โครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ถูกชะลอไว้ก่อน
ล่าสุด กำลังจะถูกทบทวน ว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้? หรือจะมีมาตรการเสริมเพิ่มอะไร อย่างไรอีก?
1.เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลยอมฟังเสียงท้วงติง วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน
โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หากแม้นจะมีเจตนาดี แต่ก็มีจุดอ่อนที่เป็นปัญหาจริงๆ
และประการสำคัญ ชาวนาจำนวนมากมองว่า การให้ชาวนาต้องออกเงินครึ่งหนึ่งเพื่อซื้อปุ๋ยตามเมนูที่ภาครัฐคัดมาให้นั้น ไม่ตอบโจทย์ ชาวนาอยากได้เงินสดเข้าบัญชีแบบโครงการไร่ละพันยุคลุงตู่มากกว่า
ชาวนาจำนวนมาก ระบุว่า อยากได้โครงการไร่ละ 1,000 บาทมากกว่า เพราะสามารถนำเงินที่รัฐบาลให้มานำไปบริหารจัดการต้นทุนได้เอง แต่หากเป็นโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ชาวนาต้องหาเงินมาจ่ายค่าปุ๋ยครึ่งหนึ่ง ซึ่งชาวนาบางคนอาจจะไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อปุ๋ยได้ อยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายนี้
2.ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า
“โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นโครงการที่จะนำไปสู่โครงการปุ๋ยแม่นยำ เพื่อใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร ถูกที่ ถูกเวลาเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
โดยโครงการปุ๋ยคนละครึ่งนี้ เป็นคนละโครงการกับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท จึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดการประชุมเพื่อหารือโครงการปุ๋ยคนละครึ่งเพิ่มเติมต่อไป…”
3.ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2567 นายประยูรอินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้า “โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง” ระบุว่า
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวระดับประเทศครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2567 และคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต วันที่ 19 ก.ค.2567 ได้ร่วมพิจารณารายละเอียด ข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตที่รับทราบ และรวบรวมความเห็นจากทุกฝ่าย
ได้พิจารณาอย่างรอบด้านให้สอดคล้องกับสถานการณ์และช่วงเวลา ณ ปัจจุบันของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกข้าวและขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตรไปแล้วจำนวน 2.91 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 39.60 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.23 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด
โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ใส่ปุ๋ยในนาข้าวไปแล้ว
ประกอบกับข้อมูลที่ได้รับจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในเรื่องเงินสมทบที่จะต้องนำเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามเงื่อนไขโครงการ
รวมทั้งกลไกดำเนินงาน โดยเฉพาะสหกรณ์ที่ต้องทำหน้าที่เป็นจุดกระจายปุ๋ยสู่เกษตรกร พบว่าสหกรณ์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด และมีข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจปกติของสหกรณ์ในการจำหน่ายปุ๋ยของสหกรณ์เอง
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเกษตรกรที่จะเสนอขอเข้าร่วมเป็นจุดกระจายปุ๋ยสู่เกษตรกร แต่ไม่มีกำหนดไว้ในแนวทางของคู่มือปฏิบัติ จึงไม่สามารถเข้าร่วมและดูแลสมาชิกกลุ่มเกษตรกรได้
“...ดังนั้น จากข้อจำกัดและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมข้างต้น ประกอบกับระยะเวลาเพาะปลูกข้าวที่ได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริงในฤดูเพาะปลูกปีถัดไป ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต จึงดำเนินการเสนอข้อคิดเห็นตามมติที่ประชุม เพื่อเร่งทบทวนโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2567/68 นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในลำดับต่อไป”
4. ปีนี้ ไม่น่าจะทัน ปีหน้าว่ากันใหม่?
จากข้อมูลข้างต้น ก็น่าจะชัดเจนว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่งผ่านการเสนอขึ้นมาโดย นบข. แม้ ครม.จะเห็นชอบแล้ว แต่เมื่อปรากฏปัญหาในขั้นตอนดำเนินโครงการ กระทรวงเกษตรฯก็ให้เสนอกลับไปที่ นบข.เพื่อพิจารณาทบทวน ก่อนจะเสนอเข้าไปให้ ครม.ได้พิจารณาต่อไป
อันที่จริง โครงการปุ๋ยคนละครึ่งได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ครม.เห็นชอบหลักการโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68
ช่วงต้นปี 2567 ก่อนจะนำเสนอเข้า ครม. รมว.เกษตรฯร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เคยเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตครั้งที่ 1/2567
มีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เข้าร่วม ณ ห้องประชุมธารทิพย์ กรมชลประทาน และประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting
ในครั้งนั้น รมว.ธรรมนัสยืนยันชัดเจน ระบุว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2562 – ปัจจุบัน ใช้งบประมาณเพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประมาณปีละ 54,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินตามมาตรา 28 ของนโยบายการเงินการคลังของประเทศ เป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องของประเทศ เพื่อสนับสนุนการลดต้นทุน การผลิตและค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ (ไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท) ซึ่งถือเป็นการจ่ายเงินสนับสนุนให้กับเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ต้องมีการติดตามว่าเกษตรกรจะนำไปใช้จ่ายที่ตรงเป้าหมายที่รัฐกำหนดหรือไม่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากตลอดระยะเวลา แสดงให้เห็นว่าโครงการและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ยังไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และการสร้างความเข้มแข็งจากการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ดำรงชีพอยู่ได้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิตจึงมีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68
โดยสนับสนุนปุ๋ยที่เหมาะสมตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในรูปแบบ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” (ภาครัฐและเกษตรกรจ่ายคนละครึ่ง) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการซื้อปุ๋ย เพื่อเพิ่มโอกาสและบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าถึงปัจจัยการผลิตให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวลดความเดือดร้อนในการใช้ปุ๋ยสูตรต่างๆ และปริมาณที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ช่วยในการลดต้นทุนการผลิตข้าว รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะดินเสื่อมสภาพ ตลอดจนเพื่อเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
เป้าหมายโครงการฯ สนับสนุนค่าปุ๋ยในอัตราปุ๋ยไร่ละ 50 กิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ไม่เกินครัวเรือนละ 1,000 กิโลกรัม) ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่จะปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน แยกเป็น 1) เกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วไป 4.48 ล้านครัวเรือน (ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีความเหมาะสมกับการปลูกข้าว) และ 2) เกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 0.20 ล้านครัวเรือน (ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำและชนิดเม็ดและขึ้นบัญชีนวัตกรรม)
กรอบวงเงิน 33,530 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายการดำเนินงานตามความโครงการฯ 33,422.950 ล้านบาท และงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 108.006 ล้านบาท และมอบหมายกรมการข้าว ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต จัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการและงบประมาณต่อไป
“..สำหรับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ถือเป็นโครงการที่ตอบโจทย์เพื่อให้เกษตรกรมีส่วนร่วม โดยเกษตรกรออกครึ่งหนึ่ง รัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาปุ๋ยที่มีความเหมาะสมต่อการผลิตข้าว ใช้ปัจจัยการผลิตตรงตามเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนอย่างจริงจัง ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และยกระดับคุณภาพข้าวให้สนองความต้องการของตลาด อีกทั้ง ยังสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐได้ถึงปีละ 20,770 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือชาวนา ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท) ซึ่งใช้เงินปีละประมาณ 54,300 ล้านบาท” - รมว.ธรรมนัส กล่าว
นี่คือที่มาที่ไป
หลังจากนั้น นบข.ก็พิจารณาเห็นชอบ
จากนั้น เสนอต่อ ครม. ครม.ก็เห็นชอบ
แต่มาชะลอโครงการเพื่อพิจารณาทบทวนล่าสุด
เพราะฉะนั้น เชื่อแน่ว่า คงจะต้องเร่งมาตรการช่วยเหลือชาวนาออกมาแทน เร็วๆ นี้
5.น่าสนใจว่า ถ้ารัฐบาลยังจะทำโครงการไร่ละพันด้วย ก็จะต้องใช้เงินกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท
รวมกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง อีก 29,980 ล้านบาท
จะเอาเงินจากที่ไหน? .
งบกลาง ในงบประมาณแผ่นดิน ปี 2567 ถูกกันไว้ทำโครงการเติมเงินหมื่นกระเป๋าดิจิทัล วอลเล็ต อยู่กว่า4 หมื่นล้านบาท ?
ถ้าจะใช้เงิน ธ.ก.ส. ถ้าจะทำทั้งสองโครงการ จะเกินกรอบเพดานหรือไม่? เหมาะสมหรือไม่ เพราะ ธ.ก.ส.ก็ต้องดูแลเกษตรกรส่วนอื่นด้วยเช่นกัน?
สำหรับประเด็น ข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงจุดตายของโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ท่านผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปอ่านบทความในคอลัมน์นี้ อ่านระหว่างบรรทัด เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว 15 ก.ค. 2567
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี