เป็นข่าวฮือฮา ในแวดวงข้าราชการสรรพากร
ข่าวที่ว่า ศาลฏีกาพิพากษายืน ยึดทองแท่งมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท คดีร่ำรวยผิดปกติของนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ตกเป็นของแผ่นดิน
ปัจจุบัน ทองคำแท่งฝากอยู่ที่แบงก์ชาติ มูลค่าเพิ่มเป็น 800 กว่าล้านแล้ว หลังราคาตลาดพุ่งสูงขึ้น
1. ภาพนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไว้ว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เจ้าหน้าที่กำลังทำการตรวจสอบความครบถ้วนของกลางคดีร่ำรวยผิดปกติของนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร เป็นทองคำแท่ง น้ำหนักประมาณ 318 กิโลกรัม รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท
(มูลค่าขณะนั้น) ที่สำนักงาน ป.ป.ช. อายัดไว้
โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำมาร่วมตรวจสอบ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยอรินทราช และตำรวจจราจรกลาง พร้อมอาวุธครบมือ มาคุ้มกันและรักษาความปลอดภัย
หลังจากตรวจนับเสร็จแล้ว ก็นำส่งทองคำแท่งดังกล่าวไปเก็บไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นับเป็นครั้งแรกที่ ป.ป.ช. นำของกลางที่อายัดมาจากคดีร่ำรวยผิดปกติ มูลค่าสูงมาก มาตรวจสอบ และนำฝากไว้ที่ ธปท.
2. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ อร 2/2562
คดีร่ำรวยผิดปกติ ระหว่าง อสส. ผู้ร้อง และนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ถูกกล่าวหา
ศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้รายการสั่งซื้อทองคำแท่ง ในชื่อของนายสาธิต กับบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด รวม 15 รายการ มูลค่า 607,239,100 บาท โดยเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของนายสาธิต ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึงทรัพย์สินรายการอื่นๆ ที่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินอีกหลายรายการด้วย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของนายสาธิต ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ยกเว้นในส่วนของทองคำแท่งจำนวน 318 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้อายัดทองคำแท่งดังกล่าวไว้ก่อนเพื่อนำไปเก็บไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อตรวจสอบภายหลัง ขณะเดียวกัน ได้มีมติให้ อสส. อุทธรณ์คดีดังกล่าวนั้น
ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้
คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้รายการสั่งซื้อทองคำแท่ง ในชื่อของนายสาธิต กับบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด รวม 15 รายการ มูลค่า 607,239,100 บาท โดยเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของนายสาธิต ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้ในส่วนของทรัพย์สินรายการอื่นๆ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอไปนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ตกเป็นของแผ่นดินอีกหลายรายการด้วย
ล่าสุด ศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษายืนตามชั้นอุทธรณ์ดังกล่าว
3. สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้รายการสั่งซื้อทองคำแท่ง ในชื่อของนายสาธิต กับบริษัท ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด รวม 15 รายการ มูลค่า 607,239,100 บาท โดยเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของนายสาธิต ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเส้นทางการซื้อทองคำบางส่วน ถูกโอนมาจากกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มีส่วนร่วมในการทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่แจ้งกับผู้ขายทองคำว่า ไม่ต้องรายงานการซื้อขายทองเกิน 2,000,000 บาท ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ด้วย
ข้อมูลน่าสนใจ ระบุว่า
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้สั่งซื้อทองคําแท่งและทองคําแท่งดังกล่าวไม่ใช่ของผู้ถูกกล่าวหานั้น
ผู้ร้องนําสืบว่า ผู้ถูกกล่าวหาสั่งซื้อทองคําแท่งจากบริษัท ฮั่วเซ่งเฮงคอมโมดิทัช จำกัด รวม 15 ครั้ง
ครั้งที่ 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ราคาบาทละ 23,520 บาท น้ำหนัก 300 บาท
ครั้งที่ 2 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 ราคาบาทละ 23,570 บาท น้ำหนัก 845 บาท
ครั้งที่ 3 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 ราคาบาทละ 23,550 บาท น้ำหนัก 850 บาท
ครั้งที่ 4 วันที่ 20 มีนาคม 2556 ราคาบาทละ 22,250 บาท น้ำหนัก 1,000 บาท
ครั้งที่ 5 วันที่ 21 มีนาคม 2556 ราคาบาทละ 22,250 บาท น้ำหนัก 270 บาท
ครั้งที่ 6 วันที่ 1 เมษายน 2556 ราคาบาทละ 22,200 บาท น้ำหนัก 2,250 บาท
ครั้งที่ 7 วันที่ 2 เมษายน 2556 ราคาบาทละ 22,200 บาท น้ำหนัก 3,150 บาท และ 450 บาท
ครั้งที่ 8 วันที่ 4 เมษายน 2556 ราคาบาทละ 21,550 บาท น้ำหนัก 3,710 บาท
ครั้งที่ 9 วันที่ 5 เมษายน 2556 ราคาบาทละ 21,550 บาทน้ำหนัก 2,780 บาท
ครั้งที่ 10 วันที่ 17 เมษายน 2556 ราคาบาทละ 19,000 บาท น้ำหนัก 10 บาท และ 40 บาท
ครั้งที่ 11 วันที่ 18 เมษายน 2556 ราคาบาทละ 18,650 บาท น้ำหนัก 80 บาท
ครั้งที่ 12 วันที่ 22 เมษายน 2556 ราคาบาทละ 19,400 บาท น้ำหนัก 5,150 บาท
ครั้งที่ 13 วันที่ 29 เมษายน 2556 ราคาบาทละ 20,350 บาท น้ำหนัก 2,455 บาท
ครั้งที่ 14 วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ราคาบาทละ 20,280 บาท น้ำหนัก 2,465 บาท
ครั้งที่ 15 วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ราคาบาทละ 19,500 บาท น้ำหนัก 3,075 บาท
รวมน้ำหนักทองคําแท่ง 28,880 บาท เป็นมูลค่า 607,239,100 บาท
ทั้งนี้ ในการสั่งซื้อทองคําแท่งครั้งที่ 12 , 13 และที่ 14 มีนางสาวพัชรี เป็นผู้โทรศัพท์สั่งซื้อทองคําแท่งดังกล่าว มีบริษัท เกิดทรัพย์มั่งมี จํากัด บริษัทหอกิตติทรัพย์ จํากัด บริษัท จี.จี.พี.เอส.ไอ. จํากัด บริษัทโอ.เอ.โอ.พี. จํากัด และบริษัทพี.เอส. สําราญ จํากัด รวม 5 บริษัท ซึ่งขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรโดยมิชอบ โอนเงินชําระราคาทองคําแท่งทั้งสามครั้งเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ของนาย ร. (สงวนชื่อ-นามสกุล ในฐานะพยาน) กรรมการบริษัท
ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช จำกัด ในวันที่ 23 เมษายน 2556 เป็นการโอนเงินชําระราคาทองคําแท่ง ครั้งที่ 12 จํานวน 99,910,000 บาท วันที่ 29 เมษายน 2556 เป็นการโอนเงินชําระราคาทองคําแท่ง ครั้งที่ 13 จํานวน 49,959,250 บาท และวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 เป็นการโอนเงินชำระราคาทองคําแท่ง ครั้งที่ 14 จํานวน 30,000,000 บาท
ส่วนที่เหลือในครั้งที่ 14 อีก 19,990,200 บาท ชําระราคาเป็นเงินสด
การสั่งซื้อครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 11 และครั้งที่ 15 ชําระราคาเป็นเงินสดทั้งสิ้น
หลังจากมีการสั่งซื้อและชําระราคาทองคําแท่งดังกล่าวแล้ว มีการฝากทองคําแท่งบางส่วนไว้กับทางร้านทองของบริษัท ฮั่วเซ่งเฮงคอมโมดิทัช จำกัด
โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 ฝากทองคําแท่งไว้ในชื่อผู้ถูกกล่าวหา 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ฝากทองคําแท่ง 96.5 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนัก 3,075 บาท ตามสําเนาใบจองทองคําแท่งเลขที่ 3703
ครั้งที่ 2 ฝากทองคําแท่ง 99.99 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม หรือ 5,051 บาท ตามสําเนาใบจองทองคําแท่งเลขที่ 3706
ครั้งที่ 3 ฝากทองคําแท่ง 96.5 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนัก 7,000 บาท....ฯลฯ
นี่คือข้อมูลบางส่วน ยังมีรายละเอียดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จนมีน้ำหนักทำให้ศาลเชื่อว่า เป็นทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติของอดีตอธิบดีกรมสรรพากร พิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินในที่สุด
4. คดีร่ำรวยผิดปกติ ของนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร มูลค่าความเสียหายกว่า 4.3 พันล้านบาท
อื้อฉาวมาก ช่วงปี 2556-2557
สำหรับคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร มูลค่าความเสียหายกว่า 4.3 พันล้านบาท
ในส่วนกรณีคดีทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 10 ราย ได้แก่ นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร และพวก รวมถึงกลุ่มเอกชน
คดีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนายสาธิต และนายศุภกิจไปแล้ว
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อท.126/2562
คดีนี้ พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามทุจริต 1 ยื่นฟ้อง นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร จำเลยที่ 1, นายศุภกิจ หรือสิริพงศ์ ริยะการ อดีตสรรพากรพื้นที่ 22 บางรัก (ระดับ 9) จำเลยที่ 2,นายประสิทธิ์ อัญญโชติ จำเลยที่ 3 (ซึ่งเป็นพวกของบริษัทแร่ และเป็นคนมารับเงินคืนไป) และพวก ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติยักยอกทรัพย์ เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการรักษาทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่ง ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม ป.อาญา 147, 151, 157 และฐานเป็นผู้สนับสนุน
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 พ.ค. 2555 ถึงวันที่ 26 ต.ค. 2556 พวกจำเลย (บริษัทเอกชนที่ทำทีประกอบกิจการขายแร่โลหะ) ร่วมกันขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแสดงข้อความเท็จหลอกลวงต่อกรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้ได้ไปซึ่ง “เงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม” จากกรมสรรพากรและรัฐโดยทุจริต
จำเลยที่ 1 เป็นอธิบดี และจำเลยที่ 2 เป็นสรรพากรเขต ทราบดีถึงความเท็จดังกล่าวมา แต่ต้น แต่กลับรู้เห็นเป็นใจด้วยการร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต โดยจำเลยที่ 2 ได้ใช้อำนาจของตนสั่งการให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสถานประกอบการเกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ให้พิจารณาเสนอความเห็น“ยุติการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพกิจการของบริษัทนิติบุคคล”ซึ่งประกอบกิจการแร่โลหะ จำนวน 25 บริษัท ที่ขอคืนภาษีและคืนภาษีให้แก่บริษัท นิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ทั้งที่ยังมีข้อสงสัยว่าเป็นผู้ประกอบการจริงหรือไม่
จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ระงับยับยั้ง ทั้งยังอาศัยอำนาจของตนในการบังคับบัญชาข้าราชการของกรมสรรพากร เข้ามาติดตามเร่งรัดพร้อมทั้งมอบแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้มี “การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม” แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งโดยเร็ว
พฤติการณ์ของจำเลยกับพวก จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่บริษัท นิติบุคคลทั้ง 25 แห่งนั้นไม่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็น “การฉ้อฉลนั้น ถูกปกปิดไว้”
จนที่สุด จำเลยที่ 2 ด้วยความรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาอนุมัติคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งจำนวนหลายครั้ง
ในการนี้ นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และนายกิติศักดิ์ อัญญโชติ กับพวกได้มารับเอาเงินจำนวนตามที่ได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ไปแบ่งปันกันโดยทุจริตกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้นำเงินบางส่วนที่ได้รับแบ่งปันโดยทุจริตไปซื้อทรัพย์สินเป็นทองคำแท่งไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว
การกระทำของพวกจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจของตนไปโดยมิชอบและทุจริตเบียดบังเงินของรัฐที่อยู่ในอำนาจจัดการดูแลเก็บรักษาของตน ไปเป็นของตนเองและบุคคลอื่นโดยทุจริต
เป็นเหตุให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังและรัฐได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,097,016,533.99 บาท
ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย และขอให้ริบของกลางทองคำแท่ง น้ำหนัก 77 กิโลกรัม และทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ กับให้จำเลยร่วมกันชดใช้เงินที่เบียดบังเอาไปและยังไม่ได้คืน จำนวน 3,097,016,533.99 บาทแก่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
ศาลพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์นั้น เป็นบทหนักซึ่งมีโทษเท่ากัน
ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย แต่เพียงบทเดียว
ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิต
ถือเป็นอุทาหรณ์สอนใจ เป็นบทเรียนเตือนสติข้าราชการไทย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี