การที่ประชาชนพลเมืองจะรวมตัวกันออกมาประท้วงรัฐบาล มักจะมีสาเหตุที่กระทบกับปากท้องชีวิตประจำวันหรือจากการกระทำแบบใช้อำนาจโดยมิชอบ กดขี่หรือโหดร้ายทารุณต่อประชาชน แล้วก็มักจะจบลงด้วยการปราบปรามใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายรัฐบาล ส่งผลให้บ้านเมืองสงบไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่ความคุกรุ่นนั้นยังค้างคาอยู่ ซึ่งหากจะให้ราบรื่นได้จริง ก็ต้องจัดให้มีการพูดจากัน หรือไม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายและท่าทีของรัฐบาลนั้นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความออมชอมและเป็นที่ยอมรับกันได้ หรือไม่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล เพื่อให้การบริหารจัดการประเทศให้ได้ดีกว่า
ในกรณีของบังกลาเทศในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมานั้น จัดได้ว่าเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว บ่งบอกซึ่งการเลือกปฏิบัติ แยกแยะประชาชนพลเมืองออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มลูก หลาน เหลน ของบรรดาทหารและนักรบเพื่ออิสรภาพ (Freedom fighters) ที่ได้เสียสละในการสู้รบกับรัฐบาลปากีสถาน (บังกลาเทศ หรือเดิมในชื่อ เบงกอลตะวันออกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน ค.ศ. 1971) เพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากปากีสถาน กับอีกกลุ่มหนึ่งคือ ลูก หลาน เหลน ของชาวบ้านโดยทั่วๆ ไป นโยบายเลือกปฏิบัติของรัฐบาลภายใต้การนำพาของ นางชีค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ การจัดที่นั่งในระบบราชการให้กับลูก หลาน เหลน ของบรรดาทหารหาญถึงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 70 ค่อยแบ่งไปให้ลูก หลาน เหลน ชาวบ้านได้สอบแข่งขันกันเอง
การณ์นี้ก็นำไปสู่การร้องเรียน คัดค้าน และการประท้วงบนท้องถนนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เพราะผู้ประท้วงซึ่งนำโดยคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เห็นว่าเรื่องโควตาพิเศษดังกล่าวนั้นไม่แฟร์ ไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะบัดนี้เวลาได้ล่วงมาตั้ง 50 กว่าปีแล้วแล้วทำไมฝ่ายรัฐบาลยังจะต้องปฏิบัติเป็นพิเศษกับลูก หลาน เหลน ของฝ่ายขุนศึกนักรบอีก? นอกจากนั้นสังคมก็เห็นว่าได้มีการปูนบำเหน็จรางวัลและตอบแทนกันไปมากแล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เพียงพอ และต้องไม่ยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีก
คู่ขนานกันไปก็มีการยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาว่า การจัดโควตาพิเศษดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? แต่ระหว่างที่ศาลกำลังพิจาณาความอยู่นั้น การประท้วงก็ทวีความรุนแรง เช่น มีการอาละวาดทำลายห้างร้าน บ้านเรือนและสถานที่สาธารณะ โดยฝ่ายรัฐบาลก็ได้ตอบโต้ด้วยกำลังทหาร ตำรวจ และกลุ่มเครือข่ายหัวรุนแรงในสังกัดของฝ่ายพรรครัฐบาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 205 ศพ บาดเจ็บเป็น 1,000 คน และยังถูกจับกุม คุมขังอีกประมาณ 10,000 คน พร้อมกับสาดโคลนใส่พรรคการเมืองฝ่ายค้านและขบวนการศาสนาอิสลามนิยม ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการประท้วงอีกด้วย นอกจากนั้นฝ่ายรัฐบาลก็ตัดระบบการสื่อสารอินเตอร์เนตเป็นการชั่วคราวอีกด้วย
หลังจากนั้น ศาลฎีกาก็ได้มีคำตัดสินให้ลดโควตาพิเศษต่อลูก หลาน เหลน ของอดีตทหารนักรบเหลือที่ร้อยละ 7 และอีกร้อยละ 3 จัดไว้ให้ชนกลุ่มน้อย และผู้ด้อยโอกาส ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 ก็สำหรับบุคคลทั่วไปที่จะสอบเข้ารับราชการ ก็เท่ากับว่าประเด็นปัญหาได้รับการบรรเทาไปในระดับหนึ่ง ด้วยการตัดสินความของศาลฎีกา แต่ความคุกรุ่นก็คงยังมีอยู่ โดยมีคำถามจากสาธารณชนทั่วไปถึงความรับผิดชอบของฝ่ายรัฐบาลต่อนโยบายที่ผิดพลาด รวมทั้งการใช้ความรุนแรงในรูปของกำลังทหารที่ปราบปรามประชาชน อีกทั้งก็มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมไปทั้งหมด และก็มีข้อเรียกร้องเพิ่มเติม เช่น ในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น และการบริหารราชการแบบเส้นสาย
และล่าสุดก็ปรากฏว่า นางชีค ฮัสซีมา ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งและลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ความคลี่คลายก็เป็นที่จะต้องจับตากันต่อไป
บทเรียนจากกรณี บังกลาเทศ ก็คือ การหลงใหลในอำนาจ ความเชื่อว่าเสียงข้างมากเป็นใหญ่ แล้วจะทำการใดๆ ก็ได้ จึงเป็นเรื่องของเผด็จการเสียงข้างมากที่เหิมเกริมจนไม่ฟังเสียงข้างน้อย หรือความเห็นต่างใดๆ ในสังคม
นอกจากนั้นยังสะท้อนด้วยว่า ฝ่ายรัฐบาลพลเรือนบังกลาเทศที่มาจากการเลือกตั้ง ดูจะเอาอกเอาใจฝ่ายกองทัพ เสมือนกับการเอาหลังพิงฝ่ายกองทัพ และฉะนั้นก็มีนัยของการคุกคามระบอบประชาธิปไตย และปรามฝ่ายค้านและฝ่ายเห็นต่างไปในตัว แต่ที่สำคัญและเป็นเรื่องที่จะเข้าใจได้ยากว่า โดยสามัญสำนึกว่าเรื่องการจัดโควตาพิเศษนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังกล้าหาญชาญชัยและดันทุรัง ทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจนั้นมีความหลงตัวเป็นอย่างยิ่ง จนกล้าดูถูกดูแคลนหรือไม่ให้ค่าใดๆ ต่อประชาชนพลเมืองที่รักความยุติธรรม และพร้อมที่จะเสียเลือดเนื้อ เพื่อให้สังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง
เรื่องความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นที่แรก และก็คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ตราบใดที่โลกนี้ยังมีผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ หรือรัฐบาลที่ไม่ฟังเสียงประชาชนอยู่
และในการนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนพลเมืองถึงจุดหนึ่งก็พร้อมที่จะต่อสู้ด้วยชีวิต เพื่อเอาความถูกต้องชอบธรรมกลับคืนสู่ประเทศ ไม่มีอำนาจใดๆ จะกดขี่ประชาชนพลเมืองไปได้
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี