การอภิปรายเรื่องเงินเดือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะจะมีสมาชิกฯที่มาจากการเลือกตั้งดังนั้นในการประชุมเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมพ.ศ. 2476 นั้น หลวงวิจิตรวาทการ ได้ลุกขึ้นอภิปรายเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งว่า “…พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่รัฐบาลเก่าแก้ไขให้ได้เปลี่ยนแปลงมาก” ในวันนั้นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษานายกฯได้ลุกขึ้นมาชี้แจงในสภาฯ ว่า “พระราชบัญญัติเลือกตั้งที่ออกใหม่ ได้แก้ไขพระราชบัญญัติฉบับเดิม และเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง เช่นในเรื่องจำกัดอายุ และการแบ่งจังหวัดใหม่ก็เกี่ยวกับสิทธิของราษฎร…” การอภิปรายในวันนั้น จึงทำให้ทราบว่าพระยามโนฯได้แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งที่ถือว่าสำคัญที่ ท่านวรรณไวทยากร ยกมาให้เห็น คือเรื่องจำกัดอายุ และเรื่องการแบ่งจังหวัดใหม่ ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของราษฎร
การประชุมสภาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้งพ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2576โดยประธานคณะกรรมาธิการสำรวจและพิจารณากฎหมาย คือหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้เป็นผู้ชี้แจง แต่ประชุมกันจนเลิกประชุมในวันนั้นก็แก้ไขไม่ได้เลย และ นัดประชุมสามัญในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 1 สิงหาคม
การประชุมวิสามัญในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2576 นี้ ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาร่างกฎหมายแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งปรากฏว่านาย เล้ง ศรีสมวงศ์ สมาชิกสภาประเภทที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่มาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้เอง ได้ขออนุญาตประธานฯอ่านข้อความในจดหมายของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งยังเดินทางกลับมาไม่ถึงประเทศไทยให้ที่ประชุมทราบ จากข้อความในจดหมายนี้เองทำให้ที่ประชุมมีโอกาสได้ทราบว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม กับพระยามโนฯได้มีความคิดขัดแย้งกันเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง ความในจดหมายของหลวงประดิษฐ์ มีว่า
“พระราชบัญญัติใหม่นี้ได้แก้ไขพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 ในข้อความสำคัญโดยที่พระยามโนฯกับพวกได้นำเอาข้อความที่ตนเถียงแพ้ในขณะที่ร่าง กับที่ตนจำนนในทางปฏิบัติมาใส่ไว้เกือบทั้งสิ้น”
ข้อความในจดหมายยกถึงประเด็นต่างๆมากกว่า 10 ประเด็น ได้ชี้ให้เห็นว่าพระยามโนฯเคยนำร่างไปถวายให้พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรด้วย ความที่ว่า
“ข้าพเจ้าจำได้ว่า เมื่อได้ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งพ.ศ. 2575 เสร็จแล้ว พระยามโนฯได้นำร่างนั้นไปถวายพระมหากษัตริย์ให้ทอดพระเนตร ครั้นแล้วพระยามโนฯได้มาบอกกับข้าพเจ้าว่า พระมหากษัตริย์ทรงชมเชยข้าพเจ้าว่า ร่างกฎหมายนี้ทรงเห็นว่าเป็นหลักประชาธิปไตย…”
จากนั้นความในจดหมายของหลวงประดิษฐ์ก็ได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า
“แต่เหตุไฉนรัฐบาลอันมีพระยามโนฯเป็นนายก จึงได้จัดการแก้พระราชบัญญัตินี้เสียเล่า”
การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในสภาฯครั้งหลังนี้ใช้เวลาประชุมหลายครั้ง มีผลการแก้ไขที่สรุปประเด็นที่สำคัญได้ 5 ประเด็น
1. เปลี่ยนไปให้ทุกจังหวัดมีผู้แทนราษฎรได้อย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งคน
2. เปลี่ยนไปให้จังหวัดที่มีราษฎรเกินกว่า 100,000 คน มีผู้แทนเพิ่มขึ้นได้อีก 1 คน ทุก 100,000 คน
3. เปลี่ยนให้อายุผู้เลือกตั้งเริ่มตั้งแต่20 ปีบริบูรณ์
4. เปลี่ยนไปให้อายุผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเริ่มตั้งแต่ 23 ปีบริบูรณ์
5. เปลี่ยนไปให้ข้าราชการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรนอกจังหวัดที่ตนมีตำแหน่งประจำทำงานอยู่ได้
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี