เมื่อวานนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงินจำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
เรียกว่า ขอใช้เงินเพิ่มเติม 122,000 ล้านบาท โดยมาจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
งบประมาณเพิ่มเติม 122,000 ล้านบาทนี้ กำหนดว่าจะเป็นรายจ่ายลงทุน จำนวน 97,600 ล้านบาท โดยจัดอยู่ในจ่ายงบกลาง
กำหนดไว้ในรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 122,000 ล้านบาท เพื่อการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ
พูดง่ายๆ ว่า เงินก้อนนี้ ก็จะนำไปสมทบเพื่อดำเนินโครงการเติมเงินหมื่น ดิจิทัล วอลเล็ต นั่นเอง
ปรากฏว่า ในระหว่างการอภิปราย ทำให้เห็น “วิธีคิด” ของคีย์แมนเศรษฐกิจในรัฐบาลครบถ้วน
ตั้งแต่นายกฯ รัฐมนตรีคลัง ไปจนถึง รมช.คลัง
แถมด้วยมุมมองของฝ่ายค้าน
ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. นายกรัฐมนตรี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงหลักการและเหตุผล ประเด็นสำคัญ ระบุว่า
เหตุที่ต้องมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เพราะรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภค และการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณปี 68 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 122,000 ล้านบาท
ที่มาของงบเพิ่มเติมนี้ มีดังนี้
“1.ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการจำนวน 10,000 ล้านบาท
2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 112,000 ล้านบาท”
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย
2. รมว.คลัง และ รมช.คลัง
2.1 นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า วิกฤตที่เรามองเห็นอยู่ข้างหน้าว่า หากเราไม่ทำอะไรที่จะเป็นการกระตุ้น ไม่ช้าก็เร็ววิกฤตจะมาแน่นอน
โดยผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจที่จะกระทบกับ 3 กลุ่ม ได้แก่
1.ประชาชน หรือหนี้ครัวเรือน ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2.หนี้ของร้านค้า ซึ่งฝ่ายหนึ่งคือผู้บริโภคเอง ที่มีสาเหตุมาจากการมีรายได้ไม่เพียงพอและมีเหตุผลมาจากรายได้ประเทศที่ต่ำเกินไป เราจึงต้องมาแก้ปัญหาที่รายได้ส่วนนี้
และ 3.เมื่อ กำลังซื้อลดลง เงินเฟ้อขึ้น
รมว.คลัง ระบุว่า ตนเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ที่มีหน้าที่ในการดูแลทั้งภาคผู้บริโภคและภาคผู้ผลิต สิ่งที่เราทำคือก็ต้องสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหา
ย้ำว่า วันนี้มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นรายจ่ายพิเศษเพื่อกระตุ้น ยืนยันว่า เป็นการจัดสรรเม็ดเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
2.2 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลรู้ว่าเกษตรกรลำบาก เป็นกลุ่มที่ต้องการดิจิทัลวอลเล็ตในการลงทุน
ยืนยันในกรอบเวลา ปลายปีเงินถึงมือประชาชนแน่นอน แม้จะมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดเรื่องของแหล่งเงินทุน หรือสินค้าต้องห้าม เราเดินหน้ามาจนถึงจุดที่ยืนยันว่าระบบจะเสร็จทัน ในเรื่องของตัวเงินเราก็มีเพียงพอที่จะดำเนินโครงการที่มีขนาดใหญ่ถึง 50 ล้านคน วงเงิน 500,000 ล้านบาท ได้ทันตามกรอบเวลาแน่นอน
“รัฐบาลต้องการเดินหน้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่ไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์ประชาชน เราจะไม่พูดถึงกลุ่มเปราะบาง วันนี้ถ้ายังเถียงกันอยู่ว่าวิกฤตหรือไม่ พวกตนเคยยกสถานการณ์ให้ดูว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในระดับที่ดีตั้งแต่วันที่เราเป็นรัฐบาล ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวชี้ชัด ฝ่ายค้านหลายคนก็บอกว่าเศรษฐกิจกำลังดีอยู่ กำลังเติบโตอยู่ในระดับเหมาะสม แต่เราเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้มาหลายปี และโตต่ำสุดในอาเซียน นี่คือสถานการณ์ที่ไม่ดี และมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ รัฐบาลใช้ประชาชนเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ให้ถึงมือประชาชน และประชาชนเป็นคนใช้”
รมช.คลังชี้ว่า นโยบายนี้จ่ายเงินตรงกับประชาชนที่ผูกกับบัตรประชาชน แบบ 1:1 ในการทุจริตของฝ่ายภาครัฐตนยังมองช่องทางไม่ออก ได้ดูอย่างละเอียด เราเป็นห่วงในประเด็นนี้เช่นกัน ในส่วนการทุจริตในเรื่องของผู้รับเงิน 10,000 บาท อาจเอาไปใช้ผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์ หรือทำที่ผิดไปจากกลไกที่กำหนดไว้ รัฐสามารถดำเนินการตามกฎหมาย ฟ้องร้องได้ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก แต่ใครก็ตามที่เคยทำผิดและมีคดีความ คนเหล่านั้นจะถูกตัดสิทธิ์จากโครงการดังกล่าว โครงการนี้ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเต็มที่
2.3 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายเปรียบประเทศไทยเหมือนบ้านหลังหนึ่ง
“...ปัจจุบัน เราคงเห็นตรงกัน ว่า บ้านหลังนี้หลังคามันรั่ว หลังคามีรอยรั่ว เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ฝนตกลงมา ฝนตกเข้าบ้าน วิธีคิดของท่านคือปล่อยให้รอยรั่วนั้นยังคงอยู่ไม่ต้องทำอะไร และน้ำลงเข้าบ้าน ต้องวักน้ำทิ้ง นั่นคือวิธีคิดที่ท่านนำเสนอ แต่วิธีคิดที่เรานำเสนอ เมื่อบ้านเรามันรั่ว เราอาจจะต้องมีการขาดดุลงบประมาณ จะต้องมีการกู้หนี้ยืมสินมาเพื่ออุดรอยรั่วนี้ เพื่อทำให้น้ำไม่เข้าบ้าน และใช้เวลาที่ตักน้ำออกจากบ้าน เอาไปทำงานอย่างอื่น นั่นคือวิธีคิดที่แตกต่างกัน...”
รมช.คลังยืนยันว่า เรากำหนดรัศมีการใช้ให้อยู่ในอำเภอ เพราะไม่อยากให้มีการไหลเข้ากรุงเทพฯ ไม่ให้ไหลเข้าเมืองใหญ่ๆ อยากให้วนอยู่ในเมืองรอง แล้ววนอยู่ในชุมชน ไม่อยากให้เงินไหลออกนอกประเทศ อยากให้มีเงินหมุนอยู่ในหมู่บ้านชุมชน เกิดการจ้างงาน เกิดการผลิต ทำไมจึงต้องมีการตัดร้านค้าใหญ่ๆ ในรอบที่ 1 ทำไมถึงต้องอยากให้มีร้านค้าเล็กๆในการรับเงิน นี่ต่างหากที่เป็นมุมมองของเราเพื่อที่จะตัดรายใหญ่เพื่อที่จะทำให้เงินหมุนอยู่ในหมู่บ้าน ส่วนที่มองว่าเป็นการเอื้อต่างๆ ขอเรียนว่าด้วยเงื่อนไขอะไรต่างๆ ที่เรามีการกำหนด ทุกอย่าง ทุกเงื่อนไข ทุกวิธีคิด ทำให้เงินลงไปสู่ชุมชนให้มากที่สุด
3. ฝ่ายค้าน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า สาระสำคัญแค่ประการเดียว ก็คือ เพื่อขอกู้มาแจก 1.12 แสนล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 4.5 แสนล้านบาท
“มีคนในรัฐบาลอ้างว่า เราก็ทำเหมือนสิงคโปร์ สิงคโปร์ก็แจก นายกฯคนใหม่เป็นคนประกาศแจกเอง แต่สิงคโปร์ที่เขาแจกจริง เพราะเขามีเงินเหลือพอให้แจก แต่ประเทศไทยมันกู้มาแจก มันคนละเวอร์ชั่น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตนไม่ได้ต่อต้านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล และในทางตรงข้าม ตนทำหน้าที่ทวงถามแทนประชาชนทุกครั้งว่าเงิน 10,000 บาท ที่รัฐบาลประกาศจะแจกตั้งแต่ตอนหาเสียงจะได้เมื่อไหร่ จะได้กี่โมง จนวันนี้ก็ขอทำหน้าที่ทวงถามอีกรอบ เพราะตนถือหลักว่าเมื่อพรรคการเมืองไปหาเสียง ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบ เนื่องจากไปสัญญาและเอาคะแนนมาแล้วต้องชดใช้กับประชาชน รวมทั้งทำให้ทันเวลา ถูกกฎหมาย โปร่งใส และคุ้มค่ากับประเทศ”
นายจุรินทร์ยังตำหนิว่า โครงการนี้ล่าช้า เพราะความโหลยโท่ยของรัฐบาลเอง บริหารราชการแผ่นดินเหมือนเล่นขายของ เป็นไม้หลักปักขี้เลน เอาแน่อะไรไม่ได้
ตอนหาเสียงแจกทันทีไม่มีกู้
พอเป็นรัฐบาลไม่กี่วัน ออกลาย เลื่อนทันที มีแต่กู้ แต่สุดท้ายยกธงขาวออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 5 แสนล้าน เพราะจำนนด้วยข้อกฎหมาย
เปลี่ยนมาใช้เงิน ธ.ก.ส.ท่ามกลางเสียงเตือนว่าผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลยืนยันว่าทำได้ เสียเวลาไป 3 เดือน
สุดท้ายรัฐบาลโยนผ้าอีกรอบ ขอเปลี่ยนแหล่งเงินมาจาก 2 แหล่ง คือ จากงบปี’67และปี’68 รวม 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งจนถึงวันนี้เม็ดเงินจริงยังไม่มีสักบาทเดียว ยังล่องลอยอยู่ในอากาศ
รัฐบาลบริหารแบบคิดไปทำไป และสวนกันมาสวนกันไป ยอดเงินก็ลดมา 3 รอบ จากเรือยอร์ชกลายเป็นเรือแจว
แต่ยังคงเป้าหมาย 50 ล้านคนไว้ ไม่ลด แต่เตรียมเงินไว้ 4.5 แสนล้านบาท เพราะหวังว่า 5 ล้านคนจะไม่มาใช้สิทธิ์ ซึ่งก็มีคำถามว่าหาก 5 ล้านคนมาใช้สิทธิ์ ท่านจะเอาเงินไหนอีก 5 หมื่นล้านมาแจก
งบ’68 ก้อน 1.32 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลบอกว่าจะใช้การบริหารจัดการ จนวันนี้ยังไม่รู้ว่าอยู่ไหน แล้วจะเอามาจากไหน จะใช้เสียงข้างมากในกรรมาธิการงบ’68 ไปตัดงบจากกระทรวงต่างๆ ของพรรคร่วม แล้วใช้มติครม.ใส่ไปในงบกลางเพื่อทำดิจิทัลวอลเล็ตแทน แล้วพรรคร่วมรัฐบาลว่ายังไง จะนั่งเป็นตัวการ์ตูนอยู่หรือ หรือจะต้องมาเสนองบกลางปี’68 อีก นี่คือวิบากกรรมที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเอง และไม่ได้บอกประชาชนให้รับทราบ
นายจุรินทร์ ย้ำว่า เรื่องความคุ้มค่าและทำให้เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจครั้งใหญ่ พูดอย่างกับตลกคาเฟ่ ดูถูกคนคิดเลขเป็นทั้งประเทศ เพราะฝ่ายต่างๆ พูดตรงกันว่าที่บอกว่าจะได้นั้นได้จริง แต่ได้ไม่คุ้มเสีย และยังมีค่าเสียโอกาส หากรัฐบาลเอาเงินไปทำอย่างอื่นจะได้มากกว่านี้ เช่น ไปแจกกลุ่มเปราะบาง ไปใช้ลงทุนด้านอื่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน ฉะนั้น การกู้มาแจกแค่ 6 เดือน เหมือนโยนหินลงน้ำ 1 ก้อน เกิดแรงกระเพื่อมจ๋อมเดียวแล้วก็หายไป แต่ที่จะเกิดตามมาคือ พายุหมุนหนี้ก้อนโตให้คนไทยชดใช้อีกนานเท่านาน เข้าทำนองประเทศเสียหายไม่ว่า ขอให้ข้าได้หาเสียง
4. เห็นว่า รัฐบาลดูจะฝากความหวังไว้กับโครงการเติมเงินหมื่นเข้าดิจิทัล วอลเล็ต มากมายเหลือเกิน
ราวกับเป็นยาสารพัดนึก จะสร้างพายุหมุนเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการลงทุน พาสังคมไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ฯลฯ
แต่ปักหมุดว่าจะได้ใช้เงินเร็วที่สุด คือ เดือนตุลาคม 67 (ไตรมาสสุดท้าย)
คำถาม คือ 2 เดือนระหว่างนี้ ค่าครองชีพที่แพงขึ้นมาแล้ว กำลังจะแพงขึ้นอีก ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ฯลฯ
ตลาดชุมชนชาวบ้านเงียบเหงา คนชะลอการจับจ่ายใช้สอย รัฐบาลจะมีมาตรการออกมารักษาระดับกำลังซื้ออย่างไรบ้าง หรือไม่?
อย่าคิดว่า รอแค่ 2-3 เดือน เพราะสำหรับชาวบ้านที่เดือดร้อน แค่วันเดียว มันก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี