วันที่ 1 เมษายนพ.ศ. 2475 รัฐบาลพระยามโนฯได้ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภา อันเป็นปรากฏการณ์ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พระราชกฤษฎีกา ได้ระบุว่า
“1.ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี่เสีย และห้ามไม่ให้เรียกประชุมจนกว่าจะได้มีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ เมื่อได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามความในรัฐธรรมนูญนั้นแล้ว
2.ให้ยุบคณะรัฐมนตรีปัจจุบันนี้เสีย และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ กอปรด้วยนายกรัฐมนตรีหนึ่งนายกับรัฐมนตรีอื่นๆ อีกไม่เกินยี่สิบนาย และให้นายกรัฐมนตรีคณะซึ่งยุบนี้เป็นนายกฯของคณะรัฐมนตรีใหม่ กับให้รัฐมนตรี ผู้ซึ่งว่าการกระทรวงต่างๆ อยู่ในเวลานี้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีใหม่โดยตำแหน่ง รัฐมนตรีอื่นๆ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
3.ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นผู้ใช้อำนาจต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้ไว้แก่คณะรัฐมนตรี
4.ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี
5.ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้ ส่วนบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญนั้นให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป”
ทดลองปกครองในระบบใหม่ที่เรียกว่าราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมาได้ยังไม่ถึงปี การออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาครั้งนี้ จึงทำให้ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวการพัฒนาประชาธิปไตยในสยามมีข้อสงสัยหลายข้อ
ข้อแรก โดยการปิดสภาครั้งนี้ ดูคล้ายกับการยุบสภานั่นเอง เพราะไม่ให้มีการเรียกประชุมสภาชุดที่ถูกปิดไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรชุดใหม่ แต่ที่ต่างจากการยุบสภาก็คือไม่ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งว่าเป็นวันใด
ข้อที่สอง ถ้าเป็นการยุบสภาอย่างที่มีการปฏิบัติสืบต่อๆ กันมาในภายหลัง รัฐบาลที่อยู่ในตอนยุบสภาจะเป็นรัฐบาลที่สืบเนื่องต่อไป จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งและมีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่แล้ว แต่ปรากฏว่าในกรณีปิดสภาฯนี้กลับให้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่มีรัฐมนตรีเก่าบางตำแหน่ง ยังอยู่ต่อไป และรัฐมนตรีเก่าบางตำแหน่งให้พ้นหน้าที่ไป
ข้อที่สาม ระหว่างที่ปิดสภาฯนี้ ได้ให้คณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจนิติบัญญัติได้เอง
ข้อที่สี่ กรณีที่ให้รอการใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้
ดังนั้นจึงไม่เหมือนกับการยุบสภา แต่คล้ายกันมาก ส่วนเหตุผลในการปิดสภา
“สภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ คงประกอบด้วยสมาชิกซึ่งตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราว ……เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการสมควรที่สภา จะพึงดำริการเปลี่ยนแปลงในนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจ…บัดนี้ ปรากฏว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากแสดงความปรารถนาแรงกล้า ที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้น โดยวิธีการอันเป็นอุบายในทางอ้อม ที่จะบังคับข่มขู่ให้สภาต้องดำเนินการไปตามความปรารถนาของตน เป็นการไม่สมควรที่เห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่าจะประชุมกันบัญชาการของประเทศโดยความสวัสดิภาพไม่ได้แล้ว”
เหตุผลที่อ้างโดยเปิดเผยจึงเป็นเรื่องการขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ แต่เหตุผลจริงๆ ในการปิดสภาครั้งนั้นอาจต้องดูในเรื่องอื่นด้วย
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี