ถ้ารัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และหวังสร้างรายได้ให้กับผู้คนในระยะยาวด้วย
คำตอบ จะไม่ใช่แค่แจกเงิน หรือเติมเงินใส่กระเป๋าคนเพื่อให้ไปจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น
แต่จะต้องเติมเงินใส่กระเป๋า พร้อมกับเติมทักษะ ความรู้ เทคโนโลยี ความสามารถที่จะทำงานหรือหารายได้มากขึ้นต่อไปด้วย
1. รัฐบาลเพื่อไทยกำลังทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะควานหาเงินในงบประมาณแผ่นดินมารวมกันให้ได้ 450,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการเติมเงินหมื่น เข้ากระเป๋าดิจิทัล วอลเล็ต
เดิมตั้งเป้าไว้ 50 ล้านคน 5 แสนล้านบาท
ก่อนปรับลดวงเงิน อ้างว่า คนน่าจะมาลงทะเบียนไม่เกิน 45 ล้านคน เหลือวงเงิน 4.5 แสนล้านบาท
ซึ่งถ้าคนมาลงทะเบียนเกิน ก็จะต้องหาเงินเพิ่มอีก หรือไม่ก็พยายามตัดรายชื่อออก โดยตรวจสอบคุณสมบัติเข้มงวดพิเศษ
เมื่อเติมเงินไปแล้ว ประชาชนที่ได้เงินก็นำไปซื้อสินค้าเพื่อการบริโภค ตามร้านค้าที่ลงทะเบียนร่วมโครงการ ส่วนที่จะเกิดพายุหมุนเศษฐกิจกี่รอบจริงหรือไม่ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
ราคาของการพิสูจน์ คือ เงินแผ่นดิน 4.5 แสนล้านบาท ที่จะใช้ไปในโครงการนี้
เป็นเงินกู้ยืมจากการขาดดุลงบประมาณเกือบเต็มเพดาน
เมื่อใช้จ่ายเงินหมดไปแล้ว ประชาชน 45 ล้านคน ก็เหมือนเดิม ต้องทำงานหารายได้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ได้มีทักษะความสามารถที่จะทำงานมากกว่าเดิม และยังต้องร่วมแบกภาระหนี้ 4.5 แสนล้านบาทของโครงการนี้ ร่วมกับคนไทยอีก 20 กว่าล้านคนที่ไม่ได้รับเงินหมื่นต่อไปด้วยอีกไม่รู้กี่ปี
2. เทียบกับโครงการคนละครึ่ง
เงินจำนวนเดียวกัน 4.5 แสนล้านบาท สามารถนำมาใช้ผ่านโครงการอย่างคนละครึ่ง ได้อย่างน้อย 4 รอบ (แล้วแต่ว่าจะช่วยจ่ายหัวละเท่าไหร่)
และเงินที่เติมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจนั้นจะทำงานเพิ่มการบริโภคแบบทวีคูณทันที
เพราะประชาชนจะจ่ายเองด้วยอีกครึ่งหนึ่ง
เท่ากับว่า จาก 4.5 แสนล้าน จะเพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาท!!!
ที่สำคัญ สามารถทยอยเติมเงินเข้าไปได้ทันทีโดยไม่ต้องรอสิ้นปี
3. ควรให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการอัปสกิล-รีสกิล มากกว่านี้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เคยชี้แจงกรณีการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ระบุว่า การดึงดูดการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่ว่าเอาแค่ธุรกิจที่เข้ามาเพียงอย่างเดียว หรือนำเอาเม็ดเงินมาเพียงอย่างเดียว หลายๆ อย่างที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การอัปสกิล รีสกิล การเทรนบัณฑิตเพิ่งจบใหม่ และวิศวกรที่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับอุตสาหกรรมที่มีผลกำไรสูง อุตสาหกรรมไฮเทค ต้องมีการนำเรื่องดังกล่าวใส่เข้าไปภายในข้อตกลงในการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศของเรา เพื่อให้พี่น้องของเราได้รับการเทรน หรือการฝึกงานที่เหมาะสม ทำให้ก้าวสู่โลกที่มีรายได้สูงขึ้นและมีกำไรสูงขึ้นด้วย
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ เคยให้สัมภาษณ์ว่า หากให้ความสำคัญกับการดูแลคน ไม่ให้ตกงานหรือไม่ถูกเทคโนโลยีแย่งงาน ถ้ารัฐบาลไม่ทำโครงการเติมเงินหมื่น 5 แสนล้านเราจะมีเงินแจกคูปองสำหรับ UpSkill-ReSkill ให้กับคนทั้งประเทศให้เท่าทันโลก เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ได้ถึง 7 ปีเต็มๆ !!!
“...ในประเทศสิงคโปร์จะมีโครงการที่ชื่อว่า SkillsFuture Singapore
โดยภาครัฐจัดสรรงบประมาณก้อนหนึ่ง จากนั้นก็แจกเป็นคูปอง เป็นเทรนนิ่งคูปองให้กับประชาชน
กล่าวคือ ภาครัฐไม่ได้เป็นคนลงมาเทรนนิ่งให้แต่ภาครัฐเป็นคนลงมาสนับสนุน แล้วประชาชนจะเลือก training center ภาคเอกชนที่ดีมีคุณภาพเอง
ทาง training center ก็จะมีกลไกการแข่งขันกันด้วยว่าใครเทรนได้ดีกว่า Upskill-Reskill ได้ตรงตามความต้องการของตลาดกว่า ซึ่งแตกต่างกับคอร์สที่จัดหรือบริหารจัดการโดยรัฐบาลเอง…
..ปัจจุบันจะทำนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ผมเสียดายเงิน 5.6 แสนล้านบาทมาก
ถ้าเอาเงินนี้มาทำ SkillsFuture แบบสิงคโปร์ เราจะใช้เงินเพียงปีละ 7 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น
โดยให้สิทธิกับคนไทยได้เกือบทั้งประเทศ…” - ดร.สมชัยกล่าว
4. อันที่จริง พรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายเกี่ยวกับการ Upskill และ Reskill
พรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาล ก็มีนโยบายเรื่องนี้โดยตรง ชัดเจนที่สุด
นโยบายรัฐบาลเอง ก็มีเรื่องนี้
แต่น่าเสียดาย ให้ความสำคัญน้อยนิด
ทั้งๆ ที่ หากใช้วิธีจ้างคนไทยให้อัปสกิล จะสามารถเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงินควบความรู้ทักษะในการหาเงินในโลกยุคใหม่ที่เท่าทันต่อไปได้ด้วย
การ Upskill และ Reskill ให้กับพนักงาน เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนมีมานานแล้ว
ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ความต้องการผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผลกระทบ เช่น ร้านค้าที่ไม่ขายออนไลน์ยอดขายตก กิจการที่ไม่เท่าทันโดนดิสรัป ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ การอัป Upskill และ Reskill จะช่วยเพิ่มทักษะใหม่ๆ เช่น วิธีขายออนไลน์ วิธีจัดส่ง วิธีใช้เทคโนโลยี สำหรับอาชีพต่างๆ เพื่อเสริมความสามารถในการหาเงิน
วิธีการสามารถออกแบบได้มากมาย ไม่เหมือนเดิม เช่น ออกไปอบรมให้แม่ค้าในตลาดแบบตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเรื่องการขายออนไลน์ หรือทำบัญชี โดยเมื่อทักษะผ่านเกณฑ์ ก็จ่ายเงินให้แม่ค้าที่ผ่านการอบรม ฯลฯ
คุ้มค่ากว่าแจกเงิน คือ สร้างคนออกไปโกยเงินกลับมา
5. เทียบกับโครงการของรัฐบาลเศรษฐาเหมือนกัน อีกหนึ่งโครงการ
ครม.เพิ่งจะเห็นชอบไปหมาดๆ คือ โครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567
โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 275.65 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
ที่มาของโครงการนี้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)ได้จัดทำแผนโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER
โดยมีเป้าหมายในการยกระดับมวยไทยจากศิลปะการต่อสู้ประจำชาติสู่การเป็นศิลปะการต่อสู้ระดับโลก
สนับสนุนส่งเสริมให้นักมวยไทย ครูมวยไทย เทรนเนอร์มวยไทย รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจมวยไทยได้มีโอกาสแข่งขันและถ่ายทอดวิชาความรู้ เพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมสู่ระดับนานาชาติ เพื่อสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มด้วยมาตรฐานระดับโลกสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
ประกอบด้วยโครงการย่อยต่างๆ เช่น การพัฒนาองค์ความรู้มวยไทย การเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของบุคคลในวงการกีฬามวย การจัดการแข่งขันกีฬามวยไทยเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กีฬามวยไทยทั้งในและต่างประเทศ และการรับรองมาตรฐานมวยไทยสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ
ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการและกรอบวงเงินงบประมาณของโครงการดังกล่าว
กระทรวงการท่องเที่ยวฯมีงบประมาณในการดำเนินงานโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER ปี 2567 ไม่เพียงพอ จึงได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบวงเงิน 275.65 ล้านบาท
(1) การพัฒนาองค์ความรู้มวยไทย ได้แก่ จัดทำหลักสูตรมวยไทย 10 ขั้น งบ 4.93 ล้านบาท
(2) การเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพของบุคคลในวงการกีฬามวย ประกอบด้วย จัดอบรมผู้ตัดสินและผู้ฝึกสอน จัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ Anti Doping จัดคลินิกมวยไทย ตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานสมรรถนะครูมวยไทย งบ 46.60 ล้านบาท
(3) การจัดการแข่งขันมวยไทยเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย อุดหนุนค่ายมวยจัดแข่งขัน First Fight จัดการแข่งขันมวยไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดการแข่งขันประกวดคีตะมวยไทย งบ 143.72 ล้านบาท
(4) การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กีฬามวยไทยทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย จัดทำวีดีโอประชาสัมพันธ์จัดกิจกรรมเผยแพร่มวยไทย งบ 23.64 ล้านบาท
(5) การรับรองมาตรฐานมวยไทยสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ ประกอบด้วย จัดตั้งศูนย์ทดสอบผู้ฝึกสอนมวยไทย จัดคลินิก Muaythai Master Class ตรวจรับรองค่ายมวยในต่างประเทศ งบ 51.04 ล้านบาท
(6) การกำกับ ติดตาม ประเมิน และรายงานผล กำกับติดตามการดำเนินงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ งบ 5.72 ล้านบาท
พิจารณาว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดรายได้จากการแข่งขันกีฬามวยไทยและการเจรจาธุรกิจอุตสาหกรรมกีฬามวยไทยเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมถึงการรับรองมาตรฐานและพัฒนาประสิทธิภาพบุคคลในวงการกีฬามวย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกีฬามวยไทยและเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล
โดยคาดว่า ในปี 2567 จะมีนักมวยไทย (ชาวไทย) เพิ่มขึ้น 6,032 คน
นักมวยไทย (ต่างชาติ) เพิ่มขึ้น 4,520 คน
ผู้ฝึกสอนมวยไทย (ชาวไทย) เพิ่มขึ้น 700 คน
ผู้ฝึกสอนมวยไทย (ต่างชาติ) เพิ่มขึ้น 120 คน
ค่ายมวยมาตรฐาน (ในประเทศ) เพิ่มขึ้น 500 ค่าย
ค่ายมวยมาตรฐาน (ต่างประเทศ)เพิ่มขึ้น 50 ค่ายทั่วโลก
จะสามารถสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 2,334 ล้านบาท
และสร้างการรับรู้กิจกรรมมวยไทยในต่างประเทศ 190 ประเทศทั่วโลก
น่าสนใจ สำหรับโครงการนี้ หากไม่ทำแบบอีเว้นท์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ทำจริงจังในมิติการสร้างทักษะ สร้างงาน เพิ่มรายได้เข้าประเทศ (แล้วได้ประชาสัมพันธ์ไปโดยปริยาย ตามแบบ SOFT POWER แท้จริง) จะเกิดประโยชน์มาก
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี