ประสบการณ์ทำงานกับสำนักข่าวต่างประเทศมากว่าสี่ทศวรรษพบว่าที่อเมริกาเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในประเทศไหนได้ มักเกิดจากการชักใยของนักการเมืองภายใน และนักวิชาการร่านดอลลาร์ของประเทศนั้นๆ ในประเทศไทยก็เช่นกัน ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อมีนักธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ เข้ามาสู่วงการเมือง มีรายงานว่าธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ ใช้เงินนับร้อยล้านบาทจ้างล็อบบี้ยิสต์และบริษัทประชาสัมพันธ์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อวิ่งเต้นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐให้โจมตีใส่ร้ายทำลายสถาบันสูงสุดของไทย ที่ธุรกิจการเมืองทุนสามานย์มองว่า เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศตามอำเภอใจของตน
ตั้งแต่ธุรกิจการเมืองทุนสามานย์จ้างลอบบี้ยิสต์และบริษัทประชาสัมพันธ์ในอเมริกาทำประชาสัมพันธ์ธุรกิจการเมืองทุนสามานย์พร้อมๆ กับสร้างข่าวในแง่ลบต่อสถาบันฯคือ ที่มาของสหรัฐแทรกแซงกิจการภายของประเทศไทยอย่างย่ามใจ ทุกครั้งที่มีนักการเมืองและนักวิชาการไทยชี้ทางให้ จึงไม่ประหลาดใจเมื่อมีนักการเมืองรุ่นใหม่ใช้วิธีการเดียวกันกับธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ คือคลานไปหาล็อบบี้ยิสต์ในอเมริกา ช่วยวิ่งเต้นวุฒิสภาให้แทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย ไปพร้อมๆ กับการยกหูชูหางนักการเมืองรุ่นใหม่ สังคมไทย จึงได้เห็นความกร่างของวุฒิสภาสหรัฐ กระโดดเข้ามาปกป้องพรรคก้าวไกล
แถลงการณ์ ในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ของ เบน คาร์ดิน ประธานกรรมาธิการ(กมธ.)ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ แสดงความกังวลถึงคดียุบพรรคก้าวไกลคาร์ดินเรียกร้องให้ไทย “คงไว้ซึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจต่อคุณค่าประชาธิปไตยที่พวกเรามีร่วมกัน” และขอให้ภาครัฐดำเนินการบนหลักนิติรัฐและกฎหมาย รวมถึงเคารพเสียงประชาชนที่ลงคะแนนให้ผู้แทนพรรคก้าวไกลจนได้ที่นั่งในสภามากที่สุด
นายคาร์ดินโวยวายปกป้องพรรคก้าวไกล เพราะวุฒิสภาสหรัฐบางคนกับพรรคก้าวไกลมีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯเหมือนกันนายคาร์ดินจึงโมเมเอาว่าการละเมิด มาตรา 112เป็นความเห็นต่างทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐไม่ได้ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเหมือนในประเทศยูเครน ในอัฟกานิสถานและในสหภาพพม่าเนื่องจากว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้ทันอเมริกาและนักธุรกิจการเมืองทุนสามานย์
และที่น่ากังวลมากกว่านักการเมืองรุ่นใหม่ไร้วุฒิภาวะ คือ นักวิชาการและเทคโนแครต ที่แทรกซึมอยู่มหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการคอยชักใยให้อเมริกาแทรกแซงกิจการภายในของไทย ทางด้านเศรษฐกิจการค้าที่พยามยามขวางไม่ให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากความเป็นทาสเปโตรดอลลาร์ เป็นอิสระทางค้าและเงินตราต่างประเทศ
สำนักข่าววีโอเอ ซึ่งเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกา รายงานเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ว่า ประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS กลุ่มชาติกำลังพัฒนาประกอบด้วย บราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย และอัฟริกาใต้ ที่วีโอเอระบุว่า นักวิชาการไทยไม่เห็นด้วย และ อ้างคำสัมภาษณ์ของ นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์นักวิชาการ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า..
“BRICS เริ่มกลายเป็นความพยายามทางการเมืองต่อต้านตะวันตกมากจนเกินไปโดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มบริกส์ ต้องการสร้างทางเลือกอื่นขึ้นมาแทนเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา และระบบการเงินโลกที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกดังกล่าว สมาชิกบริกส์ได้สร้าง ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ขึ้นมา (NewDevelopment Bank) ที่ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของธนาคารโลก…BRICS เริ่มต้นในฐานะรูปแบบหนึ่ง เป็นกลุ่มภูมิเศรษฐศาสตร์ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าทางกลุ่มกลายมาเป็นกลุ่มก้อนหมู่คณะทางภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าเดิม รูปแบบของ BRICS กำลังเปลี่ยนไป กลายมาเป็นแนวร่วมภูมิรัฐศาสตร์ต่อต้านตะวันตก”
จะเห็นได้ว่า นักวิชาการฝักใฝ่สหรัฐมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมือง ไม่ได้ให้ความสนใจต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ดังที่ นายมาริษ สงวนพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย กล่าวว่า “บริกส์ มีบทบาทสำคัญในระบบพหุภาคีและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ในซีกโลกใต้ซึ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศเรา...เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง การเข้าร่วมบริกส์จะช่วยเสริมบทบาทให้ไทยในเวทีโลกและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการค้าการลงทุนความมั่นคงอาหารและพลังงาน” นายมาริษกล่าวในแถลงการณ์และย้ำว่า แต่ละประเทศล้วนแต่ตัดสินใจเป็นผลประโยชน์ของชาติตนเอง และไทยต้องการทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกราย แม้มีความเห็นต่างกันก็ตาม
อย่างไรก็ตาม นายฐิตินันท์ เชื่อว่า ความพยายามเข้าร่วมกลุ่มของไทยนั้นเกิดจากการถูกชี้นำผิดๆ และหลงไปตามวาระของรัฐสมาชิกสำคัญอย่างจีนและรัสเซีย “รัฐบาลตะเกียกตะกายที่จะสร้างผลงาน ตามมุมมองของผม BRICS คือเส้นทางที่ถูกชี้นำผิดๆ ที่จะโชว์ผลงาน มันกลับนำพาไทยตกอยู่ในวาระของประเทศอื่นๆ ไทยต้องการวางตัวเป็นกลางมากกว่าที่เป็นอยู่”
หากมองจากพลวัตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จะพบว่า เงินดอลลาร์สหรัฐที่มีอิทธิพลครอบงำการค้าโลกมากว่าครึ่งศตวรรษกำลังเสื่อมถอยด้อยคุณค่าลง เมื่อกลุ่ม BRICSเริ่มใช้สกุลเงินในประเทศสมาชิกซื้อขายแลกเปลี่ยนค้าด้วยเงินตราของตัวเอง เงินหยวนของจีน เงินรูเบิลของรัสเซีย เงินรูปีของอินเดียตลอดถึงเงินบาทของไทยแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้ในหลายประเทศ ที่สำคัญดอลลาร์ที่สหรัฐทำข้อตกลงผูกมัด 50 ปีกับซาอุดีอาระเบียให้ใช้เงินดอลลาร์ซื้อขายน้ำมันตั้งแต่ปี 1974ข้อผูกมัดเปโตรดอลลาร์ หมดอายุตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2024 ที่ซาอุดีอาระเบีย ไม่ต่อสัญญาเปโตรดอลลาร์
ซาอุดีอาระเบียเศรษฐีน้ำมันรวยที่สุดในโลกและเป็นหนึ่งใน 10 สมาชิกบริกส์ ที่หันมาใช้เงิน “ริยาด” ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเงินหยวนเงินรูเบิ่ล และตระกูลอื่นๆ ในกลุ่มบริกส์ตามที่ตกลงกันต่อไป นี่คือสาเหตุใหญ่ที่สหรัฐทนไม่ได้ลากนักวิชาการในเครือข่ายออกมาขัดขวางไม่ให้ไทยเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์
กลุ่ม BRICS เป็นการรวมตัวของประเทศที่กำลังพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว ในระยะเริ่มแรก ปี 2549 เป็นการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของ 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) 4 ประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าของตัวย่อของชื่อกลุ่ม BRIC ในปี 2553 ประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) จะเข้าร่วมจึงมีตัว S เติมเข้าไป จากนั้นเมื่อต้นปี 2567 อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน ได้รับการตอบรับเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบันกลุ่ม BRICS มีสมาชิกรวม 10 ประเทศและในปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ต้องการเข้าร่วมกลุ่มมากกว่า 40 ประเทศ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กล่าวว่าในเชิงโอกาสทางการค้า การลงทุน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในมิติต่างๆ นั้นด้านการส่งเสริมการส่งออกประเทศสมาชิก BRICS มีความต้องการสินค้าที่หลากหลายประเภท เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายการส่งออกสินค้า เช่น สินค้าเกษตร อาหารแปรรูป รถยนต์ เครื่องจักร และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ
ทั้งนี้ ในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม BRICS มูลค่า 57,211.0 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 20.1% ของการส่งออกทั้งหมด มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยที่ 0.4% ซึ่งสวนทางกับการส่งออกในภาพรวมที่ติดลบ 1.0% โดยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย
“การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะช่วยให้ไทยเข้าถึงตลาดของกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและจำนวนประชากร ในปี 2565 ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของขนาดเศรษฐกิจโลก สัดส่วน 28.3% ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งสิ้น 28.6 ล้านล้านดอลลาร์ เติบโต 5.6% หรือ มากกว่าอัตราขยายตัวของโลกที่ 3.1% สะท้อนถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก”
นอกจากนี้ กลุ่ม BRICS ยังมีจำนวนประชากรรวมมากถึง 3,617.6 ล้านคน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก หรือ สัดส่วน 45.5% สะท้อนถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการสินค้ามาก ทำให้ผู้ส่งออกมีโอกาสสูง ในการขยายตลาดและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ
สหรัฐอเมริกาที่ใช้เปโตรดอลลาร์ ครอบงำเศรษฐกิจการค้าโลกมากว่า 50 ปี วันนี้มีกลุ่มบริกส์ผงาดขึ้นมา บดบังบารมีจึงพยามยามดึงประเทศไทย ให้อยู่ใต้ปีกอีแร้งแก่ต่อไป
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี