เพราะโลกนี้มีเรื่องต้องห้ามอยู่มากมาย มีกฎเกณฑ์ กฎหมายที่ใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างกฎเพื่อจัดระเบียบ เพื่อความสงบสุขของสังคมอย่างเดียวแต่มันกลับมีบางอย่างที่ในหลายๆ สังคมก็มองว่าไม่ถูกไม่ควร ยังมีข้อห้ามที่เราอาจจะรู้สึกแปลกๆ และรู้สึกว่ามันร้ายแรงมากเกินไป เช่น ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีกฎหมายห้ามแสดงความรักกันในที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นการกอด จับมือหรือจูบ อิตาลีมีกฎหมายห้ามคู่รักจูบกันบนรถ และในบางประเทศการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายมีโทษตั้งแต่จำคุกและโทษหนักไปจนถึงประหารชีวิต
คำพูดมากมายที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ทั้งในละคร ภาพยนตร์ ซีรี่ส์หรือบทเพลงอย่างประโยคที่ว่า รักก็คือรัก ความรักชนะทุกอย่าง ช่างดูสวยงามโรแมนติกเสมอ แต่เมื่อมาดูที่สังคมปัจจุบันทำให้เราเห็นแล้วว่าต่อให้รักก็คือรักแต่ความรักยังไม่สามารถชนะได้ทุกอย่าง เพราะจากที่ลองหาดูข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงความรักในประเทศต่างๆก็พบกฎหมายที่น่าสนใจและน่าตั้งข้อสงสัยชวนกันมาถกถามอยู่มากเช่นกัน หากคุณเป็นคู่รักชายหญิงก็อาจจะไม่ได้มีข้อห้ามหรือกฎหมายที่ร้ายแรงอะไรนอกจากการแสดงความรักต่อกันในที่สาธารณะของในบางประเทศ แต่หากคุณมีหวานใจหรือคนรักเพศเดียวกันการจะแสดงความรักในที่สาธารณะแค่จะจับมือหรือกอดกัน คุณอาจจะโดนทำร้ายร่างกายได้ทันทีโดยผู้ที่กระทำไม่มีความผิด คุณอาจจะต้องติดคุก หรือร้ายแรงที่สุดของโทษที่คุณจะได้รับคือการถูกประหารชีวิต ! แค่ได้รับรู้ว่าการรักกันของมนุษย์ที่เป็นเพศเดียวกันต้องมีกฎ ข้อห้ามและมีโทษที่ร้ายแรงมากถึงขนาดต้องทำร้ายร่างกายและเอาชีวิตกันไปมันก็ทำให้รู้สึกเศร้าในหัวใจมากเหลือเกิน
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างเรียนรู้และร่วมสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่แค่ของชายหรือหญิงแต่เป็นทุกๆ เพศที่มีอยู่ (แล้วแต่ว่าเขาอยากเรียกตัวเองว่าอะไร) ทั้งเรื่องกฎหมายการสมรสเท่าเทียม รัฐสวัสดิการ การไม่เลือกปฏิบัติหรือสิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือศักดิ์ศรีในการเป็นมนุษย์ที่เราทุกคนนั้นมีเหมือนกัน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศเช่นกันที่มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องผิดบาป ผิดหลักศาสนา เป็นสิ่งที่ต้องจัดการให้เด็ดขาดอย่างประเทศในกลุ่มอาหรับและแอฟริกา เช่น แอลจีเรีย, คูเวต, เลบานอน, กาตาร์ ฯลฯ การมีพฤติกรรมรักร่วมเพศมีโทษจำคุกสูงสุดอาจเป็นเวลา 10 ปี และในประเทศอิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย, ซูดาน, เยเมน, มอริเตเนีย มีโทษสูงสุดคือการประหารชีวิต
ไม่ใช่เราไม่เห็นการพยายามเรียกร้องจากกลุ่มคนในประเทศเหล่านี้เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกันทางเพศแต่ด้วยตัวบริบททางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อหรือแม้แต่ศาสนาก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามและยอมรับความหลากหลายที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนได้ ดังนั้น ความรักของเพศที่หลากหลายที่ถูกมองว่าผิดแปลกไปจากความรักของคู่ชายหญิง การอยู่ในสังคมและประเทศที่กล่าวมาเบื้องต้นก็อาจจะทำได้แค่เก็บมันเอาไว้ให้เป็นความลับ เพื่อรอวันที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและเข้าใจในความหลากหลายเพื่อความรักที่ไม่ใช่ความรักจะได้เบ่งบานอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับมัน
เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยเราได้รับข่าวดีเรื่องของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านร่างกฎหมายครั้งที่ 1 จากสภาและกำลังร่วมลุ้นกันต่อให้ผ่านในด่านที่ 2 กันในเร็วๆ นี้ กว่า 22 ปีที่ไทยที่เราต่อสู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของคนทุกเพศ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำผลักดันความเสมอภาคในสังคม หากครั้งนี้เราสามารถรับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน เป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียและประเทศที่ 37 ของโลกที่จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้แต่หวังว่าครั้งนี้ความรักจะชนะอุปสรรคทางเพศสภาพได้จริงๆ อย่างที่เคยได้ยินกันมาเสียที และความรักก็คงไม่ต้องเป็นความลับอีกต่อไป
มอบแด่ทุกความรักที่กำลังจะเบ่งบาน มอบแด่ทุกความต้องการที่อยากเปลี่ยนแปลง ขอให้ทั่วทุกมุมโลกมี Pride is every month ไม่ใช่แค่เดือนของ Pride มั้ง? อีกต่อไปค่ะ
กาญจนา มะลิงาม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี