มีคำถามว่า ทุกวันนี้โครงการก่อสร้างรถไฟ High Speed Train เชื่อมต่อสนามบินทั้งสามแห่งคือ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภาซึ่งผู้ได้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการคือ บริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด หรือที่หลายคนรู้จักในนามรถไฟฟ้า CP
ถามซ้ำว่า ล่าสุดโครงการนี้ไปถึงไหนแล้วคำตอบคือ ยังไม่ถึงไหน และยังไม่มีการดำเนินการใดๆอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงมีคำถามต่อไปว่า แล้วรัฐบาลติดตามเรื่องนี้อย่างไร
อย่าลืมว่าโครงการรถไฟฟ้า CP ลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการนี้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 บัดนี้ผ่านมาถึงปลายเดือนกรกฎาคม 2567 แต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ได้รับสัมปทานลงมือทำโครงการแม้แต่น้อย ยังไม่มีการตอกเสาเข็มต้นแรก ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น แต่ก็ต้องย้ำว่ารัฐบาลไทยก็ยังเฉยเมย ไม่ติดตามเรื่อง ไม่กดดันให้ รถไฟฟ้า CP ต้องรับผิดชอบอะไรเลยแม้แต่น้อย
นอกจาก รถไฟฟ้า CP ยังไม่เริ่มลงมือดำเนินโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบินทั้งสาม แต่กลับกลายเป็นว่า รถไฟฟ้า CP ได้ขอแก้ไขสัญญาก่อสร้างกับรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้น่าสงสัยมาก เพราะในเมื่อยังไม่มีการลงมือก่อสร้างโครงการแต่เหตุใดจึงจะขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน
อย่าลืมอีกเรื่องคือ รถไฟฟ้า CP ได้เข้าไปดูแลการให้บริการของ Airport Rail Linkแล้วด้วย ถามว่าทำไมจึงเข้าไปบริหารการเดินรถ Airport Rail Link ได้ เรื่องนี้เป็นความเคลือบแคลงสงสัยของสาธารณชนมาโดยตลอด
ข้อเท็จจริงในการโครงการนี้คือ รถไฟฟ้า CPได้สิทธิ์ในการเข้าไปจัดการพื้นที่มักกะสัน และศรีราชา ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้สิทธิ์การบริหารเดินรถ Airport Rail Link ตั้งแต่ปี 2564 และได้สิทธิ์บริหารจัดการการเดินรถไฟฟ้าเชื่อมต่อสนามบินทั้งสามแห่ง โดย รถไฟฟ้า CPทำสัญญาว่าจะให้เงินค่าสิทธิ์การบริหาร Airport Rail Link เป็นเงิน 10,671 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ปรากฏว่ายังไม่มีการชำระเงินแต่ประการใด ขอย้ำว่า รถไฟฟ้า CP เป็นผู้เสนอเงินสัมปทานให้กับรัฐบาลเอง แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีการชำระเงินแต่ประการใด แถมยังมีการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด คำถามที่ต้องถามให้หนักคือ ทำไม รถไฟ CP จึงเข้าไปบริหารการเดินรถของ Airport Rail Link ได้ เข้าไปได้อย่างไรทั้งๆ ที่ยังไม่ได้จ่ายเงินให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเลยแม้แต่บาทเดียว
คำถามคือ หน่วยราชการใดอนุญาตให้รถไฟ CPเข้าไปบริหารการเดินรถ Airport Rail Link แล้วเมื่อเกิดปัญหาดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ก็ต้องถามต่อไปว่าหน่วยราชการที่อนุญาตเรื่องนี้จะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไร ทำไมหน่วยราชการไทยจึงไม่รักษาสิทธิ์และผลประโยชน์สาธารณะแล้วเหตุใดจึงยอมให้เอกชนได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินของทางการ โดยที่เอกชนไม่จ่ายเงินใดๆ ให้ทางราชการแม้แต่น้อย
ผู้ที่ติดตามสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินทั้งสามแห่ง ตั้งคำถามต่อไปว่า ผู้ได้รับสัมปทานโครงการก่อสร้างนี้ คือ รถไฟ CP จะจ่ายเงินค่าสัมปทานให้รัฐบาลอย่างไร แล้วจะลงมือก่อสร้างเมื่อไร แล้วเหตุใดหน่วยงานราชการจึงยอมให้รถไฟ CP แก้สัญญาสัมปทานได้อย่างง่ายดาย
มูลค่าโครงการนี้รวมทั้งหมด 224,544.36 ล้านบาท การลงทุนแบบร่วมรัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership) แต่ข้อเท็จจริงคือรถไฟ CP ขอแก้ไขสัญญามาโดยตลอด ทั้งๆที่ยังไม่ได้ลงมือทำโครงการใดๆ เลย แต่ที่น่าประหลาดใจคือ เหตุใดรัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้รถไฟ CP ขอแก้สัญญาได้โดยตลอด เรื่องนี้ทำให้ต้องถามซ้ำๆ และถามหนักๆ ว่าทำไมหน่วยงานรัฐบาลไทยจึงไม่รักษาผลประโยชน์สาธารณะ ขอย้ำอีกทีว่าเรื่องนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วไล่เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แต่สาธารณชนก็ยังคงมองเห็นเหมือนกันว่าทั้งสองรัฐบาลไม่ได้พยายามรักษาผลประโยชน์สาธารณะแม้แต่น้อย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี