ราชบัณฑิต ให้ความหมายของคำว่า “เสือก” เอาไว้ว่า เข้าไปยุ่งหรือวุ่นวายในเรื่องของผู้อื่น มักใช้เป็นคำตำหนิคนที่เข้าไปยุ่งกับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตน คนที่เข้าไปยุ่งเรื่องที่เจ้าของเรื่องไม่ต้องการให้เข้ามายุ่ง มีความหมายเหมือนกับคำว่า “สาระแน”
คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวผมทันทีก็คือ การกระทำหรือพฤติกรรม ของ “น.ส.นันทนา นันทวโรภาส” กับ “นางอังคณา นีละไพจิตร” สว.พันธุ์ใหม่ จะเรียกว่า “เสือก”
หรือ “สาระแน” หรือไม่
1) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะแกนนำกลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อกังวลเฉพาะของคนไทย แต่เป็นข้อกังวลของนานาประเทศทั่วโลกไปแล้ว ที่ต่างก็ออกแถลงการณ์ ในเรื่องที่องค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน สามารถจะมายุบพรรคการเมือง ซึ่งมาจากประชาชน โดยตนเข้าใจว่าเป็นความกังวลของนานาประเทศที่อยู่ในกลไกของประชาธิปไตย และมองเป็นเรื่องใหญ่
“ในส่วนของสว.เองก็จะต้องแสดงจุดยืน เรื่องนี้ด้วย สว.น่าจะมีการออกแถลงการณ์ออกมา โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ก่อนจะนำเสนอในวันนี้ (5 ส.ค.) หรือวันพรุ่งนี้ (6 ส.ค.) ซึ่งไม่ใช่สว. พันธุ์ใหม่ หรือเพียงสว.กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจจะเป็นภาพรวมของสว. ว่าจะมีจุดยืนตรงนี้อย่างไร พร้อมเชิญชวนให้กลุ่มสว.ทุกคน ที่ตระหนักในเรื่องกลไกประชาธิปไตยมาร่วมกัน ลงชื่อตรงนี้ด้วย ส่วนรายละเอียดเนื้อหาของแถลงการณ์นั้น จะเป็นการแสดงความกังวลในเรื่องของ องค์กรอิสระสามารถเข้ามากำหนดและเปลี่ยนแปลง เรื่องของทิศทางการเมืองไทย การที่ตัวองค์กรอิสระ สามารถจะยุบสถาบันที่มาจากประชาชน พรรคการเมือง ที่ประชาชนเลือกมา จะมองในเรื่องของหลักการประชาธิปไตย ที่เป็นอารยะ” น.ส.นันทนา กล่าว
2) นางอังคณา นีละไพจิตร สว. กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองนั้นไม่ควรเกิดขึ้นและครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์ยุบพรรคการเมือง ทั้งนี้ ในกรณีของพรรคก้าวไกลนั้นที่ชนะการเลือกตั้ง และมีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 มีประชาชนร่วมบริจาคเงินให้กับพรรคเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้มีการยุบพรรคได้ง่าย และทั่วโลกต่างจับตา เพราะการ
ยุบพรรคถือเป็นเรื่องใหญ่
นางอังคณา กล่าวต่อว่า สว.ต้องมีการคุยกันว่าเราน่าจะแสดงท่าที คิดเห็นต่อกรณีนี้แต่กำลังหารือกันอยู่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ส่วนกรณีที่หากต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัยเสียงของสว.นั้น ตนคิดว่าสว.น่าจะให้การสนับสนุน โดยเฉพาะเสียงข้างมาก เนื่องจากการยุบพรรคไม่ใช่เป็นเรื่องพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่กระทบต่อทุกพรรคการเมือง
3) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ โพสต์เฟซบุ๊กสั่งสอน สองสาว สว.พันธุ์ใหม่ ทันทีในหัวข้อ “เมื่อสว.กลายพันธุ์” ความว่า
“...อ่านข่าวสว.กลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่าเป็น “สว.พันธุ์ใหม่” ล่ารายชื่อสว.ค้านยุบพรรคก้าวไกล
...ผมไม่ได้คาดหวังอะไรกับการทำหน้าที่ของสว. เพียงแต่อยากเห็นแต่ละคนแต่ละฝ่ายในบ้านเมืองนี้ต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างที่ควรจะเป็น บ้านเมืองจึงจะมีความเป็นปกติสุข
...ใครผิด-ใครถูก ก็ให้ศาลตัดสินไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
...แต่อยู่ๆ ท่านสว. จะยื่นคัดค้านไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ผมก็เพียงคิดว่า สว.ไม่รู้หน้าที่ของตัวเอง
...ผมแนะนำให้ไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 185 นะครับ ..สว./สส.ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งของตนกระทำการอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม...
...การล่ารายชื่อสว.ค้านศาล นั่นเป็นการก้าวก่ายการทำหน้าที่ของศาล ผลของการก้าวก่าย คือ ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 111(7)
...นี่ผมเตือนเอาบุญนะครับการกระทำของท่านไม่ได้เป็นสว.พันธุ์ใหม่หรอกแต่เป็น“สว.กลายพันธุ์” เสียมากกว่า
...ช่วยไม่ได้นะครับ ถ้ามีนักร้องเกิดมาอ่านข้อความในโพสต์ผม และเห็นว่า การกระทำของท่านเป็นความผิดสำเร็จแล้ว และยื่นถอดถอนท่าน ท่านก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ..เอวัง.. ก็มี.. ด้วยประการฉะนี้..”
4) น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กลุ่มพันธุ์ใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางกลุ่มยุติการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและความเห็นต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย คดียุบพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 ส.ค.แล้ว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าคงทำไม่ทันเวลา อีกทั้งเดิมที่จะมีการหารือ ในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 5 ส.ค.หลังแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด และศาลปกครอง แต่เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นเสียก่อน จึงไม่สามารถหยิบยกขึ้นหารือกับที่ประชุมได้
“เมื่อดูบรรยากาศแล้ว ก็คงไม่มีใครเห็นด้วย จึงปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ และเห็นว่านานาประเทศก็ออกมาพูดแสดงความเห็นเรื่องนี้แล้ว นอกจากนี้ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช่หน้าที่ของสว.” น.ส.นันทนา กล่าว
5) ก่อนหน้านี้ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) ส่งข้อแสดงความกังวลถึงรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน ในประเด็นการใช้ข้อกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตอบกลับเป็นข้อชี้แจงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567
ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติถูกส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านกลไกพิเศษ (Special Procedures) ภายใต้ประเด็นหลักสองด้านด้วยกัน คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มโดยสงบ เป็นเอกสารรายงานการสื่อสารเลขที่ AL THA 5/2024 ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุว่า การยุบพรรคก้าวไกลและการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอะที่สุดอาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย พื้นที่สาธารณะ เสรีภาพในการแสดงออก และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการเลือกตั้งของประเทศไทย
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ยังกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ซึ่งพรรคก้าวไกลมีนโยบายเสนอให้แก้ไขและเป็นที่มาของคดีขอให้ยุบพรรคการเมือง โดยระบุว่า เราเป็นกังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาที่หนัก
เอกสารฉบับนี้ยังระบุย้ำเตือนประเทศไทยอย่างชัดเจนว่าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ประเทศไทยชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นภายใน 60 วัน
6) ประเทศไทยตอบกลับรายงานการสื่อสารของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ซึ่งชี้แจงออกมาเป็นคำตอบสำคัญได้ดังนี้
6.1 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า การหาเสียงโดยสัญญาว่าจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกล ละเมิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ที่ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” อีกทั้งการที่ประเทศไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิของพลเมืองเอาไว้หลายประการอยู่แล้ว รวมถึงสิทธิที่จะถกเถียงในแง่มุมที่หลากหลายของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
อย่างไรก็ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19(3) ระบุว่า สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของบุคคลต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบพิเศษว่าสิทธิดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดในบางเรื่อง ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวต้องถูกระบุไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น เพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อย
ในเอกสารชี้แจงดังกล่าวรัฐบาลไทยยังได้ชี้แจงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้เพียงแค่ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท แบบเดียวกับที่ปกป้องประชาชนทั่วไปในกฎหมายหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่ยังปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเสาหลักของชาติสำหรับประชาชนคนไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (As Thailand is a constitutional monarchy, the Section also protects the the institution of the monarchy as one of the main pillars of the nation for Thai people.) อีกทั้งกฎหมายนี้ยังมีไว้สำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ จึงมีบทลงโทษที่รุนแรงหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว (warrants severe penalties,
once thoroughly considered) รัฐบาลไทยยืนยันว่า คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
สรุป : ผมอยากเห็น สว. ที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนคนไทย มีสำนึกของความเป็นไทย รักในศักดิ์ศรีและความมีเอกราชอธิปไตยของชาติ มากกว่าทำตัวเหมือนพนักงานต่างชาติ ตอแหล สาระแน บิดเบือน เหาะเหินลงกา ทำผิดหน้าที่อย่างที่เกิดขึ้นนี้ เพียงเพราะ “ลำเอียงเพราะรัก” จนบางทีเป็นส่วหนึ่งของ “การทำลายชาติ” โดยไม่รู้ตัว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี