ขณะนี้ อยู่ในห้วงเวลาที่ประชาชนและบริษัทเอกชนทั้งหลาย สามารถใช้สิทธิตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ
หลายคนสงสัยว่า กระตุ้นอย่างไร? กระตุ้นแล้วได้อะไร? เมืองรองคือที่ไหน? ฯลฯ
1. จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2562 (ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19) มีจำนวนประมาณ 39 ล้านคน
แต่ในปี 2566 มีจำนวนประมาณ 28 ล้านคน
ในปี 2567 ขณะนี้ผ่านมาครึ่งทาง นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยแล้ว 14 ล้านคน
น่าจะมากกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน
แต่สะท้อนว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ น่าจะยังไม่ถึงก่อนโควิด
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอีกหลายปัจจัย เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก อาจส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
ครม.จึงคลอดมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเข้ามาเสริม
เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567
2. การประชุม ครม.สัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คือ
เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)
เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)
กำหนดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนา ในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และในจังหวัดอื่นภายในประเทศ ช่วง Low Season
3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)
ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนา ภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567
ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง
หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรอง
4. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) เที่ยวเมืองรอง
ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าบริการได้ ดังนี้
1) ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
2) ค่าที่พักในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
3) ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย
4) ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท
ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น
5. จังหวัดท่องเที่ยวรอง คือที่ไหน?
“จังหวัดท่องเที่ยวรอง” ประกอบด้วย 55 จังหวัด และพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด
โดยจังหวัดท่องเที่ยวรอง ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดตรัง จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดนครพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพะเยา จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร จังหวัดยะลา จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดระนอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดเลย จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากนี้ ให้รวมถึงพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น อำเภอเขาพนม อำเภอปลายพระยา และอำเภอลำทับ ในจังหวัดกระบี่
อำเภอบ้านบึง อำเภอพนัสนิคม อำเภอพานทอง และอำเภอหนองใหญ่ ในจังหวัดชลบุรี
และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอกุยบุรี อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย
จะเห็นว่า หลายจังหวัดที่แหล่งท่องเที่ยวชื่อเสียงระดับโลกเพียงแต่ภาพรวมยังไม่มีนักท่องเที่ยวไปมากเท่าจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น การตลาด การเดินทางระยะทาง ฯลฯ
6. กระตุ้นแล้วได้อะไร? คุ้มหรือไม่?
กระทรวงการคลัง ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
(1) การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท
โดยคำนวณจากจำนวนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จำนวน 2,000 ราย
ประมาณการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสัมมนารายละ 3 ล้านบาท รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท
(2) การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 581.25 ล้านบาท
โดยคำนวณจากจำนวนบุคคลธรรมดาที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 250,000 ราย
แลกกับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ นั่นคือ ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ
สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน
ทั้งหมด จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
7. เมืองรอง ไม่จำเป็นต้อง “รอง” ตลอดไป
ปัจจุบัน มองว่า มีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเช่นนี้เพราะโครงสร้างการท่องเที่ยวในประเทศไทยเรา ค่อนข้างกระจุกตัว
แม้ว่าแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองหลายแห่ง “ไม่เป็นรอง” เลยก็ตาม
ถ้าดูข้อมูลเชิงลึกการท่องเที่ยวก่อนโควิด
ช่วงปี’62 ข้อมูลรายงานจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า
เมืองรองที่มีรายได้ท่องเที่ยวมากสุด ได้แก่
เชียงราย กวาดรายได้ประมาณ 17,300 ล้านบาท
ตราด 13,649 ล้านบาท
นครศรีธรรมราช 12,334 ล้านบาท
ตรัง 7,266 ล้านบาท
และ สตูล 7,025 ล้านบาท
ส่วนเมืองรองที่มีสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวมากสุด ได้แก่
นครศรีธรรมราช 2,812,451 คน
อุดรธานี 2,350,989 คน
เชียงราย 2,327,225 คน
พิษณุโลก 2,306,276 คน
และ นครนายก 2,081,529 คน
ที่น่าสนใจเพิ่มเติม คือ ช่วงนั้น เมืองรองที่มาแรงมากคือ จังหวัดบุรีรัมย์ จันทบุรี
โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ อัตราการเติบโตของยอดการจองที่พักสูงมาก เพราะมีการจัดงานโมโตจีพีที่บุรีรัมย์มีทั้งคนไทยและต่างชาติเดินทางไปร่วมงาน (ปัจจุบันเติบโตกว่าเดิมมาก)
จะเห็นได้ว่า การจัดงานที่อยู่ในความสนใจระดับชาติ หรือนานาชาติ มีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จากการท่องเที่ยวของเมืองรอง ให้ก้าวกระโดดได้
นอกจากนี้ พบว่า พฤติกรรมการทานอาหารระหว่างท่องเที่ยวเมืองรอง ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวนิยมร้านข้างทางหรือ street food
รองลงมา คือ ร้านอาหารที่มีการรีวิว/บอกต่อ และร้านที่มีมุมถ่ายรูปสวยๆ
ระยะเวลาเฉลี่ยของทริปค้างคืน เท่ากับ 2.8 วัน และสำหรับแบบไม่พักค้างคืนเท่ากับ 1 วัน
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแบบพักค้างคืนเท่ากับ 5,505 บาท/ คน/ทริป และแบบไม่พักค้างคืนเท่ากับ 2,750 บาท/คน/ทริป
ส่วนสิ่งที่ภาครัฐต้องพัฒนาเพื่อช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เช่น เส้นทางไปแหล่งท่องเที่ยว ถนนชำรุด ความสะดวกในการเดินทาง หรือแหล่งท่องเที่ยวไม่สะอาด เป็นต้น
สุดท้าย... การส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง ก็คือการฉีดเงินเข้าไประบบเศรษฐกิจของเมืองรองเหล่านั้นเอง
ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ในภาคธุรกิจที่ต่อเนื่อง คึกคัก เพิ่มเติมจากฐานเศรษฐกิจเดิมในแต่ละจังหวัด
นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดเหล่านั้น ทำให้ประชาชนและธุรกิจในพื้นที่ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
หากมีการวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนา เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจหลักในพื้นที่เมืองรอง ในอนาคต เมืองรองก็อาจจะไม่จำเป็นต้อง “รอง” ตลอดไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี