ปัจจัย ๔ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องดำรงชีวิตของมนุษย์นั้น ประกอบไปด้วย อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ในส่วนของเครื่องนุ่งห่มนั้น มนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณกาลก็ให้ความสำคัญของเครื่องนุ่งห่มแล้ว โดยเชื่อว่าตั้งแต่ยุคหินที่ผ่านมาเป็นหลายล้านปี มนุษย์ก็เริ่มรู้จักการนำใบไม้ใบใหญ่ๆ มาปกปิดร่างกายโดยเฉพาะในส่วนที่เรียกว่าของสงวน อันได้แก่อวัยวะเพศมาแล้ว
ในที่สุดมนุษย์ก็ทราบว่าเส้นใยของพืชต่างๆ นั้นสามารถนำมาถักทอให้เป็นสิ่งที่เรียกว่า ผ้า และนำมาตัดแต่งเพื่อห่อหุ้มร่างกายได้ดีมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งการนำหนังสัตว์ที่มีขนมาห่อหุ้มร่างกายในฤดูที่อากาศหนาวเย็นจัดด้วย
เมื่อมีความเจริญเพิ่มมากขึ้น จากเครื่องห่อหุ้มร่างกายที่ส่วนใหญ่เป็นผ้าผืนใหญ่ๆ ก็เริ่มมีการนำมาตัดเพื่อสวมใส่ในรูปแบบของเสื้อ กางเกงและกระโปรง ซึ่งต่อมาก็เน้นเรื่องความสวยงามมากขึ้นตามลำดับ มีการออกแบบและประดับตกแต่งมากขึ้น จนเกิดคำว่าแฟชั่นเครื่องแต่งกาย
เมื่อย้อนไปดูประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะของชาติใดก็ตาม ก็จะพบว่าในกลุ่มคนที่อยู่อาศัยร่วมกันจนเกิดเป็นชาตินั้น จะมีผู้นำระดับต่างๆ สูงสุดก็คือ พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระมหากษัตริย์ มีเครือญาติและผู้รับใช้ใกล้ชิดเป็นลำดับชั้นซึ่งการแต่งกาย ก็จะมีรูปแบบที่แสดงความสำคัญของบุคคลและระดับชั้นด้วย ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ในการต่อสู้ปกป้องแผ่นดินหรือที่เรียกว่าทหาร และผู้ที่ทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองที่เรียกว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ก็มีเครื่องแบบเช่นกัน ส่วนราษฎรทั่วไปก็แต่งตัวตามสะดวก
ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการกำหนดรูปแบบและระเบียบในการใช้เครื่องแบบของทั้งทหารและข้าราชการ เจ้าหน้าที่ โดยจะมีลักษณะเฉพาะหรือมีเครื่องหมายประดับที่ทำให้บ่งชี้ได้ว่าเป็นทหารของกองทัพใดหรือข้าราชการของฝ่ายใด รวมทั้งการกำหนดชั้นยศต่างๆ ไว้ด้วย
การแต่งกายของข้าราชการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของรัฐ ได้มีการกำหนด เครื่องแต่งกาย ออกมาเป็น ๒ แบบใหญ่ๆ คือเครื่องแบบปฏิบัติราชการและเครื่องแบบพิธีการ ซึ่งถูกแบ่งย่อยดังนี้
เครื่องแบบปฏิบัติราชการ หรือที่เรียกว่าชุดสีกากี โดยประวัติของการใช้สีกากี นั้นมีมาตั้งแต่สมัยยุคล่าอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งส่งทหารไปประจำการที่ประเทศอินเดีย โดยมองว่าสีกากีเป็นสีที่ดูดความร้อนน้อย ใส่สบาย ดูเรียบร้อย และเป็นสีของดิน เหมาะกับการที่จะต้องคลุกคลีกับประชาชนทั่วไปคือต้องอยู่ติดดิน โดยชุดสีกากีนี้มี ๒ รูปแบบ คือแบบคอพับ ซึ่งอาจจะเป็นแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ มีกระเป๋าเสื้อบริเวณหน้าอก ๒ ข้างเป็นเครื่องแบบที่ใช้ทั่วๆ ไป ส่วนอีกแบบหนึ่งนั้น คือแบบคอแบะ ซึ่งจะเป็นเสื้อแขนสั้นเท่านั้นและใส่ปล่อยเอวไม่เหน็บเข้าไว้ในกางเกงหรือกระโปรง ใส่ร่วมกับกางเกงขายาวสีเดียวกันซึ่งจะมีตะเข็บด้านหน้าหรือไม่ก็ได้ สำหรับสุภาพสตรีนั้นจะใส่กับกระโปรงสีกากีเช่นกัน โดยความยาวของกระโปรงให้คลุมหัวเข่าเล็กน้อย ส่วนชายกระโปรงบานออกพองาม
เครื่องแบบพิธีการนั้น ส่วนของตัวเสื้อผู้ชายซึ่งเป็นสีขาวนั้น เรียกว่าเสื้อราชปะแตน ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ได้เสด็จไปประพาสประเทศอินเดียและยุโรป ทรงเห็นรูปแบบเสื้อที่ผู้นำระดับประเทศหรือข้าราชการชั้นสูง สวมใส่ที่มีลักษณะพิเศษคือส่วนของคอจะตั้งขึ้น จึงนำมาดัดแปลงโดยมอบให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีเป็นผู้ทำแบบขึ้น และมีพระบรมราชานุญาต ให้ตั้งชื่อโดยผสมคำบาลี Raj ที่หมายถึงพระราชา เข้ากับคำภาษาอังกฤษว่า pattern จึงเป็นที่มาของคำเรียกชื่อเสื้อนี้ว่าราชแพตเทิร์น ซึ่งต่อมาได้ถูกเรียกเพี้ยนจนติดปากถึงปัจจุบันว่าราชประแตน ส่วนกางเกงนั้นยังคงเป็นกางเกงขายาวแบบที่ใช้กันทั่วไป สำหรับสุภาพสตรีใช้เสื้อแบบคอแบะ โดยสวมทับเสื้อเชิ้ตสีขาว ผูกเนคไทสีดำ ซ่อนไว้ภายใต้เสื้อตัวนอก
เครื่องแบบพิธีการนั้น ยังแบ่งย่อยออกเป็น 3 รูปแบบคือ เครื่องแบบปกติขาว กำหนดให้ทั้งเสื้อและกางเกงเป็นสีขาว เครื่องแบบครึ่งยศ กำหนดให้กางเกงเป็นสีดำ และเครื่องแบบเต็มยศ กำหนดให้กางเกงเป็นสีดำโดยให้ข้าราชการระดับสูงที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย สวมใส่สายสะพายด้วย
การสวมใส่เครื่องแบบราชการนั้น จะมีเครื่องหมายที่เป็นเข็มกลัดโลหะสีทอง แสดงถึงหน่วยงานติดประดับอยู่ที่ปกเสื้อ และแถบชั้นยศติดประดับอยู่ที่บ่าด้วยเสมอ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เป็นแถบสีหรือเหรียญตรา ให้ติดเป็นแผงเหนือกระเป๋าเสื้อบริเวณหน้าอกด้านซ้าย และอาจจะติดเหรียญเกียรติยศอื่นๆ เพิ่มเติม เหนือกระเป๋าเสื้อด้านหนึ่งด้านใดตามความเหมาะสม โดยการแต่งตัวด้วยชุดแบบพิธีการนั้น จะมีการกำหนดว่าจะใช้แบบไหนในงานแบบใด โดยแจ้งอย่างเป็นทางการล่วงหน้าเสมอ
ในสมัยที่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์รัฐบุรุษ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ ทูลขอแบบเสื้อจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อให้ข้าราชการรวมทั้งนักการเมืองสวมใส่ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ และในงานที่เป็นกึ่งทางการ ซึ่งพระองค์ได้ทรงพระราชทานแบบเสื้อที่เรียกว่า เสื้อพระราชทาน เป็นเสื้อแบบคอตั้งคล้ายคอจีน มีทั้งแขนสั้นและแขนยาว มีกระเป๋าซ่อน ๑ ใบบริเวณหน้าอกด้านซ้าย ซึ่งเป็นเสื้อที่ได้รับความนิยมและใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้
สำหรับผู้บริหารระดับผู้นำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้บริหารระดับสูง การแต่งกายที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ และถึงแม้จะเป็นวันหยุดราชการ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องแต่งตัวให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เพราะการแต่งตัวเป็นสิ่งซึ่งแสดงถึงภาวะผู้นำของบุคคลนั้นๆ ด้วย และยังจะเป็นตัวอย่างให้ประชาชนคนทั่วไป รวมทั้งเด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้ในเรื่องของการแต่งกายให้เหมาะแก่กาลเทศะและลักษณะงานที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้นด้วย
ภาพที่เห็นอยู่บ่อยครั้งในเรื่องการแต่งกายของนายกรัฐมนตรีท่านปัจจุบัน จะเห็นรูปแบบของเสื้อผ้าเป็นแบบต่างๆ ซึ่งดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นสากล เช่นการสวมชุดสูท ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ และที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ ซึ่งก็ดูเหมือนจะเหมาะสมแต่กลับปรากฏว่าถุงเท้าที่ใส่นั้น กลับเป็นสีที่ไม่เหมือนกัน และเป็นสีที่ฉูดฉาด อันเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศอื่นๆ ไม่ถือปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเหมาะสม
การแต่งกายนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งอาจจะเป็นความชอบส่วนตัว แต่การแต่งกายไปในงานที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ควรจะต้องให้มีความถูกต้องเหมาะสมตามกาลเทศะด้วย
การแต่งกายของนายกรัฐมนตรีไปในงานที่น่าจะเป็นทางการ คือการเปิดงาน โครงการยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว และอื่นๆ ซึ่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนั้น ได้ถูกจัดสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชซึ่งประชาชนได้มีส่วนร่วมบริจาคเงินด้วย โดยทรงเห็นว่าโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหลายแห่งยังมีสภาพที่ไม่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนที่เจ็บป่วยอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ได้จัดสร้างขึ้นรวม ๒๑ โรง และปัจจุบันพระองค์ยังทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด้วย
ในวันนั้น นายกรัฐมนตรีได้แต่งกายโดยสวมกางเกงยีนส์และเสื้อยืด ทับด้วยเสื้อคลุมกึ่งแจ๊กเกต และใส่รองเท้าผ้าใบราคาแพง โดยนายกฯ เป็นประธานในพิธี ซึ่งจะต้องเป็นผู้เปิดกรวยเพื่อเป็นการถวายความเคารพ ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งการแต่งกายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องถือว่าไม่เหมาะสมและไม่ถูกกาลเทศะอย่างที่สุด เป็นการไม่เทิดพระเกียรติ ไม่แสดงความเคารพยกย่องต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำประเทศต้องไม่ปฏิบัติเช่นนี้เป็นอันขาด
การกระทำดังกล่าว เป็นเรื่องที่ประชาชนจำนวนมากกล่าวถึงในทางที่ไม่ดีทั้งสิ้น ถึงความไม่เหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ไม่พึงกระทำและไม่ควรจะกระทำ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเชื่อว่าประชาชนชาวไทยที่มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และสถาบัน คงไม่อยากเห็นภาพและเหตุการณ์แบบนี้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งการจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ภาพเช่นนั้นปรากฏอีกคงมีคำตอบได้หลายคำตอบ ซึ่งท่านนายกฯคงจะต้องคิดได้เอง
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี