รัฐบาลไทยภายใต้การนำพาของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ตัดสินใจนำประเทศไทยเข้าสมัครเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD - Organization for Economic Co-operation and Development) และกลุ่ม BRICS ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็ดูภูมิอกภูมิใจแสดงออกซึ่งวิสัยทัศน์และความเป็นอินเตอร์ หรือทันสมัยทันโลก
แต่เท่าที่สดับตรับฟังข่าวคราวก็ทราบว่า ก่อนหน้านี้ทางฝ่ายรัฐบาลมิได้มีการดำเนินการให้มีการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวาง รอบคอบ ทั้งในแวดวงราชการและในกรอบรัฐสภา อีกทั้งก็มิได้มีข่าวคราวเลยว่าได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากแวดวงวิชาการ และแวดวงธุรกิจต่างๆ ของไทย
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นการสะท้อนว่า รัฐบาลเพียงต้องการสมัครไปก่อน แล้วรายละเอียดต่างๆ ค่อยมาว่ากันทีหลัง เป็นการบริหารราชการแบบฉาบฉวย ขอไปที และไปตายเอาดาบหน้า เหมือนกับโครงการยักษ์ใหญ่ (Mega Project) เช่น โครงการสะพานบกเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) และโครงการกาสิโนถูกกฎหมาย (Entertainment Complex) หรือโครงการประชานิยม กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล และจะมีผลกระทบต่อโครงการบริการ สังคม และประชาชน อื่นๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นที่จะต้องขยายและปรับปรุง หรือโครงการบ้านพักอาศัย โครงการการสาธารณสุข และโครงการการศึกษา เป็นต้น
การจะเข้าเป็นสมาชิก OECD มี 2 แนวทางคือ ทางฝ่ายคณะมนตรี OECD เป็นผู้เชิญประเทศหนึ่งใดให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก หรืออีกทางหนึ่งประเทศที่มีความสนใจเรื่อง OECD สมัครเข้าเป็นสมาชิก (ดังในกรณีของไทย)
องค์การ OECD จัดได้ว่าเป็นเสมือนสมาคม หรือคลับ (Club) ของบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ และที่สำคัญองค์การ OECD มีกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่สูง ทั้งในเรื่องการผลิต ในเรื่องการว่าจ้างแรงงาน และในเรื่องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ไปจนถึงเรื่องการบริหารจัดการแบบธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) เพื่ออำนวยให้การทำมาค้าขายและการร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิก มีมาตรฐานกลางที่สูง ที่จะอำนวยให้การร่วมมือกันและการแข่งขันระหว่างกันมีความทัดเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ
ในการนี้ก็หมายความว่า หากจะได้รับการรับเข้าเป็นสมาชิก ประเทศไทยจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งทางด้านกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ และทั้งในเรื่องการเตรียมบุคลากรทั้งทางภาครัฐและเอกชนให้พร้อมเพรียง
จึงเกิดคำถามว่า แล้วรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้เริ่มเตรียมความพร้อมต่างๆ ของประเทศไทยตามเกณฑ์แล้วหรือยัง? และจะต้องใช้เวลาเท่าใดเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ ของ OECD ได้?
เท่าที่ทราบกัน ไทยเราก็ยังมิได้เตรียมการใดๆ และยังไม่รู้ด้วยว่าหน่วยงานใดจะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ รวมทั้งระหว่างนี้จะมีการดำเนินการเพื่อให้ความรู้และความเข้าใจแก่สาธารณชนแต่อย่างใดบ้าง?
ฉะนั้นการจะได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การ OECD จึงมิใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะมั่วๆ ซั่วๆ ด่วนกระทำการไป หากแต่รัฐบาลไทยจำจะต้องมีแผนงานเพื่อเตรียมความพร้อม และจะต้องประสานกับองค์การ OECD เป็นระยะๆ
ส่วนเรื่องกลุ่ม BRICS นั้น ความเดิมมีว่า มีกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกแสดงความเห็นว่า ประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ ควรจะได้ร่วมมือกันเพื่อช่วยกันยกระดับการพัฒนาและสถานะในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งการเจรจาต่อรองกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว คือกลุ่มจีเจ็ด (Group of Seven – G7) อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น ที่ถือเป็นผู้กำหนดระเบียบโลก และทิศทางของโลกมาโดยตลอด ตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยประมาณ
ข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการตอบสนองโดย จีน รัสเซีย บราซิล และอินเดีย ในช่วงปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) โดยประมาณ และต่อมาในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) แอฟริกาใต้ก็ได้เข้าร่วมด้วย โดยกลุ่มใช้คำย่อว่า BRICS ซึ่งเอาอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของประเทศของกลุ่มมารวมกันคือ Brazil, Russia, India, China, South Africa – BRICS
ในโลกแห่งความเป็นจริงกลุ่ม BRICS นั้นมีเป้าหมายทางการเมืองที่จะต้านทานอิทธิพลและการครอบงำของกลุ่ม G7 นำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะใช้คำว่า “ปลดแอก” ก็ว่าได้ เช่น การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) เพื่อลดการพึ่งพาธนาคารโลกและสถาบัน IMF ที่กลุ่ม G7 ครอบงำอยู่ และในขณะเดียวกันก็ให้เป็นทางเลือกของการกู้ยืมเงินให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ หรือประเทศใต้ (The Global South) อีกด้วย และนอกจากนั้นกลุ่ม BRICS ก็ยังมีเป้าหมายที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาท และสุ้มเสียงมากยิ่งขึ้น มิให้อยู่ในอาณัติของสหรัฐอเมริกากันอีกต่อไป
จัดได้ว่ากลุ่ม BRICS มีความประสงค์ที่จะต่อกรกับกลุ่ม G7 และฉะนั้นจึงถือเป็นเรื่องการเมืองระดับโลก
สำหรับประเทศไทยเราก็มีมิตรไมตรีและคบหาสมาคม และทำมาค้าขายทั้งกับประเทศในกลุ่ม G7 และกลุ่มอื่น อีกทั้งไทยก็เป็นประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน และประชาคมอาเซียนก็มีความสัมพันธ์อันดี กับประเทศต่างๆ ทั้ง 2 กลุ่ม
เมื่อเป็นเช่นนั้น ไทยในกรอบของประชาคมอาเซียน มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเข้าไปเลือกข้างและท้าตีท้าต่อยกับเขาด้วยหรือ? นอกจากนั้น การที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS นั้น ได้ศึกษาเรื่องราวและไตร่ตรองดีแล้วหรือ? หรือคิดว่าอยากจะทำอะไรแบบเท่ๆ ก็เพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงผลกระทบในเชิงลบแต่อย่างใด
โดยส่วนตัว ผมเองเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่ควรเข้าร่วมในกลุ่ม BRICS เพราะเราก็ไม่ได้มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเข้าไปขับเคลื่อนบทบาทของ BRICS ได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ โดยสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ควรจะใช้เวลากระทำการอย่างจริงจังในขณะนี้ ก็คือการกระชับความสัมพันธ์ในกรอบประชาคมอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของประชาคมอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ และขับเคลื่อนให้ประชาคมอาเซียนเป็นตัวเชื่อมระหว่าง G7 กับกลุ่ม BRICS ซึ่งจะเป็นบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศไทยบนเวทีโลก
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี