หากนับการเริ่มต้นของชาติไทยว่าคือการเกิดขึ้นของอาณาจักรสุโขทัยเมื่อปีพุทธศักราช ๑๗๙๒ โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์เป็นพระองค์แรก นับจนถึงปัจจุบันนี้ก็รวมเป็นเวลา ๗๗๕ ปีแล้ว โดยในช่วงอาณาจักรสุโขทัยมีพระมหากษัตริย์รวม ๗ พระองค์
อาณาจักรอยุธยา นับเป็นอาณาจักรที่ ๒ ของชาติไทยเริ่มขึ้นในปีพุทธศักราช ๑๘๙๓ พระมหากษัตริย์พระองค์แรกคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง อาณาจักรนี้สิ้นสุดในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ รวมเป็นระยะเวลา ๔๑๗ ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดิน ๓๓ พระองค์
อาณาจักรต่อมา ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ คืออาณาจักรรัตนโกสินทร์ เริ่มขึ้นในปีพุทธศักราชนี้ ๒๓๒๕ พระมหากษัตริย์พระองค์แรกคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นต้นตระกูลของราชวงศ์จักรี มีพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินมาจนถึงพระองค์ปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รวม ๑๐ พระองค์
เมื่อนับรวมพระมหากษัตริย์ที่ปกครองชาติไทย ให้ได้สืบทอดความเป็นชาติมาจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้นมีจำนวน ๕๐ พระองค์ นับได้ว่าเป็นชาติเดียวในประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองมาโดยตลอด ถึงแม้จะมีการเสียอิสรภาพเกิดขึ้น ๒ ครั้ง แต่ก็กู้ชาติคืนมาได้ทั้ง ๒ ครั้ง โดยการเสียอิสรภาพครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๑๑๒ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกู้ชาติคืนได้ในปี ๒๑๒๗ ส่วนการเสียอิสรภาพครั้งที่ ๒ในปี ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ทรงกู้ชาติคืนได้ในปีเดียวกันนั่นเอง
การสืบราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่เดิมมานั้น ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์ต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์เดิมคือ พระราชโอรสเป็นหลัก ยกเว้นในบางครั้งผู้สืบราชสมบัติ อาจจะเป็นพระเชษฐาหรือพี่ชาย หรืออาจจะเป็นพระอนุชาหรือน้องชาย อันเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ที่อาจจะเทียบว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งเริ่มมีขึ้น ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาตอนต้น
กฎมณเฑียรบาลนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมาย ๒๗ เรื่อง ที่ประกาศในกฎหมายตราสามดวงในปีพุทธศักราช ๒๓๔๘ ตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกฎมณเฑียรบาลที่ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ที่เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังถูกยอมรับให้ใช้ได้ในรัฐธรรมนูญไทยจนถึงปัจจุบันนี้
การครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะในสมัยอาณาจักรอยุธยาอาจจะไม่ได้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล โดยมีการปรับเปลี่ยนราชวงศ์ที่ขึ้นมาปกครองแผ่นดินบ้าง เช่น จากราชวงศ์พระร่วง มาเป็นราชวงศ์อู่ทอง หรือเป็นราชวงศ์สุพรรณภูมิ เป็นต้น
การครองราชย์ครั้งหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์หลายท่านรวมทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งถือว่าเป็นพระบิดาของประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้นไม่ยอมรับ คือการขึ้นมาครองแผ่นดินของขุนวรวงศาธิราช ซึ่งถือเป็นเรื่องอัปยศที่สุด
ขุนวรวงศาธิราช เกิดจากตระกูลอำมาตย์หรือพราหมณ์ มีนามเดิมว่าบุญศรี ได้มีโอกาสเข้ามารับราชการในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระมหากษัตริย์ผู้กล้าหาญพระองค์หนึ่ง โดยมีตำแหน่งเดิมเป็นพันบุตรศรีเทพ
หลังจากที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต ผู้ที่จะขึ้นมาครองแผ่นดินแทนคือพระยอดฟ้า ซึ่งเป็นพระโอรส แต่เนื่องจากพระองค์มีพระชนมายุเพียง ๕ พรรษา จึงต้องให้พระราชชนนีคือท้าวศรีสุดาจันทร์ ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทน
วันหนึ่ง ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เสด็จไปยังพระที่นั่งพิมานรัตยาหอพระข้างหน้า ได้ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพซึ่งรับผิดชอบดูแลหอพระอยู่ เกิดมีความรักใคร่ จึงให้สาวใช้เอาเจียนหมากห่อผ้าไปพระราชทานให้ พันบุตรศรีเทพก็เข้าใจว่าพระนางมีใจรัก จึงเอาดอกจำปาฝากสาวใช้ให้นำไปถวายท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นการรับไมตรี ต่อมาได้ให้เลื่อนยศพันบุตรศรีเทพเป็นพระชินราช รักษาหอพระด้านใน ทำให้มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นจนลักลอบเป็นชู้กันในที่สุด และได้เลื่อนชั้นบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นขุนวรวงศาธิราช จึงฮึกเหิมและนำไปสู่การวางแผนชิงราชบัลลังก์ในระยะต่อมา
ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงอ้างว่า พระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ไม่เป็นปกติจึงปรึกษากับขุนนางใกล้ชิดว่า จะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน จนกว่าพระยอดฟ้าจะทรงเจริญพระชนมายุ และได้ทำการสถาปนาให้ขุนวรวงศาธิราชขึ้นมาปกครองแผ่นดิน และสมคบคิดกันนำพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษ คือประหารชีวิตที่วัดโคกพระยา โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๐๙๑
การขึ้นมาครองราชบัลลังก์ของขุนวรวงศาธิราชนั้น ไม่เป็นที่เห็นชอบของ เหล่าขุนนางอำมาตย์ในราชสำนักและพระญาติวงศ์บางส่วน เพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ จึงร่วมกันวางแผน เพื่อล้มล้างขุนวรวงศาธิราชออกจากราชบัลลังก์ โดยผู้ที่ร่วมวางแผนได้แก่ขุนพิเรนทรเทพซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ขุนอินทรเทพหมื่นราชเสนา และหลวงศรียศ
การวางแผนรอบปลงพระชนม์ท้าวศรีสุดาจันทร์และกำจัดขุนวรวงศาธิราชเกิดขึ้นด้วยการให้กรรมการเมืองลพบุรีกราบทูลว่าพบช้างเผือก ๑ เชือกที่ลพบุรี ทำให้ขุนวรวงศาธิราชต้องการจะไปจับช้างเผือก แต่ในที่สุดก็ให้ผู้อื่นไปจับแทน จนช้างเผือกเข้ามาถึงเพนียดบริเวณวัดแม่นางปลื้ม ขุนวรวงศาธิราช พร้อมกับท้าวศรีสุดาจันทร์จึงประทับเรือพระที่นั่งออกไปยังเพนียด เหล่าขุนนางที่ร่วมวางแผนโดยมีขุนพิเรนทรเทพ กับสมัครพรรคพวกเป็นหลัก จึงลอบยิงทั้งท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราช สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นจึงนำเอาพระศพของท้าวศรีสุดาจันทร์ และศพของขุนวรวงศาธิราชออกไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้ง แต่ในประวัติศาสตร์ฉบับพระราชหัตถเลขาบอกว่านำศพไปโยนให้สุนัขกิน
หลังจากสำเร็จโทษขุนวรวงศาธิราชแล้ว เหล่าขุนนางอำมาตย์จึงไปอัญเชิญ พระเทียรราชาพระอนุชาของสมเด็จพระไชยราชาธิราชซึ่งบวชอยู่ที่วัดป่าโมก ปัจจุบันคือวัดใหญ่ชัยมงคลเพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งพระองค์มิได้ทรงปฏิเสธ จึงได้มีพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งเป็นพระราชสวามีของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยวีรกษัตรีของชาติไทยนั่นเอง
หันกลับมาดูการเมืองไทย ซึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ที่ปรากฏชัดเจนว่าในขณะนี้ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำในการบริหารบ้านเมืองที่เรียกว่านายกรัฐมนตรีนั้น ต้องผ่านกระบวนการในการคัดเลือกและเห็นชอบโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยหากได้รับเสียงส่วนใหญ่ซึ่งก็มาจากพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ และพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน ที่เรียกว่าพรรคร่วม ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้
แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่คงเห็นแล้วว่า มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะแทรกแซงการบริหารบ้านเมืองโดยอดีตนักการเมืองผู้หนึ่ง ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต้องหนีออกไปนอกประเทศเนื่องจากการประพฤติทุจริตมิชอบ และศาลสูงสุดได้ตัดสินลงโทษให้จำคุก ๘ ปี
นักการเมืองผู้นี้ได้พยายามทุกวิถีทาง ในการกลับเข้าสู่ประเทศไทย และด้วยความร่วมมือของนักการเมืองระดับสูงและข้าราชการบางส่วนทำให้สามารถกลับเข้าประเทศไทย โดยได้ขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระเมตตาพระราชทานอภัยลดโทษให้เหลือเพียง ๑ ปี แต่ก็มีกระบวนการที่ทำให้ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในคุกหรือเป็นนักโทษแม้แต่วันเดียว เป็นเรื่องที่ผิดวิสัย เป็นการกระทำที่อาจเกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม ได้รับการดูหมิ่นดูแคลน จากประชาชนและจากนานาอารยประเทศได้ ยกเว้นพรรคพวกตัวเอง
แต่เรื่องที่ไม่พึงกระทำจากบทบาทที่เห็นอยู่ขณะนี้ก็คือความพยายามที่จะใช้อิทธิพลที่มีอยู่แทรกแซงการบริหารบ้านเมือง โดยอ้างว่าเป็นการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่เป็นนายกฯ ที่มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
ก็ได้แต่หวังว่า บ้านเมืองจะไม่ประสบเภทภัยที่เกิดจากการกระทำของบุคคลดังกล่าว และหากเป็นเช่นนั้นก็คงต้องคอยติดตามดูว่า ผลแห่งกรรมจะเป็นดั่งเช่นที่ขุนวรวงศาธิราชเคยได้รับหรือไม่
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี