บัดนี้ ก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกาก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันและนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีในคณะรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ที่จะสิ้นสุดวาระภายใน 4 เดือนข้างหน้า โดยสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ถอนตัวจากการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 กับ โดนัลด์ ทรัมป์
ฉะนั้นการเมืองสหรัฐฯ ก็จะเข้มข้น ครึกโครม จากบัดนี้ไปจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2524 ที่ประชาชนพลเมืองชาวอเมริกัน จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง และก็แน่นอนความเป็นไปในสหรัฐฯ ก็จะอยู่ในความสนใจของผู้คนทั้งโลก เพราะสหรัฐฯ เป็นเจ้าโลก และความเป็นไปก็จะมีผลกระทบต่อชาวโลกอย่างกว้างขวาง
ประวัติของผู้ท้าชิงทั้งสอง สะท้อนความหลากหลายของสังคมอเมริกัน และบ่งบอกซึ่งความเปิดกว้าง และการมีโอกาสของผู้คน ไม่ว่าจะมีแห่งหนมาแต่อย่างใด นายโดนัลด์ทรัมป์ มีเชื้อสายมาจากชาวไอริช ส่วนนางกมลา แฮร์ริส มีมารดาเป็นคนเชื้อสายอินเดีย ส่วนบิดาเป็นชาวจาไมกา เชื้อสายคนผิวสีจากทวีปแอฟริกา
ถ้าจะพูดกันตามภาษาอเมริกันคาวบอย ก็มีคำถามว่า ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มดวลกันในเรื่องอะไรบ้าง เพื่อชนะใจคนอเมริกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
ในมุมกว้าง นางกมลา แฮร์ริส ก็บอกว่าตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตย คำนึงถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทัดเทียม และเห็นว่าฝ่ายนายโดนัลด์ ทรัมป์ก็จะนำมาซึ่งความสับสนยุ่งเหยิง ลัทธิแบ่งแยกเกลียดชังและแข็งกร้าวดุดัน สร้างความแตกแยกในสังคม ขณะที่ตัวนางกมลา แฮร์ริส ก็จะมีความละมุนละม่อม ออมชอมปรองดอง
ในเรื่องเฉพาะที่อยู่ในความสนใจและเป็นข้อกังวลของชาวอเมริกัน ก็มีเรื่องการทำแท้ง การเป็นเจ้าของอาวุธปืน เรื่องชาติพันธุ์นิยม เรื่องผู้อพยพลี้ภัยและแรงงานต่างด้าว เรื่องการรักษาพยาบาลและการช่วยเหลือทางด้านสวัสดิการ และเรื่องสหภาพแรงงาน ไปจนถึงเรื่องบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐฯ และการที่เป็นผู้นำของสหรัฐฯ รวมทั้งการเป็นพันธมิตรกับมิตรประเทศต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดยืนหรือทีท่าที่แตกต่างและตรงกันข้ามกัน เช่น เรื่องสิทธิในการทำแท้ง ที่ฝ่ายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เห็นด้วยไม่ว่าในกรณีใดๆ ตรงกันข้ามกับฝ่ายนางกมลา แฮร์ริส ที่เห็นว่าเรื่องการทำแท้งเป็นสิทธิขององค์บุคคล และในกรณีการตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน หรือเพราะผู้เป็นบิดามีเพศสัมพันธ์กับบุตรี ก็อยู่ในวิสัยที่จะให้มีการทำแท้งได้
ในเรื่องการครอบครองอาวุธปืน ฝ่ายนายโดนัลด์ทรัมป์ ก็เห็นว่าเป็นสิทธิพลเมืองที่จะมีอาวุธไว้ป้องกันตัวเองแต่ฝ่ายนางกมลา แฮร์ริส เห็นว่าควรจะมีการจดทะเบียนและสืบประวัติผู้ซื้ออาวุธ และมีการควบคุมชนิดของอาวุธอย่างเข้มข้น ส่วนในเรื่องคนต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศ ฝ่ายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็พร้อมที่จะมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มแข็งเข้มข้น และได้เคยดำเนินการมาแล้วในระดับหนึ่ง เช่น การสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐอเมริกา กับเม็กซิโก ในช่วงที่เป็นประธานาธิบดีครั้งแรก และบัดนี้ก็ได้ประกาศนโยบายที่จะส่งกลับ (Deportation) ผู้ที่ได้ลักลอบเข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ กลับไปยังประเทศต้นทาง ต่างจากฝ่ายนางกมลา แฮร์ริส ที่มีมาตรการผ่อนปรนต่อผู้อพยพ และผู้หลบหนีเข้าเมืองมากกว่า
ขณะที่ในเรื่องการต่างประเทศนั้น ฝ่ายนายโดนัลด์ทรัมป์ ก็จะดำเนินนโยบายค้าขายแบบ “หมูไปไก่มา”(Deal-transaction) และเห็นว่าประเทศต่างๆ ที่พึ่งพาสหรัฐฯ ในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยนั้น จะต้องออกแรงออกเงินเพื่อช่วยตนเองให้มากขึ้น และต้องรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งให้กับกองกำลังสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ และสหรัฐฯ จะต้องลดบทบาท ไม่ไปยุ่งเกี่ยวข้องแวะไปทุกเรื่อง และจะใช้เวลาในการต่อกรกับศัตรูตัวสำคัญคือ จีน เท่านั้น และฉะนั้นก็มีนัยว่าจะลดบทบาทและการสนับสนุนองค์การนาโต ที่ช่วยเหลือยูเครนในการสู้รับกับรัสเซีย เป็นต้น อีกทั้งนายโดนัลด์ทรัมป์ ก็พร้อมที่จะพบปะเจรจาหารือกับบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ที่ไม่เป็นมิตร หรือประชาคมโลกส่วนใหญ่เขาเหนื่อยหน่ายและไม่เอาด้วย แทนการคว่ำบาตร ส่วนทางฝ่ายนางกมลา แฮร์ริส ก็คงจะดำเนินนโยบายต่อจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่จะตรงกันข้ามกับความนึกคิดและท่าทีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างๆ
นอกจากนั้น นางกมลา แฮร์ริส เป็นคนผิวสี จึงไม่แปลกที่จะมีจุดยืนในการต่อต้านลัทธิคนผิวขาวเป็นใหญ่ในแผ่นดิน (White supremacy) ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นแกนนำ และเป็นองค์สัญลักษณ์
ทั้งหมดดังกล่าวนี้ ก็บ่งบอกว่า การรณรงค์หาเสียงของทั้งฝ่ายน่าจะเต็มไปด้วยความเข้มข้น ดุเด็ดเผ็ดมัน และก็คงจะมีวิวัฒนาการไปจนถึงระดับการสาดโคลนกันในเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
แต่ทั้งหมดนี้โลกก็คงเบาใจได้ในระดับหนึ่ง ที่สหรัฐฯเป็นสังคมเปิด และคงความเป็นสังคมประชาธิปไตยที่อำนวยให้มีการแสดงความคิดเห็น การกระจายข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งอำนวยให้มีการตื่นตัวและตื่นรู้ และการใช้วิจารณญาณกันได้อย่างเต็มที่
ส่วนสำหรับประเทศไทยเรานั้น ไม่ว่าสหรัฐฯ จะได้ประธานาธิบดีคนใหม่คนใด เราก็ยังคงต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองเป็นสำคัญ โดยต้องเริ่มที่ฝ่ายการเมืองที่จะต้องคิดและกระทำการเพื่อประเทศชาติเท่านั้น และเลิกคิดปฏิบัติที่เอาประโยชน์เข้าตนเป็นหลักเท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนได้จากการเมืองสหรัฐฯก็คือ ผู้นำและนักการเมืองของเขามักจะเอาเรื่องชาติบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง และมักจะต่อสู้กันในเรื่องสาระเนื้อหา เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี