อลัน เดอร์โชวิตซ์ (Alan Dershowitz) ปัจจุบัน อายุ 86 ปี เริ่มสอนหนังสือที่โรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งแต่ปี 2507 ในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ อีกสามปีต่อมา เขากลายเป็นศาสตราจารย์อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของโรงเรียนกฎหมายแห่งนี้ ในวัย 29 ปี และสอนเรื่อยมาจนถึงปี 2556 จึงขอรีไทร์ ในวัย 75 ปี
ตลอดระยะเวลา 60 ปี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญาและรัฐธรรมนูญสหรัฐ เดอร์โชวิตซ์ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในห้องบรรยายหรือตามห้องสมุดต่างๆ เท่านั้น แต่ยังนำความรู้ทางกฎหมายที่มีไปใช้ในภาคปฏิบัติด้วยการรับว่าความให้กับบุคคลต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะมหาเศรษฐีและบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ เช่น
เคลาส์ ฟอน บูโร (Claus von Bulow) นักกฎหมายและทนายความชื่อดัง ที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามฆาตกรรมภรรยาในคฤหาสน์ตัวเองที่รัฐ Rhode Island โดยศาลชั้นต้นพบว่า บูโร มีความผิดและตัดสินจำคุก 30 ปี ต่อมา บูโรได้จ้างให้ เดอร์โชวิตซ์ เข้ามาร่วมในทีมทนายของเขาในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า บูโรไม่มีความผิด ส่วนภรรยาของเขา ถึงแม้ไม่เสียชีวิต แต่ก็ต้องนอนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราไปถึงอีก 28 ปี จึงเสียชีวิต
โอ. เจ. ซิมสัน (O.J. Simpson) นักอเมริกันฟุตบอลและดาราชื่อดังของสหรัฐ ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรมอดีตภรรยาตัวเองพร้อมกับเพื่อนชายของเธอ คดีนี้ถือเป็นคดีที่โด่งดังมากในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 โดยซิมสันได้ว่าจ้างทีมทนายฝ่ายจำเลยที่ได้รับฉายาว่า “Dream Team” เพราะแต่ละคนล้วนถือว่าเป็นสุดยอดทนาย นักกฎหมายของสังคมอเมริกันในเวลานั้นและ เดอร์โชวิตซ์ ก็เป็นหนึ่งใน “Dream Team” นี้ด้วย และเช่นเคย คณะลูกขุนตัดสินว่า โอ. เจ. ซิมสันไม่มีความผิด
เจฟฟรีย์ เอปสไตน์ (Jeffrey Epstein) นักธุรกิจและอภิมหาเศรษฐี ที่ถูกจับในความผิดฐานค้าแรงงานเซ็กซ์และล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กผู้หญิงจำนวนมาก เมื่อปี 2550 คดีนี้ เดอร์โชวิตซ์ ในฐานะทนายความฝ่ายจำเลยใช้ชั้นเชิงทางกฎหมายไปทำข้อตกลงลับกับฝ่ายอัยการให้เอปสไตน์ได้รับโทษเพียง 18 เดือน และลดเหลือ 13 เดือนในเวลาต่อมา (อัยการคนนี้ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในรัฐบาลทรัมป์) ระหว่างถูกคุมขัง เจฟฟรีย์ยังออกไปทำงานข้างนอกได้ถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน และ 6 วันต่อสัปดาห์ โดยตอนค่ำก็กลับมานอนในคุกที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง
ภายหลังออกจากคุก เอปสไตน์ ถูกจับอีกครั้ง เมื่อกรกฎาคม 2562 ในข้อหาเดิม อย่างไรก็ตาม เดือนถัดมา เอปสไตน์ ผูกคอตัวเองตายเสียชีวิตในห้องขัง ระหว่างรอพิจารณาคดี ซึ่งการตายของเขาระหว่างถูกคุมขังยังคงเป็นปริศนาอยู่จนทุกวันนี้ โดยเมื่อต้นปีนี้ ผู้พิพากษาพึ่งออกคำสั่งให้เปิดเผยเอกสารบางส่วนของคดีนี้ ซึ่งมีรายชื่อของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐถึงสองคน คือ บิล คลินตัน และ
โดนัลด์ ทรัมป์, สมาชิกราชวงศ์อังกฤษอย่างเช่นเจ้าชายแอนดรูว์ และบุคคลมีชื่อเสียงอีกจำนวนมาก
นอกจากนี้ เดอร์โชวิตซ์ ยังว่าความให้ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (Harvey Weinstein) ผู้สร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดชื่อดัง ที่ถูกจับในคดีข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงสาวชื่อดังจำนวนมาก และ ไมค์ ไทสัน (Mike Tyson) อดีตนักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวท ที่มักจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในคดีใช้ความรุนแรงกับเพศหญิง
สังเกตได้ว่าบรรดาลูกความของเดอร์โชวิตซ์ส่วนใหญ่ มักจะเป็นบุคคลมีชื่อเสียงหรือมหาเศรษฐีที่มีคดีเกี่ยวกับการทำร้ายหรือล่วงละเมิดเพศหญิง และแน่นอนคนดังอีกหนึ่งคนก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใช้เนติบริการของเดอร์โชวิตซ์แต่ในกรณีของทรัมป์นั้นไม่ใช่คดีที่เกี่ยวกับสุภาพสตรี แต่เป็นคดีระดับชาติ กรณีที่ถูกยื่นถอดถอนให้ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐเมื่อต้นปี 2563 ด้วยสองข้อกล่าวหา คือ หนึ่ง ใช้อำนาจในทางมิชอบ (abuse of power) และ สอง ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมของรัฐสภา (obstruction of Congress)
คดีนี้ทรัมป์ถูกกล่าวหาว่า อาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในทางการเมือง ด้วยการโทรศัพท์ไปเจรจาต่อรองกับประธานาธิบดียูเครนว่าจะตัดงบช่วยเหลือทางทหาร เพื่อแลกกับการขุดคุ้ยข้อมูลการทำธุรกิจในยูเครนของลูกชายโจ ไบเดน ที่เวลานั้นกำลังจะลงเลือกตั้งแข่งกับทรัมป์ โดยหลังจากที่รัฐสภาตั้งกรรมาธิการสอบสวนเรื่องนี้ รัฐบาลทรัมป์ก็พยายามขัดขวาง ไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน
การเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษากฎหมายของทรัมป์ครั้งนี้ ทำให้เดอร์โชวิตซ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะก่อนหน้านั้นเขาเคยสนับสนุนฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งของทรัมป์ แต่พอทรัมป์ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีเขาก็เปลี่ยนมาสนับสนุนทรัมป์ ออกรายการทีวีให้ความเห็นด้านกฎหมายปกป้องทรัมป์อยู่เป็นประจำ และในปี 2564 เดอร์โชวิตซ์ได้ใช้สิทธิในฐานะศาสตราจารย์เกียรติคุณ โรงเรียนกฎหมายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เสนอชื่อ เจเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของทรัมป์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว ในยุคของทรัมป์ เข้าชิงรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพจากบทบาทในการร่วมผลักดันข้อตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับ 4 รัฐอาหรับ คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน,โมร็อกโก และซูดาน ยอมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับปกติกับอิสราเอล หรือที่เรียกกันว่า “ข้อตกลงอับราฮัม” (Abraham Accords)
การได้รับเสียงก่นด่า ทำให้ เนติบริกรของทรัมป์ ต้องออกแถลงการณ์ว่า....ถ้าเป็นคดีหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ในฐานะศาสตราจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญ เขาไม่อยู่ฝ่ายใดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเดโมแครตหรือรีพับลิกัน นอกจากฝ่ายรัฐธรรมนูญ การรับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมายของทรัมป์ในคดีถอดถอนครั้งนี้ ก็เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการรับเงินหรือค่าตอบแทนใดๆ และถ้าได้ก็จะเอาไปบริจาคทั้งหมด......
ก่อนการลงมติที่จะถอดถอนทรัมป์ในที่ประชุมวุฒิสภา เดอร์โชวิตซ์ แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทางกฎหมายเพื่อปกป้องทรัมป์ในสองประเด็นคือ
1.การทำผิดถึงขั้นถูกถอดถอนจะต้องเป็นอาชญากรรมชั้นสูงที่พิสูจน์โดยหลักฐานและข้อมูลเชิง
ประจักษ์ที่ชัดเจน อันเป็นที่ยอมรับให้เห็นแล้วว่าเป็นการกระทำผิดขั้นร้ายแรง ไม่ใช่ความผิดเล็กน้อยซึ่งไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเด่นชัดแสดงให้เห็นแต่ประการใด
2.การที่ประธานาธิบดีจะทำอะไรก็ตาม ที่ทำให้เขาได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์ของสาธารณะนั้น การกระทำดังกล่าวนี้ ไม่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ที่จะนำไปสู่การถอดถอนได้
ตรรกะทางกฎหมายพิสดารทั้งสองประเด็นนี้ทำให้เนติบริกรของทรัมป์ได้รับการประณามและเสียงก่นด่าไปทั่วประเทศอีกครั้ง เพราะในสมัยที่ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ถูกดำเนินการถอดถอนเดอร์โชวิตซ์ ออกมาเล่นงานคลินตันโดยการเสนอทฤษฎีทางกฎหมายว่า...แม้การกระทำผิดของคลินตันจะไม่ใช่ความผิดถึงขึ้นเป็นคดีอาญา แต่ก็ถูกถอดถอนได้เพราะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและเป็นอันตรายต่อเสรีภาพประชาชน....
ส่วนประเด็นที่สอง เนติบริกรของทรัมป์ ก็กำลังบอกว่า....การกระทำใดใดก็ตามของประธานาธิบดี ล้วนเป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม.....
ภายหลังทรัมป์รอดพ้นจากการถูกถอดถอน เพราะเสียงถอดถอนมีไม่ถึงสองในสามของที่ประชุมวุฒิสภา เดอร์โชวิตซ์ก็อาศัยสายสัมพันธ์ที่มีกับรัฐบาลทรัมป์ในการล็อบบี้ช่วยเหลือลูกความอีกหลายคนของเขาให้ได้รับการลดโทษ บรรเทาโทษ หรืออภัยโทษจากการกระทำความผิด
ครับ....ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า....เนติบริกรไทยจะประยุกต์เอาหลักกฎหมายพิสดารจากเนติบริกรอเมริกันไปใช้ในคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งในประเด็นใดได้บ้าง.....
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี