเสพติด มาสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ การแก้กฎหมายต้องคำนึงถึงคนทั้งประเทศ การแก้ปัญหา คือการออกกฎหมายมาควบคุม ไม่ใช่ การทำให้กัญชาเป็นยาเสพติด การปลดล็อกกัญชาที่ผ่านมา มีการออกประกาศควบคุมต่างๆ เช่น ปริมาณ THCไม่ให้เกิน 0.2 % การห้ามจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนบริเวณใกล้เขตวัด เขตโรงเรียน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร และการร่างพ.ร.บ.ควบคุมการใช้กัญชา กัญชง พรรคภูมิใจไทย ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ขณะนี้ได้ยื่นร่างเข้าสู่สภาแล้ว จึงเป็นแนวทางที่น่าจะดำเนินการต่อไปให้สิ้นกระบวนการ- นายศุภชัย กล่าว
5. ผ่าทางตัน กัญชาเพื่อสุขภาพ การแพทย์ เศรษฐกิจ
หากนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย ที่จะหยุดการใช้กัญชาในทางที่ผิด เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
การแก้ปัญหาการใช้กัญชาในทางที่ผิด เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มี 2 แนวทาง คือ
1. ประกาศให้กัญชา เป็นยาเสพติด ห้ามประชาชนยุ่งเกี่ยวมีโทษตามกฎหมาย เช่น ในอดีตที่ผ่านมา
แต่ก็จะเห็นว่า มีการลักลอบใช้กัญชา มาตลอด ทั้งๆ ที่ทราบว่าผิดกฎหมาย และมีการจับกุมประชาชนทั้งที่ใช้กัญชาที่ผิด และประชาชนซึ่งปลูกและใช้กัญชาในวิถีชุมชน ทั้งการดูแลสุขภาพตนเอง และการรักษาโรคตามตำรับยาหมอพื้นบ้าน หรือแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นการใช้กัญชา เป็นประโยชน์ ก็ถูกจับกุม ดำเนินคดีด้วย
2. การตรากฎหมายควบคุมการผลิต การแปรรูป การจำหน่าย และการใช้กัญชา เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ ควบคุมการผลิต การใช้กัญชาในทางที่ผิด เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่น
ตามแนวทางที่สมัยรัฐบาลที่แล้ว โดยพรรคภูมิใจไทยเคยดำเนินการ คือ การเสนอร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ต่อ สภาฯ เมื่อปี 2565 ซึ่งสภามีมติรับหลักการ และ ร่วมกันแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติม ให้ควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด อย่างเข้มข้น และมีบทลงโทษรุนแรง ทั้งจำและปรับ แต่ต้องประสบกับปัญหาทางการเมือง องค์ประชุมสภาล่ม จนกระทั่งสภาฯ พิจารณาไม่ทัน จึงไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา กัญชง
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ยกร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงฉบับใหม่ขึ้นมาแล้ว น่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้กัญชา กัญชง ในทางที่เป็นประโยชน์ ทั้งทางการแพทย์ ทางสุขภาพ และ สร้างเสริมเศรษฐกิจ ตามนโยบายรัฐบาล ได้อย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม การประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติด หากเป็นประกาศที่สนับสนุนการใช้กัญชา ตามนโยบายรัฐบาล และควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ควรให้การสนับสนุน เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยมีนโยบายให้ประชาชนใช้กัญชา ในทางที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งตนเองและผู้อื่น
รัฐบาลเศรษฐา จะถอยหลังเข้าคลอง จะทำขัดกับนโยบายที่ตนเองแถลงต่อรัฐสภาอีกหรือ?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี