โดยรูปแบบแล้ว...ภูมิรัฐศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ (Geopolitical pattern) ในอดีตที่ผ่านมาล้วนแล้วไม่ต่างกันมาก กล่าวคือบริเวณพื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันตกติดมหาสมุทรแปซิฟิกและชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดมหาสมุทรแอตแลนติกหรือที่เรียกว่าเขตนิวอิงแลนด์ จะเป็นพื้นที่สีฟ้าของพรรคเดโมแครต (ดูรูปข้างล่าง)
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสองครั้งล่าสุด
รูปแบบทางภูมิรัฐศาสตร์นี้บ่งบอกว่า พื้นที่บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรทั้งสองด้านเป็น พื้นที่สีฟ้าของพรรคเดโมแครตมลรัฐเหล่านี้เต็มไปด้วยเมืองท่าริมมหาสมุทร อันเต็มไปด้วยความแตกต่างนานาชนิดที่ติดมาจากดินแดนอื่นที่อยู่ไกลออกไปจากประเทศของตน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองติดชายฝั่งมักจะมีโอกาสที่ได้พบเห็นคนที่หลากหลาย ต่างชาติต่างภาษา ต่างขนบธรรมเนียมประเพณีได้มากกว่า ดังนั้นผู้คนจึงมีลักษณะเป็นเสรีนิยม (Liberal) อันมีแนวโน้มที่จะยอมรับความหลากหลาย ผิดแปลกไปจากตนเองได้มากกว่าคนที่อยู่ในใจกลางของแผ่นดิน ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคเดโมแครต
ในขณะที่บริเวณตอนใต้ (Southern States) แถบกลางๆ (Central States) และทางเหนือที่เรียกว่า Mountain States ของสหรัฐก็จะเป็น พื้นที่สีแดงของพรรครีพับลิกัน ซึ่งแน่นอนผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก็มีลักษณะอีกแบบ อันตรงกันข้ามกับพวกแรกที่อาศัยตามชายฝั่งมหาสมุทรทั้งสองด้าน คนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่โน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม (Conservative) ซึ่งก็ไปพ้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองของรีพับลิกัน ไม่ค่อยเปิดหูเปิดตากับเรื่องราวความเป็นไปที่นอกเหนือไปจากเรื่องของตัวเองหรือชาติของตน เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเอง (หรือชาติของตน)เป็นนั้นมันดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงมัน สิ่งที่ต้องทำก็คือพยายามรักษามันไว้ ให้เป็นแบบนี้อยู่ตลอดไป ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดงเหล่านี้บางคนอย่างว่าแต่เดินทางออกนอกประเทศสหรัฐเลย ทั้งชีวิตแค่ออกไปนอกรัฐตนเองก็ยังไม่เคยด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม.....ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical pattern) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐก็มักจะมาจากสมรภูมิเลือกตั้งในรัฐที่ถูกเรียกว่า “Swing State” หรือ รัฐที่ทั้งแฮร์ริสและทรัมป์ยังมีคะแนนคู่คี่สูสีกันอยู่ ไม่อาจชี้ชัดลงไปได้ว่ารัฐดังกล่าวเป็นสีฟ้าหรือสีแดง ซึ่งในครั้งนี้มีประมาณ 12 swing states (ดังรูป)
สมรภูมิ 12 รัฐ
ถ้าดูจากแผนที่สมรภูมิเลือกตั้งข้างต้นนี้ Swing State หรือจะเรียกว่า Battleground State ก็ได้ คือรัฐที่เป็นสีส้ม 12 รัฐ อันได้แก่ ฟลอริดา (FL : 30) จอร์เจีย (GA : 16) นอร์ท แคโรไลนา (NC : 16) เพนซิลเวเนีย (PA : 19)นิวแฮมป์เชียร์ (NH : 4) เมน (ME : 4) มิชิแกน (MI : 15)วิสคอนซิน (WI : 10) มินนิโซตา (MN: 10) โคโรลาโด (CO: 10) อริโซนา (AZ: 11) และเนวาดา (NV: 6)
ตัวเลขในวงเล็บ คือ จำนวน Electoral Vote ของแต่ละรัฐ ซึ่งในแต่ละรัฐทั้ง 50 รัฐจะมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ยกตัวอย่าง เช่น แคลิฟอร์เนีย (CA) เป็นรัฐที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด ประมาณ 39 ล้านคน (ปัจจุบันอเมริกามีประชากรทั้งหมดประมาณ 336 ล้านคน) มี 54 Electoral Votes รองลงมาคือ รัฐเท็กซัส (TX) ประชากรประมาณ 30 ล้านคน มี 40 Electoral Votes โดยทั้ง 50 รัฐจะมีคะแนน Electoral Votes รวมกันทั้งหมด 538 คะแนน ซึ่งถ้าใครได้ Electoral Votes อย่างน้อย 270 คะแนน หรือเกินครึ่งหนึ่ง คนนั้นก็คือผู้ชนะไป โดยในระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะตัดสินกันที่ คะแนน Electoral Vote ไม่ใช่คะแนน Popular Vote ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐถือเป็นระบบ winner-take-all (ใครชนะกวาดเรียบ) หรือจะเรียกว่าเป็น Zero-sum game(ใครแพ้อดหมด) ก็ได้ ยกตัวอย่าง เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย (CA) มีประชากรประมาณ 39 ล้านคน โดยประมาณ 27 ล้านคนเป็นผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ สมมุติว่า ถ้าในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ชาวแคลิฟอร์เนียนไปเลือกนางแฮร์ริส 14 ล้านคน ส่วนอีก 13 ล้านคนเลือกทรัมป์ คะแนน 14 และ 13 ล้านเสียงตรงนี้เรียกว่า “Popular Vote” ซึ่งตรงนี้ แม้ว่าทรัมป์จะแพ้คะแนน Popular Vote แฮร์ริสเพียงแค่ 1 ล้านคะแนน (หรือเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์คือ 49% : 51%) ซึ่งก็เรียกได้ว่า ไม่ได้แพ้แบบหลุดลุ่ยขาดลอยในคะแนน Popular Vote แต่ด้วยระบบ winner-take-all นั้นจะทำให้คะแนน Electoral Vote ของรัฐแคลิฟอร์เนียทั้ง 54 คะแนนตกเป็นของแฮร์ริสแต่เพียงผู้เดียว โดยทรัมป์จะไม่ได้แม้กระทั่งสัก Electoral Vote เดียวของแคลิฟอร์เนีย ซึ่งแม้ว่าถ้าคิดตามสัดส่วนจาก Popular Vote ที่ทรัมป์ได้ในรัฐ CA แล้ว เขาควรจะได้ Electoral Votes จากรัฐ CA ประมาณ 26 คะแนน (49% ของ 54) และนี้คือสิ่งที่เรียกว่า winner-take-all ในระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งทุกรัฐเป็นใช้ระบบนี้หมด ยกเว้นรัฐ Maine (ME) และ Nebraska (NE)
เพราะฉะนั้นด้วยระบบ winner-take-all หรือ Zero-sum game เช่นว่านี้ จึงทำให้แฮร์ริสไม่จำเป็นต้องไปหาเสียงที่รัฐแคลิฟอร์เนียมากนัก เพราะมันค่อนข้างชัวร์อยู่แล้วว่ายังไง Electoral Vote ทั้ง 54 คะแนนของ Golden State (ชื่อเล่นของรัฐแคลิฟอร์เนีย) ก็ตกเป็นของอดีตอัยการสูงสุดและอดีตวุฒิสมาชิกของรัฐนี้อยู่วันยังค่ำ และทรัมป์ก็คงจะไม่มาหาเสียง ลงป้ายโฆษณาอะไรต่างๆ มากนักในแคลิฟอร์เนีย เพราะรู้อยู่แล้วว่ายังไงตนเองก็ไม่มีทางได้ 54 Electoral Votes จากรัฐนี้
ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็จะไม่ไปหาเสียงที่ Bluegrass State (ชื่อเล่นของรัฐเคนทักกี) มากนักเพราะรัฐทางใต้อย่างเคนทักกีนั้นถือเป็นพื้นที่สีแดงอันเหนียวแน่นของรีพับลิกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยทรัมป์อาจจะส่ง เจ.ดี. แวนซ์ คู่แคนดิเดต ตำแหน่งรองประธานาธิบดีของเขาซึ่งเติบโตที่นั้นไปแทนเพื่อให้ดูไม่น่าเกลียดต่อข้อครหาว่าไม่ใส่ใจกับชาวเคนทักกี
ลักษณะรัฐที่ทั้งแฮร์ริสและทรัมป์ต่างมั่นใจในระดับความเข้มข้นของพื้นที่สีฟ้าและสีแดงของตัวเองนั้นเรียกว่า Safe State ครับ ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว สมรภูมิจริงๆ ของศึกชิงตำแหน่งประมุขแห่งทำเนียบขาวจึงอยู่ที่ Swing State ซึ่งเป็นรัฐที่มีทั้งลักษณะของรัฐสีฟ้าและสีแดงผสมกัน คือ มีความหลากหลายทางการเมืองมาก ตั้งแต่เสรีนิยมสุดโต่งไปจนถึงอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว คนในภาคอุตสาหกรรมก็มีทั้งแบบนั่งโต๊ะ-ใช้สมอง (white-collar) แบบภาคสนาม-ใช้แรงงาน (blue-collar) ทั้งคนดำ คนขาว ละตินอเมริกา เอเชีย ซึ่งมีหลายระดับความเป็นอยู่อาศัย ตั้งแต่นอนในรถบ้าน (Motor Home) ไปจนถึงบ้านพักที่หรูหรา....(ยังมีต่อ)
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี