สยามมีผู้แทนราษฎรมาได้ประมาณหนึ่งปีจึงจะคิดที่จะจ่ายเงินเดือนหรือเงินสมนาคุณให้แก่บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร เข้าใจว่าก่อนหน้านั้นไม่ได้คิดในเรื่องที่จะจ่ายเป็นเดือนเพราะสมาชิกสภาฯที่มาจากการแต่งตั้งเกือบทั้งหมดในจำนวน 70 คนนั้นเป็นอดีตข้าราชการและข้าราชการปัจจุบัน จะมีบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการอยู่น่าจะไม่ถึง 10 คน ดังนั้นถ้ามีการจ่ายกันอยู่ ก็น่าจะจ่ายในลักษณะเป็นค่าตอบแทนในการมาร่วมประชุมเป็นครั้งๆ ไป เพราะสภาไม่เคยพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่สมาชิกสภาฯ จนเวลาล่วงเลยมาในการประชุมครั้งที่ 4 ของปี 2476 ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 พระวุฒิศาสตร์เนติญาณ ข้าราชการกระทรวงเศรษฐการ สมาชิกสภาฯได้อภิปรายว่า
“รู้สึกว่าเวลานี้การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามกำหนดนั้นได้ใกล้เข้ามาแล้ว และตามพระราชบัญญัติเลือกตั้งฉบับใหม่ก็ให้จำกัดไว้ว่าต้องเป็นราษฎรไม่ใช่ข้าราชการ แปลว่าเป็นผู้ที่ไม่มีทางอื่นจะเลี้ยงอาชีพ นอกจากจะเอามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เวลานี้ก็จวนเจียนเข้ามาแล้วเห็นว่ารัฐบาลควรจะประกาศให้เขารู้ว่าการมาเป็นสมาชิกนั้นจะมีรายได้เท่าใด เพื่อที่จะให้เขาคิดว่าเป็นการเพียงพอจะมาฉลองพระเดชพระคุณได้หรือไม่ เพราะเขาไม่ใช่จำพวกที่มั่งมีเหลือเกิน”
ครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีตอบว่าเรื่องนี้กำลังตั้งกรรมาธิการพิจารณาอยู่ นี่เอง ที่รัฐบาลจึงได้เร่งให้มีพระราชบัญญัติเงินเดือนและค่าพาหนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกมามีผลประกาศใช้ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ในช่วงระยะเวลาที่กำลังมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของประเทศสยาม และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กำลังเกิดกบฏบวรเดช ที่ยกกำลังทหารจากอยุธยาและโคราชเข้ามาเพื่อจะล้มรัฐบาลของพระยาพหลฯหรือรัฐบาลของคณะราษฎรในพระนครนั่นเอง
ความสำคัญของผู้บัญญัติเงินเดือนฉบับนี้ อยู่ที่มาตรา 3 และมาตรา 4 และมาตรา 5
“มาตรา 3 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกจากข้าราชการประจำการ ให้ได้รับเงินเดือนในสมัยประชุมเดือนละ 250 บาท นอกสมัยประชุมเดือนละ 100 บาท แต่ถ้าเป็นข้าราชการประจำการให้ได้รับเบี้ยประชุมเฉพาะในสมัยประชุมเดือนละ 200 บาท
มาตรา 4 ประธานสภาและรองประธานสภานั้น นอกจากประโยชน์ที่จะได้รับในฐานะเป็นสมาชิก ให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งประธานเดือนละ 400 บาทรองประธานเดือนละ 200 บาท
มาตรา 5 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ต่างจังหวัด ต้องเดินทางเข้ามาประชุมหรือกลับจากประชุมไปยังถิ่นของตน อันเนื่องจากงานของสภาผู้แทนราษฎร ให้ได้รับค่าพาหนะตามข้อบังคับของสภา”
ดังนั้นเงินเดือนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเริ่มต้นขึ้นตามความในพระราชบัญญัติเงินเดือนและค่าพาหนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ ซึ่งหมายความว่าก็จะต้องให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและที่มาจากการแต่งตั้งอย่างเท่าเทียมกันเพราะไม่ได้มีความตรงใดที่ระบุว่าให้เฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ
ดูจากเงินเดือนของประธานสภาฯที่ได้จากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเดือนละ 250 บาท ในสมัยประชุม บวกกับเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกเดือนละ 400 บาท ดังนั้นในเดือนที่มีการประชุมประธานสภาจึงได้รับเงินประจำเดือนรวมกันจำนวน 650 บาท และในเดือนที่ไม่ใช่สมัยประชุม ได้รับเดือนละ 500 บาท นับว่าเป็นการกำหนดเงินเดือนเทียบเคียงให้ในระดับสูง เพราะในสมัยนั้นผู้ที่รับราชการเป็นระดับเจ้าพระยาเคยได้รับเงินสูงสุดเดือนละ 600 บาท ในเวลานั้นราคารถยนต์นั่งชั้นดีที่มีโฆษณาขายกันอยู่ก็ราคาคันละประมาณ 2,200 ถึง2,300 บาทนั่นเอง
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี