ระหว่าง “ยาบ้า” กับ “กัญชา” เป็นคนละเรื่อง คนละสปีชีส์กันเลยก็ว่าได้
“กัญชา” ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ การแพทย์ การรักษาโรคอื่นๆ การแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ
แต่ “ยาบ้า” ไม่มีประโยชน์อื่นได้เลย นอกจากเป็น “ยาเสพติดให้โทษ”
การจะดึง “กัญชา” กลับไปเป็น “ยาเสพติด” ผิดกฎหมายเหมือน “ยาบ้า” มันจึงเป็นเรื่องบ้าๆ
เหมือนรัฐบาล “เมาหมัดจากกรณียาบ้า 5 เม็ด” ก็เลยพาลมาลงเอากับ “กัญชา”
พยายามดึงเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด หันกลับ 180 องศา
ต่อไป ถ้าจับคนปลูกกัญชา 1 ต้น ก็โดนจับ เพราะเป็นยาเสพติด โดยไม่ต้องดูที่พฤติกรรมว่าเขานำไปใช้ทำอะไร เอาไปเสพ หรือเอาไปรักษาทางการแพทย์ ทางสุขภาพ
ทั้งๆ ที่ การนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด จนผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้นมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์มากมาย มีวิสาหกิจปลูกกัญชา แปรรูปกัญชาไปเป็นสินค้าต่างๆ มากมาย ฯลฯ
ลองนึกถึงมอเตอร์ไซค์... มีการนำไปใช้ประโยชน์ ขับรถส่งอาหาร ส่งพัสดุส่งคน แต่มีบางคนเอามอเตอร์ไซค์ไปขับส่งยาเสพติด หรือซ้อนท้ายมือปืน หรือรถซิ่ง ด้วยเหตุนี้ ควรจะออกกฎหมายควบคุมการใช้มอเตอร์ไซค์แบบที่ไม่พึงประสงค์ หรือควรให้มอเตอร์ไซค์เป็นสิ่งต้องห้ามเลย ?
1. ปัจจุบัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ดึง “กัญชา” กลับเป็นยาเสพติด
2 ปีก่อน กระทรวงสาธารณสุขเสนอถอดกัญชาออกจากยาเสพติด
แต่ผ่านไป 2 ปี จะเสนอให้เอากลับไปเป็นยาเสพติด ควรต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน ว่ากัญชาที่เคยมีประโยชน์ในทางการแพทย์ การสุขภาพ มันไม่มีแล้ว หรืออย่างไร?
แต่ไม่ควรจะอ้างว่า เพราะมีการเสพสันทนาการ เพราะการสันทนาการนั้นไม่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว หากยังมี ก็ควรสังคายนาระบบกำกับควบคุมดูแล มิใช่จะเอากลับไปเป็นยาเสพติด
จะใช้เพียงทัศนคติ ความรู้สึก อคติ ไม่ได้
หากมีผลกระทบทางสังคม ก็ต้องออกกฎหมายมาควบคุมและบังคับใช้
2. กัญชาเป็นยา เป็นสมุนไพรรักษาโรค ไม่ใช่ยาเสพติด
แพทย์หญิง จินตนา มโนรมย์ภัทรสาร แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ให้ความเห็นเรื่องความพยายามนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ระบุว่า ส่วนตัวให้กัญชาเป็นยา นี่ไม่ใช่ยาเสพติด แต่เป็นสมุนไพรรักษาโรค
“..คนไทยใช้กัญชา เป็นอาหาร เป็นยาตามบ้าน ใช้รักษาตัวเอง สามารถปลูกเองได้
แต่ที่มีปัญหา คือ บางทีมันเล็ดลอดไปถึงเด็ก เราแค่ต้องไปควบคุม และต้องหาวิธีควบคุมให้ปลอดภัย
ถ้าเอากลับไปเป็นยาเสพติด มันก็ต้องคุมกันแบบไม่ให้ลืมตาอ้าปาก ไม่ใช่คุมแค่เด็กแต่คุมทุกคน คนป่วยก็ได้รับผลกระทบด้วย หรือให้แต่หมอใช้ ชาวบ้านใช้ไม่ได้ ทั้งที่กัญชาเป็นสมุนไพร ที่ชาวบ้านใช้มานานแล้ว แต่เราจะไปริบสิทธิ์ตรงนั้น
ยากัญชา แก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ ทำให้หลับ ทำให้อยากอาหาร ทำให้ภูมิต้านทานสมดุล และมีฤทธิ์ในการช่วยรักษามะเร็ง มีผลการศึกษาชัดเจน โรคเอดส์ก็รักษาได้ แต่เราไม่ใช้ยากัญชาตัวเดียว แต่ต้องใช้ร่วมกับยาสมุนไพร ตัวอื่นด้วย รักษาอัมพฤกษ์ อัมพาต พาร์กินสัน โรคผิวหนัง พวกนี้ มีสูตรทั้งหมด
เรามียาเยอะมาก ที่ใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบ และประเทศไทย เป็นประเทศเดียว ที่มีตำรับยาแบบนี้
เราไม่ได้แค่สกัดนำยามาใช้ เพราะเราใช้มานาน ต่างชาติรู้แค่นอนหลับ คลายเครียด แต่คนไทยทำให้กัญชา มีประสิทธิภาพมากกว่านั้น
ถ้าเอากลับเป็นยาเสพติด มันไม่สะดวก ในการใช้แล้ว จะขนย้าย จะปรุงยา วุ่นวายมากมันใช้ได้ แต่ยุ่งยาก สุดท้ายจะเลิกใช้กัน
ที่สำคัญ มันไปจำกัดสิทธิ์ประชาชน ที่ใช้มานานแล้ว
วันนี้ เขาใช้ในอาหาร คนป่วย เขาทานข้าวโรยกัญชา แกงไก่ ทำให้เจริญอาหาร แล้วเขากินอร่อย มันก็ดีต่อสุขภาพ มะเร็งมันมักจะกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เจ็บ คลื่นไส้ อาเจียน กัญชา ทำให้กินได้ นอนหลับ หายปวด มันออกฤทธิ์หลายอย่าง ก้อนมะเร็ง เขาใช้ตำรับผสมรักษา แม้แต่ยารักษาอาการติดฝิ่น หรือยาเสพติด ก็มีตำรับยาไปรักษา มีกัญชา เป็นหนึ่งในนั้น
หมอเองรักษาคนไข้ ทั้งจากโรค และอาการติดยาเสพติด หลายคนก็หาย
อย่างที่บอกมาตลอดว่า ชาวบ้าน เขาใช้กัญชาในชีวิตจริง เขามีประสบการณ์ตรง เขาใช้เป็น และมันเป็นวิถีของเขา โบราณมีบันทึกการใช้อย่างละเอียด นี่คือทางเลือกของประชาชน
ดังนั้น ก็ควรคุมให้เหมาะสม ระวังไม่ให้เข้าถึงเด็ก ระวังไม่ให้ใช้ในสถานศึกษา อย่าไปขายใกล้สถานที่เรียนหนังสือ จำกัดเวลาขาย จำกัดสถานที่ขาย คนขายต้องมีใบอนุญาต
ถ้าเห็นเด็กใช้ ผู้ปกครอง ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
ถ้ารู้ว่าเด็กซื้อมาจากไหน ร้านต้องรับผิดชอบด้วย
แล้วมีกฎหมาย ก็ต้องบังคับใช้จริงจัง อย่าละเลย แบบนั้น มีกฎหมายไป ก็ไร้ประโยชน์
แต่ถ้าเอากลับเป็นยาเสพติด มองว่าเป็นเรื่องเสียโอกาสของคนไทย ในการทำลายทางเลือกด้านการรักษาโรค
สิ่งที่ต้องการที่แท้จริง คือ กฎหมาย และการบังคับใช้อย่างจริงจัง
เรื่องต้องฝากไว้ให้คิด สังเกตดู เวลาไปจับยาเสพติดพวกที่ใช้เฮโรอีน ยาบ้า พอจับได้ ไปบอกว่าใช้กัญชา แล้วก็ไปตีข่าวกันไปแบบนั้น แต่ความจริงมันไม่ใช่เลย ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือกัญชา ถูกด้อยค่า ถูกทำลาย ถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายไปแล้ว” - แพทย์หญิง จินตนา กล่าว
3. ใช้กัญชาเลิกยาบ้า ผลวิจัยสหรัฐฯ-แคนาดา พบกัญชาใช้เลิกยาเสพติดรุนแรงได้
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่อความพยายามนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ระบุว่า
“..ท่านรู้หรือไม่ว่า กัญชา เป็นตัวช่วยให้คนเลิกยาเสพติดได้
ถ้านำกัญชากลับเป็นยาเสพติดแล้ว เราอาจจะเปิดให้ยาเสพติดระบาดยิ่งกว่าเดิม ทั้งยาบ้าทั้งเฮโรอีน ซึ่งเริ่มกลับมาแล้ว ในขณะเดียวกัน เราได้ตัดตัวช่วยที่สำคัญอย่างกัญชาทิ้งไป
สืบข้อมูล ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มประชุมขับเคลื่อนผลักดัน “กัญชา” เพื่อลดปัญหา “ยาบ้า” อาจนำไปสู่การได้มาซึ่งการคืนกลับมาสู่สังคมของผู้ที่ติดยาบ้า หรือยาเสพติดที่ร้ายแรงได้ เป็นไปตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (UNGASS 2016)
โดยประเทศไทยในฐานะภาคีจะต้องกำหนดให้มีมาตรการทางเลือกกับผู้เสพยาเสพติดเพื่อผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษา เช่น การนำมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) รวมถึงการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาปรับใช้เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างยั่งยืน
….กัญชายังมีบทบาทในฐานะเป็นสมุนไพรที่ช่วยทดแทนเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction)อีกด้วย โดยกัญชาได้ถูกนำมาเริ่มต้นนำมาใช้สารสกัดแคนนาบิไดออลทั้งในกัญชาหรือกัญชง เพื่อลดการติดยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ รวมทั้งเฮโรอีน รวมทั้งการใช้กัญชาเพื่อลดการติดโคเคนในแคนาดาอีกด้วย
โดยวารสารเกี่ยวกับการลดความรุนแรงจากยาเสพติดโดยตรงที่เรียกว่า Harm Reduction Journal ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562 นั้น คณะวิจัยชาวแคนาดาได้ทำการสำรวจประชากรชายและหญิงประมาณ 3,110 คน อายุเฉลี่ย 40 ปีโดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิต 1,700 คน หรือประมาณร้อยละ 83.7 และพบว่าผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อแทนใบสั่งยา เพื่อลดยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ เพื่อลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดบุหรี่ และทดแทนยาเสพติดอื่นๆ โดยงานวิจัยมีความเห็นแนะนำว่าการเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงกัญชาทั้งทางการแพทย์และนันทนาการอย่างมีการควบคุมให้เหมาะสม สามารถส่งผลทำให้ลดความรุนแรงจากโอปิออยด์, แอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาเสพติดอื่นๆได้
ต่อมา ผลการศึกษาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ในการศึกษาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดา ระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559-2561 พบว่าร้อยละ 25 ของผู้ที่ใช้กัญชานั้นเพื่อลดยาที่อันตรายหรือรุนแรงอย่างอื่นที่เรียกว่า “Harm Reduction” (เช่น เฮโรอีน, ฝิ่น, โคเคน, ยาบ้า, หรือแอลกอฮอล์) และพบเหตุผลที่มากที่สุดคือใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทถึงร้อยละ 50และการทดแทนกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ที่ผิดกฎหมายอีกร้อยละ 31
หัวหน้าคณะวิจัยชาวแคนาดาคนเดียวกันนี้ ได้วิจัยต่อเนื่อง และ ได้ทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในปีต่อมาชื่อ Cannabis and Cannabinoid Research เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เป็นการศึกษาเรื่องกัญชาแบบไปข้างหน้า (Cohort Study) ในการเฝ้าสังเกตการณ์กลุ่มประชากร 5,706 คน พบว่าการใช้กัญชาได้ประสบความสำเร็จในการทดแทนกลุ่มประชากรที่ใช้ยาเสพติดที่รุนแรง โดยเฉพาะยาบ้า(Metamphetamine) และทำให้ต้องมองกัญชาเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่จะนำมาใช้เพื่อลดปัญหาผู้ที่ใช้ยาเสพติดได้มากขึ้น
ดังนั้น ผู้ที่ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นอาจเป็นกลุ่มที่กำลังลดความรุนแรงของยาเสพติดที่รุนแรงหลายชนิด รวมถึงการลดพฤติกรรมความรุนแรงของยาเสพติดชนิดอื่น รวมถึงการลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่เป็นปัญหาการเสียชีวิตของคนทั้งโลกมากขึ้นด้วย
หากมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา จะต้องไม่สำรวจเพียงว่ามีประชากรใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่ แต่ควรต้องสำรวจลึกไปกว่านั้นว่าคนที่ใช้กัญชานั้นเป็นไปเพื่อการลดการใช้ยาเสพติดที่รุนแรงหรือไม่ด้วย”- อ.ปานเทพกล่าว
4. เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ คือ
“1. ยืนยันให้มี พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่หนุนควบคุมกัญชาโดยประมวลกฎหมายยาเสพติดและ 2.ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันทุกฝ่ายก่อนนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด อย่างไรก็ตาม เรื่องป้องกันเยาวชน ถ้ามี พ.ร.บ.สามารถออกแบบตามบริบทได้ ออกแบบรายมาตราได้ จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ออกกฎกระทรวงได้” - นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ยังโพสต์เฟซบุ๊กว่า
“...ผมบอกกับรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทินว่า
ตอนนี้มีคนป่วยที่ใช้ยากัญชารักษาอยู่จำนวนนับแสนคน ที่กำลังทุกข์ทรมานจากโรคร้าย นานาชนิด ที่ รพ.รักษาไม่หาย หรือไม่มีเงินไป รพ.
เมื่อกัญชากลับสู่ยาเสพติด การใช้กัญชารักษาของผู้ป่วยเหล่านี้จะถูกจับทั้งหมด
วิบากกรรมที่เกิดจากการไม่ได้ใช้กัญชาของผู้ป่วยทั่วประเทศ รัฐมนตรีสมศักดิ์และปลัดกระทรวง รวมทั้งอธิบดีทั้งหลาย จะต้องรับวิบากกรรมเหล่านั้นไป ในฐานะคนที่พรากยารักษาไปจากประชาชน
คำสาปของคนโบราณมีมาเสมอจนปัจจุบันว่า “คนใส่ร้ายกัญชาไม่เคยมีจุดจบที่ดี”
ขอให้รับทราบว่ากัญชานอกจากรักษาชีวิตคนมาตั้งแต่พันปี กัญชายังอยู่ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ของหลายชนชาติ การกระทำของสมศักดิ์ เทพสุทิน จะก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยจำนวนมาก วิบากกรรมเหล่านั้นจะไม่หายไปไหน ยังมีเวลากลับใจครับ...”
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี