“Planet of the Apes” หรือ “พิภพวานร” เป็นภาพยนตร์ฝรั่งฮอลลีวู้ด (สหรัฐอเมริกา) ที่เข้าฉายในปี 2511 ก่อนจะมีตามมาอีกหลายภาค รวมถึงการสร้างแบบตีความใหม่ (Reboot) ในยุคหลังๆ โดยภาพยนตร์จะเล่าถึงโลกอนาคตที่ “ลิง” มีวิวัฒนาการจนมีสติปัญญาเทียบเท่ามนุษย์ สามารถก่อร่างสร้างอารยธรรมและขึ้นเป็นผู้ครอบครองโลก ในขณะที่ “คน” หรือมนุษย์ ซึ่งเคยยิ่งใหญ่กลับต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อไม่ให้ถูกลิงจับไปเป็นทาส
ภาพยนตร์ที่ใช้ชื่อ Planet of the Apes เรื่องล่าสุดออกฉายเมื่อต้นเดือน พ.ค. 2567 ในชื่อ “Kingdom of the Planet of the Apes” หรือ “อาณาจักรแห่งพิภพวานร” ซึ่งในเวลานั้น ประเทศไทยกำลังดำเนินการ“จัดระเบียบลิงลพบุรี” อย่างจริงจัง หลังสร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านในพื้นที่และนักท่องเที่ยวมานาน ทำให้บรรดาชาวเนตเมืองไทย พากันนำภาพสถานการณ์ใน จ.ลพบุรี มาตัดต่อทำโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้กันอย่างสนุกสนาน
“ลิงเดิมทีมีที่ศาลพระกาฬกลุ่มหนึ่ง พระปรางค์สามยอด แล้วก็มีกิจกรรมการให้อาหาร แต่การให้อาหารนี่อย่าเพิ่งไปโทษตัวเองนะ ผมยังสนับสนุนเรื่องการให้อาหารอยู่ แต่พอมีการให้อาหารที่ไม่มีการจัดระเบียบไว้ ต่างคนต่างให้ ใครก็ให้ พอมาให้ปุ๊บ ด้วยความที่ลิงเขาได้กินอาหารที่คนให้กินมีพลังงานสูง แล้วก็ว่าง ลิงก็เหมือนคน มีพลังงานสูงแล้วก็ว่างทำอะไร? ก็ผสมพันธุ์ ก็ออกลูกออกหลาน
พอลูกก็เยอะ ตัวผู้ที่คลอดออกมา เวลาเขาโตเป็นหนุ่มวิถีชีวิตคือเขาต้องไปสู้กับจ่าฝูง เอาชนะเขาได้หรือเปล่า? ถ้าเอาชนะได้ก็ได้ครองฝูง แต่ถ้าสู้เขาไม่ได้ก็ไปหาอาณาจักรใหม่ ไปขยายอาณาจักรใหม่ ก็ถึงได้มีลิงหลายกลุ่ม ฉะนั้นเราก็ต้องไปย้อนดูว่ากิจกรรมของมนุษย์เองมันมีส่วนส่งเสริมให้พฤติกรรมลิงเพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า?”
เรื่องเล่าจาก “หมอล็อต” น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ครั้งที่ 23 เรื่อง “9 ปี พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 กับการบูรณาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน” จัดโดยสมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ถึงจุดเริ่มต้นของปัญหา “ลิงกับคน” ใน จ.ลพบุรี ว่าอะไรนำมาให้มาถึงจุดที่ประชากรลิงเพิ่มขึ้นจนสามารถยึดครองพื้นที่เมือง
ซึ่งต้องบอกว่า “ลิงก็ปรับตัวรับมือปฏิบัติการของมนุษย์” เช่น ปรากฏตัวให้พบเห็นเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็น ส่วนช่วงกลางวันจะหลบซ่อนเพราะเรียนรู้ว่าคนจะออกมาจับลิงในช่วงเวลานี้ ในทางปฏิบัติจึงเหมือนกับเป็นการจัดระเบียบลิงไปโดยปริยาย ทั้งนี้ “ลิงโรงหนัง” ที่หมายถึงลิงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณโรงภาพยนตร์ร้าง “มาลัยรามา” เป็นลิงกลุ่มที่หมอล็อตบอกว่า “หนักใจที่สุด” เพราะเกือบทั้งหมด “ป่วยเป็นโรคผิวหนัง” โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
1.ขี้เรื้อนแห้ง เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดต่อระหว่างสัตว์ด้วยกันเอง (เช่น สุนัข แมว) กับ2.ขี้เรื้อนเปียก เป็นโรคที่เกิดจากปัญหาพันธุกรรมอ่อนแอ นอกจากนั้น “ลิงลพบุรียังมีภาวะขาดน้ำ” หลายตัวยังตรวจพบ “นิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ” เนื่องจากลิงอาศัยอยู่ในชุมชนของคนที่มองไปทางไหนมีแต่ตึกอาคาร ไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอ ต้องประทังชีวิตด้วยน้ำจากท่อเครื่องปรับอากาศบ้าง จากกองขยะบ้าง หรือหากอยากได้ความเค็มก็ต้องเลียผนังปูนของอาคาร “ลิงหลายตัวก็ยังป่วยเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่” จากปัจจัยพันธุกรรมที่ผสมกันแบบเลือดชิด
“นี่คือวิกฤตอย่างหนึ่งที่ลิงแสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีความสุข แล้วมันก็มีแนวโน้มมีความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะสู่มนุษย์ ผมให้มอง Scenario (ฉากทัศน์) อย่างนี้ว่า พอลิงเลือดชิด ภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดโรคได้ง่าย โอกาสที่เขาจะเกิดโรคในตัวเขาก็ง่าย ในขณะเดียวกันลิงที่อยู่ในชุมชนในเมือง
เขาอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ อย่าลืมว่าโควิด ฝีดาษวานร มาลาเรีย ไข้เลือดออก พิษสุนัขบ้า วัณโรค ลิงสามารถติดต่อได้จากคนทั้งสิ้น เป็นโรคที่ติดต่อระหว่างกัน เพราะฉะนั้น ณ เวลานี้เอง เวลาที่สัตว์มีภูมิคุ้มกันต่ำแล้วอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์โอกาสที่จะติดต่อโรคก็เกิดได้ง่ายขึ้น
แล้วถ้าเกิดวันใดวันหนึ่งมีโรคระบาดชนิดใหม่ โรคอุบัติใหม่ตูมลงมา สูญพันธุ์เลยนะ และไม่ได้สูญพันธุ์เฉพาะลิงเท่านั้น รวมถึงคนด้วย ถึงแม้ว่าโควิดตอนนี้มันจะเริ่มซาลงแล้วเราก็มีภูมิคุ้มกัน แล้วตัวเชื้อโรคก็ไม่ได้เก่งนักเก่งหนาเหมือนเมื่อก่อนที่มันมีโอกาสพัฒนาตัวเองจากกลุ่มมาสู่คนในแต่ละทวีป ตอนนี้สิ่งที่เรากังวลก็คือโรคติดต่อจากคนไปสู่ลิงแล้วเชื้อโรคมันเกิดวิวัฒนาการ เกิดการพัฒนาเพราะมันเจอ Host (พาหะ) ตัวใหม่ แล้วในลิงก็มีเชื้อไวรัสอยู่แล้วด้วย โอกาสที่มันจะย้อนกลับมาสู่คนนั่นคือสิ่งที่รุนแรงมาก” หมอล็อต กล่าว
แต่ในอีกมุมหนึ่ง “วิกฤตครั้งนี้อาจเป็นโอกาสของลพบุรี..เนื่องด้วยเป็นการดำเนินการแบบมองครบทุกมิติ” ไล่ตั้งแต่ 1.การจัดตั้งสถานอนุบาลลิงโพธิ์เก้าต้น สำหรับฟื้นฟูสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลิง ซึ่งในอนาคต อาจใช้พื้นที่ของอุทยานสร้างสถานอนุบาลลิงลักษณะนี้ขึ้นอีก โดยไม่ได้เป็นการปล่อยสู่ธรรมชาติเสียทีเดียว เนื่องจากลิงจำนวนไม่น้อยเกิดและเติบโตในเมือง (City Born) ไม่ใช่ลิงเกิดในป่าแล้วอพยพเข้ามาอยู่ในเมือง (Wild Born) หากนำไปปล่อยป่าก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จึงต้องมีสถานที่ดูแลลิงเหล่านี้ไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย
และหากในอนาคต จ.ลพบุรี ยังจะมีลิงอยู่ต่อไป ก็ควรจำกัดให้อยู่เฉพาะบริเวณศาลกระกาฬ-พระปรางค์สามยอดโดยต้องเป็นลิงที่ผ่านการทำหมันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว 2.การจัดระเบียบกิจกรรมการให้อาหารลิงแน่นอนว่าการให้อาหารลิงถือเป็นวัฒนธรรมของชุมชนและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การแก้ไขจึงไม่ควรทำลายล้างวิถีดั้งเดิม แต่ควรทำให้สมดุลกัน เช่น แต่หลังจากนี้ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การจัดโปรแกรมและจัดสถานที่
โดยอาจประกาศว่าเสาร์-อาทิตย์นี้ มีโปรแกรมให้อาหารลิงช่วง 08.00 น. และ 16.00 น. ใครอยากให้อาหารก็ไปซื้ออาหารแล้วนำไปรวมไว้ที่กองอำนวยการ เพื่อนำไปวางไปตามจุดที่กำหนดพร้อมถ่ายทอดสดทางออนไลน์ ขณะที่ในกรุงเทพฯ อาจมีการเช่าจอ LED ขนาดใหญ่สำหรับถ่ายทอดสดการให้อาหารลิง คนกรุงเทพฯ ที่ไปให้อาหารลิงก็สามารถกลับมาดูผ่านออนไลน์ได้ บุญไปถึงหมด
3.การตรวจสุขภาพคน สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ ในส่วนของคน ชาวบ้านหลายรายที่ต้องทนอยู่ในเมืองกับลิง ให้ข้อมูลว่ามีอาการป่วยภูมิแพ้ ขณะที่สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ มีข้อกังวลเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า และ 4.การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมือง ที่ผ่านมาในเขตตัวเมืองของ จ.ลพบุรี อยู่ในสภาพทรุดโทรม เมื่อเคลื่อนย้ายลิงออกไปแล้วก็เริ่มมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big Cleaning) และเริ่มมองต่อไปถึงการฟื้นฟูอาคารต่างๆ (Renovate) เนื่องจากเป็นย่านเมืองเก่า มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้
“เมื่อใดที่เคลื่อนย้ายลิงออกหมด มีอยู่เฉพาะศาลกระกาฬ-พระปรางค์สามยอด แล้วชุมชนมีการทาสีปรับภูมิทัศน์ใหม่ ผมว่าความเป็นเมืองลพบุรีคงจะกลับคืนมา” หมอล็อต กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี