วิวาทะว่าด้วย “พระเก่า-พระใหม่” กรณีที่ขุดพบพระพุทธรูปริมแม่น้ำโขงฝั่งลาวนั้น ยังไม่จบสิ้น
และคงจะไม่จบง่ายๆ ตราบเท่าที่การขุดค้นยังไม่เสร็จ ทางการลาวยังไม่มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบ การศึกษาทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
การจะตรวจพิสูจน์อายุของพระพุทธรูปโดยตรงนั้น หลายฝ่ายยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก
สิ่งที่ทำได้ คือ การศึกษาเทียบเคียงทางศิลปะ งานฝีมือช่าง คุณค่าทางโบราณวัตถุ และการศึกษาโบราณสถานแวดล้อม ว่าบ่งชี้ยืนยันไปทางใด หรือขัดแย้งกันหรือไม่ อย่างไร
วันนี้ ขอยกข้อคิดความเห็นที่น่าสนใจมาก ประกอบหลักฐานภาพที่ทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น
ตอกย้ำในด้านที่มองว่า น่าจะเป็นพระพุทธรูปเก่า โบราณจริงๆ ไม่ใช่เพิ่งทำขึ้นแล้วเอาไปฝังดิน
1. ดูจากเสาอาคารที่ขุดค้นพบด้วย และเทคนิคการสร้างองค์พระ
ดร.นุ๊ก Harvest Moon Story Anekrit ระบุว่า
“...เดิมทีชาวบ้านตั้งใจที่จะขุดดิน (ทราย) ริมแม่น้ำโขงในฝั่งต้นผึ้ง เพื่อไว้จอดเทียบเรือช่วงน้ำแห้งเรือที่สัญจรท้องเรือจะติดสันทราย
ชาวบ้านที่ว่าคือ คนไทย ที่มีอาชีพขับเรือข้ามฟาก ได้ประสานขอความร่วมมือจากฝั่งลาวช่วยขุดร่องน้ำให้เรือเทียบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการขุด
งานขุดก็ใช้แบ๊กโฮขุดปกติ โดยขุดดิน(ทราย) ริมตลิ่งจากบริเวณเหนือแล้วกองทรายไว้ด้านใต้ เพื่อเปิดร่อง
เมื่อขุดลึกประมาณ 2 เมตร จึงเริ่มพบอิฐปะปนในดินทั้งที่สมบูรณ์และแตกหัก อิฐมีขนาดประมาณ 5 x 15 x 30 เซนติเมตร และพบเศียรพระพุทธรูป 1 องค์ จึงนำมาสู่การขุดค้นครั้งนี้
จากการขุดร่องน้ำกลายเป็นขุดกู้แหล่ง โดยขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น ทำเป็นคันดินล้อมรอบ
พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม อาทิ เสาอาคารทั้งที่ตกแต่งและไม่ตกแต่งลวดลายปูนปั้น
ชิ้นที่ตกแต่ง ลวดลายวิจิตรงดงามมาก ตกแต่งลวดลายพันธุ์พฤกษา มกร หงส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบชิ้นส่วนยอดเจดีย์บุโลหะ ปล้องไฉนบุโลหะ คอระฆังบุโลหะ
การขุดค้นพระพุทธรูปขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนหนึ่ง ทั้งที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดต้นผึ้ง และการขุดค้นพระพุทธรูปองค์องค์ใหญ่ที่กำลังเป็นกระแส
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ปัจจุบัน เก็บไว้ตรงอาคารชั่วคราวที่หน้างาน (ริมโขง) มีประชาชนชาวลาวหลั่งไหลเข้าไปสักการะเป็นจำนวนมาก แต่ตอนนี้เริ่มที่จะไม่ให้คนไทยเข้าไป เพราะกระแสในด้านลบที่สื่อออกมา
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ เท่าที่ดูด้วยสายตามีขนาดหน้าตักประมาณ 100 นิ้ว พระพักตร์งดงามยิ่ง พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระโขนงรูปปีกกา พระนาสิกโด่ง พระเนตรเหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์ยิ้ม ขมวดพระเกศาเล็ก พระกรรณยาวตามแบบศิลปะล้านช้าง ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ใช้วิธีเชื่อมต่อ อย่างน้อย 3 ส่วน ได้แก่ พระศอ พระนาภี-พระกร และพระชานุ (เข่า) และเทคนิคการยึดชิ้นส่วนแบบสลักหางเหยี่ยว ซึ่งเป็นเทคนิคที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เป็นเทคนิคงานช่างโบราณ
เท่าที่เห็น จะมีสลักหางเหยี่ยวตรงรอยต่อระหว่างพระกรท่อนบนกับพระกรท่อนล่าง ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ลำตัวด้านหลัง (พระขนอง) และพระชานุท่อนบนกับพระชานุท่อนล่างทั้งด้านซ้ายและด้านขวา
ถ้าพระองค์นี้ทำขึ้นมาใหม่ตามที่เป็นกระแสวิจารณ์ในตอนนี้ เชื่อว่าคนทำคงไม่ได้มาใส่ใจกับเทคนิคโบราณแบบนี้ ถ้าเชื่อมก็เชื่อมเต็มไปเลย จะมาเสียเวลาทำทำไม
และเชื่อว่าคนทำคงคิดไม่ถึงกับสลักหางเหยี่ยวของงานช่างชั้นครูด้วยครับ
ดังนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เป็นของเก่า ด้วยบริบทร่วมหลายอย่าง เช่น การขุดพบโบราณวัตถุอื่นๆ การขุดพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม และการใช้เทคนิคเชื่อมยึดองค์พระด้วยวิธีโบราณ ยากที่คนสมัยใหม่จะคาดถึง”
2. คุณ Pensupa Sukkata ซึ่งเป็นนักเขียนสารคดี ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ น่าสนใจมาก ดังนี้
“ประเด็นโบราณวัตถุค้นพบใหม่บนเกาะกลางลำน้ำโขงที่ เกาะดอนผึ้งคำ เมืองต้นผึ้งแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาวนั้น ดิฉันตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้
1. เนื้อพระพุทธรูปสำริด (องค์ที่มีขนาดใหญ่มาก จึงเรียกว่า พระเจ้าตนหลวง) เต็มไปด้วยคราบสนิมจับ กระจายทั่วทุกจุด มีรอยผุกร่อนแตกเป็นร่อง เป็นแผ่น หลายช่วงซึ่งมองในระยะไกลจะไม่เห็น ต้องใช้กล้องเลนส์ซูมจึงจะเห็นชัด
2. วิธีการหล่อองค์พระใช้ “เดือย” รูปคล้ายนาฬิกาทรายซึ่งล้านนาเรียกว่า “แสว้” ปรากฏอยู่หลายจุด เนื่องจากเราถูกกำหนดพื้นที่ให้ถ่ายภาพได้ในระยะไกลเท่านั้น จึงมิอาจส่องรายละเอียดที่อยากดูได้ทั่วทุกจุด โดยเฉพาะด้านหลังที่ปล้องพระศอ มีเชือกกั้นไม่ให้เข้าไปชมด้านข้าง และด้านหลัง
3. ประเด็นการพบพระพุทธรูปจำนวนมหาศาลขนาดใหญ่น้อยคละกันหลายร้อยองค์ ที่ทยอยขุดพบเรื่อยมาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษนี้ มิใช่เรื่องแปลก เพราะดินแดนบริเวณนี้เคยมีอารยธรรมรุ่งเรืองมาก่อน
4. โบราณวัตถุทั้งหมดมีอายุร่วมสมัยกับศิลปะยุคล้านนารุ่งเรืองคือราว 500 ปีที่ผ่านมา มิใช่ศิลปะยุคสุวรรณโคมคำ ซึ่งเป็นเรื่องราวในตำนานหลายพันปี เพราะยุคนั้นยังไม่มีการสร้างพุทธศิลปะ แต่ด้วยเหตุที่สถานที่ของเมืองเชียงแสนบางส่วนได้สร้างทับซ้อนดินแดนเก่า ตามที่บางท่านสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองสุวรรณโคมคำมาก่อนนั่นเอง จึงทำให้ผู้ที่เชื่อในตำนานสุวรรณโคมคำจึงเข้าใจว่าวัตถุที่ขุดพบทั้งหมดมีอายุหลายพันปี
5. พบร่องรอยหลักฐานด้านโบราณวัตถุ โบราณสถานสมัยล้านนา-เชียงแสน ร่วมสมัยกับองค์พระเจ้าตนหลวง จำนวนมากมายในเมืองต้นผึ้ง เก็บรักษาไว้ที่ วัดทองทิพย์พัฒนา วัดโพธิ์คำ วัดสิริสุวรรณโคมคำ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานพุทธศิลป์ชิ้นเยี่ยมที่มีอายุ 500 ปีทั้งสิ้น นอกจากนี้เมื่อสำรวจพื้นที่รายรอบยังพบซากโบราณสถานร้างกระจัดกระจายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเจดีย์ทรงกลม (ทรงระฆัง) และทรงปราสาทยอดแบบศิลปะล้านนา
6. ประเด็นพุทธลักษณะพระเจ้าตนหลวง บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ดูคล้ายจีนนั้น เพราะหางพระเนตรเฉี่ยว อันที่จริงนั้น พุทธลักษณะเช่นนี้ มีนักวิชาการด้านล้านนาศึกษามาชี้ชัดหลายท่านแล้วว่า ได้พบอยู่หลายองค์ อาทิ วัดป่าซางหลวง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ถือเป็นอีก type หนึ่งของพระพุทธรูปล้านนาตอนปลาย หลังสมัยพระเมืองแก้วลงมา พบค่อนข้างมากในเขตรอยตะเข็บไทย-ลาว
7. เป็นไปได้หรือไม่ว่า เกาะดอนผึ้งคำนี้ ในอดีตอาจเป็น “เกาะดอนแท่น” (บ้างเรียก “เกาะดอนแห้ง” ) ที่ปรากฏในตำนาน ที่เราตามหา
เกาะที่ใช้เป็นสถานที่พุทธาภิเษก มูรธาภิเษก ตอนที่กษัตริย์ล้านนาขึ้นเสวยราชย์ ต้องอัญเชิญพุทธปฏิมามาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วยบนเกาะนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระมเหสี บรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ที่ติดตามมา ก็อาจร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ จำนวนมากมากระทำพิธีในวาระพิเศษต่างๆ บนเกาะศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ด้วยอย่างต่อเนื่อง และประดิษฐานไว้โดยมิได้นำกลับราชธานี จนทำให้มีการพบพระพุทธรูปจำนวนมหาศาล?
8. ข้อเสนอแนะ น่าจะได้มีการจับมือกันศึกษา สำรวจ ค้นคว้าเรื่อง 5 อาณาจักรที่ทับซ้อนกันบริเวณรอยต่อไทย-ลาว 1. สุวรรณโคมคำ 2. โยนกนาคนคร 3. หิรัญนครเงินยาง 4. เชียงแสน 5. ล้านช้าง อย่างจริงจังและจริงใจ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ จารึกวิทยา ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา มานุษยวิทยา คติชนวิทยา ฯลฯ”
นับเป็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ ทั้ง 6 ประเด็น
3. กรณี สปป.ลาวขุดพบพระพุทธรูปในดอนทรายแม่น้ำโขงครั้งนี้ เต็มไปด้วยเรื่องเล่า การคาดเดา การคาดการณ์ การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา
บางความเห็นก็เลยเถิด ล้ำเส้นมารยาทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
บ้างก็ว่า พระพุทธรูปอายุมากกว่า 500 ปี
นอกจากพบพระพุทธรูป บางองค์ยังมีอักษรธรรมล้านนา จารึก
องค์หนึ่ง ระบุ : 864 = พ.ศ.2045
อีกองค์ระบุว่า : 867 หรือ พ.ศ.2048
ทำให้มีการพยายามตีความต่อยอดต่อไปต่างๆ นานา
น่าคิดว่า คงจะเกิดประโยชน์ ถ้ามีการศึกษาร่วมกันอย่างจริงจัง ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ตามข้อเสนอแนะข้างต้น
อย่างไรก็ตาม คงต้องเคารพสิทธิการตัดสินใจของทางการลาว ว่าจะทำการศึกษาค้นคว้าในทางโบราณคดีต่อยอดต่อไปแค่ไหน อย่างไร
หรืออาจจะพอใจที่เก็บให้เรื่องดูลึกลับ ถกเถียง เป็นตำนานต่อไป
รอให้มี “อินเดียน่า โจนส์”มาเป็นพระเอกนำพิสูจน์ก็แล้วกัน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี