#Saveทับลาน กลายเป็นแฮชแท็กอันดับ 1 เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเพื่อคัดค้าน และปกป้องพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจากการถูกเฉือนออกไป 2.6 แสนไร่ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการที่ดินในเขตพื้นที่ที่มีปัญหาทับซ้อนระหว่างอุทยานฯ และชุมชน
โดย “ป่าทับลาน” ในอดีตก่อนที่จะถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2524 นั้น ตามมติ ครม. วันที่ 14 พ.ย. 2504 แบ่งการจัดการพื้นที่เป็น 2 ประเภท คือ พื้นที่ป่าไม้ที่ให้คงไว้ตามธรรมชาติ และพื้นที่ป่าที่จะเปิดให้จัดสรรเพื่อการเกษตรกรรม หรือการใช้ประโยชน์อย่างอื่น
ตรงนี้เองที่ส่งผลให้เกิดปัญหาภายในพื้นที่ อันเป็นการซ้อนทับกันของเขตบริหารเดิมที่มีเป้าประสงค์ในการใช้ที่ดินอีกแบบหนึ่ง รวมไปถึงการที่แต่ละหน่วยงานในพื้นที่ ต่างก็ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายของตนเอง จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐ กับเอกชน และชาวบ้าน มาอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งวันที่ 14 มีนาคม 2566 มติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบข้อเสนอของ“สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ” เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานถึง 265,286.58 ไร่
ต่อมา วันที่ 25 มกราคม 2567 มีการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้พิจารณาวาระเรื่องเพื่อทราบ การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งถือเป็นการ “ข้ามขั้นตอน” การให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ โดยประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้ว 2 ครั้ง ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
และวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 12 กรกฎาคม 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อนำไปเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
แต่ก่อนจะถึงวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันปิดรับฟังความคิดเห็น และเตรียมส่งเรื่องให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณานั้น กระแสสังคมก็เริ่มให้ความสนใจต่อประเด็นดังกล่าวนี้ สื่อสารมวลชนแทบทุกเครือข่าย นำเสนอข้อมูลจากทางกลุ่มนักอนุรักษ์ และหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ในการปกป้องผืนป่า ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ถ้าหากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ตามมติ ครม. ที่ใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ในปี พ.ศ. 2543ซึ่งระบุโดยสรุปว่า
1. เป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 164,960 ไร่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
2. กระทบต่อรูปคดีที่กล่าวโทษ และอยู่ระหว่างดำเนินการ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504
3. เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน และทำลายความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และวิถีชีวิตของสัตว์ป่า
4. ลดทอนคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
และ 5. แนวทางดังกล่าวนี้ จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในเขตพิพาทอื่นๆ ต่อไป
อนึ่ง ด้วยความที่พื้นที่ป่าทับลาน มีสภาพเป็นเหมือนทางเชื่อมโดยธรรมชาติของสัตว์ป่า เพื่อเดินทางข้ามไปมาระหว่าง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพระยา และอุทยานแห่งชาติปางสีดา และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งทางยูเนสโก ได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2548 ฟากฝั่งของนักอนุรักษ์ และหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ในการปกป้องผืนป่า จึงเดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มที่
และแน่นอนว่า ภายหลังจากที่สื่อสารมวลชน ส่งข้อมูลดังกล่าวนี้ออกไป บนโลกออนไลน์จึงเกิด #Saveทับลาน ปลุกความสนใจของผู้คนขึ้นมาอย่างคึกคัก และนำมาสู่การลงทะเบียน เพื่อเข้าไปแสดงความคิดเห็น ในการคัดค้าน การกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว (ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566)
ขณะที่ “พีพีทีวี” มีรายงานว่า...
“...เรื่องดังกล่าวมีการชี้แจงว่า เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจาก เรื่องแนวคิดของแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map ซึ่งมีหลักการแผนที่หนึ่งแผนที่ซึ่งหน่วยงานของรัฐใช้ร่วมกันเป็นแผนที่เดียวมาตราส่วนเดียวกัน เพื่อให้ไม่เกิดข้อถกเถียงเรื่องแนวเขตของแต่ละหน่วยงาน และแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนเกี่ยวข้องกับการบุกรุกที่ดินของรัฐ ปัญหาการทับซ้อนกันของแนวเขตที่ดิน ซึ่งจะได้เส้นแสดงแนวเขตที่ดินของรัฐ หรือที่เรียกว่า เส้น One Map ซึ่งแสดงอาณาเขตที่ดินของรัฐครอบคลุมที่ดินของทุกหน่วยงานรัฐบนแผนที่มาตราส่วนเดียวกันทุกหน่วยงาน
การดำเนินการเรื่อง One Map เริ่มขึ้นในปี 2558 ซึ่งในช่วงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 9 กระทรวง เร่งดำเนินการพิจารณาแนวเขตป่าไม้ใหม่ โดยจัดทำเป็นแผนที่ดิจิทัล มาตราส่วน 1 : 4000 ซึ่งในการดำเนินการตามแนวทาง One Map ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น ครอบคลุมเนื้อที่จังหวัดปราจีนบุรี และนครราชสีมา แต่ในส่วนของเขตจังหวัดนครราชสีมา เกิดปัญหาข้อถกเถียงเรื่องแนวเขตระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติทับลานกับเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ซึ่งหากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จะต้องมีการกันพื้นที่เพื่อส่งมอบให้ ส.ป.ก. จำนวน 58,000 ไร่ จึงทำให้ไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเวลานั้น
ต่อมาได้มีการตราและประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในการบริหารจัดการที่ดิน และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าว ได้หยิบยกแนวเขตฯ เมื่อปี 2543 กลับมาพิจารณาใหม่โดยการจัดทำเส้นปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 นั้น สืบเนื่องมาจากมีโครงการจัดที่ทำกินให้ราษฎร ปี 2526 - 2527 ในพื้นที่เสื่อมโทรมในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จึงส่งผลให้คณะรัฐมนตรีมีมติในปี 2541 ให้จัดทำขอบเขต บริเวณที่อยู่อาศัยทำกินให้ชัดเจน ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด จึงเป็นที่มาของการสำรวจจัดทำแนวเขต ประชิดขอบป่าเพื่อป้องกันการขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มเติมของราษฎร ซึ่งสำรวจแล้วเสร็จ เมื่อปี 2543
หลังจากนั้นในคราวการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2566 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และคณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ลงมติในเรื่องดังกล่าวเห็นชอบตามที่ คทช. เสนอ
แต่ทั้งนี้ก็มีข้อสังเกตว่า หากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ และแม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 80,000 ไร่ ก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันว่าจะผนวกเพิ่มได้หรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมากรวมทั้งยังอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ เนื่องจากมีแผนงานโครงการปลูกป่าที่มีงบประมาณต่อเนื่องรวมทั้งมีการจัดตั้งป่าชุมชนไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว
ดังนั้นในการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราช
บัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2562 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แต่ก็มีข้อสังเกตอีกว่าการเพิกถอนเปลี่ยนแปลงแนวเขตให้กับนายทุนผู้มีสถานะที่ไม่ใช่ผู้ยากไร้ อาจส่งผลกระทบเกิดการต่อต้านจากประชาชนที่มองเห็นการกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติ เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และเกรงว่าการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาจะไม่ใช่ข้อยุติของปัญหา กลับส่งผลให้มีการบุกรุกที่ดินของรัฐต่อไปในพื้นที่อื่นๆ ด้วย”
ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาให้ข้อมูลว่าการรับฟังความเห็นผ่านทางระบบออนไลน์ จะสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ค. นี้ คาดว่า จะนำเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาได้เร็วที่สุด ภายในเดือนส.ค. และการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่ทับลาน ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่สังคมมีความกงัวล
“เพราะก่อนหน้านี้ ทางกรมอุทยานฯ ได้แยกและกำหนดรูปแบบของที่ดินทำกินในป่าทับลานไว้ 3 กลุ่มชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มรีสอร์ทกว่า 400 แห่งที่ติดในคดี จะต้องไม่ได้ครอบครองที่ดินป่าอนุรักษ์ คดีรีสอร์ท400 กว่าแห่งในป่าทับลาน ยังยึดกฎหมายเดิม คือเป็นผู้บุกรุก ต้องดูคุณสมบัติเป็นหลัก คนละส่วนกับการเพิกถอนพื้นที่”
ส่วนข้อกังวลว่า หากมีการเพิกถอนป่าทับลานได้แล้ว จะถูกใช้เป็นโมเดลกับป่าอนุรักษ์อื่นๆ ทางอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า แต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกัน ไม่
สามารถใช้โมเดลเดียวกันได้แน่นอน ส่วนที่เลือกทับลานเป็นแห่งแรก เพราะได้ผ่านการตรวจสอบตามมติ ครม.ปี 2543 ให้สำรวจไว้แล้ว”
จากนี้ เป็น “หน้าที่ของประชาชน” ที่จะต้องเร่งแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะ “คัดค้าน” หรือ “สนับสนุน”
ประชาชนโปรดทำหน้าที่กันครับ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี