ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอยุธยาเป็นระยะเวลาถึง ๔๑๗ ปีนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากการที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงก่อตั้ง กรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๙๔ พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มาจากราชวงศ์อู่ทอง ซึ่งมีอำนาจอยู่ในดินแดนบริเวณนี้
ที่เรียกกันว่าสุวรรณภูมิ
นักประวัติศาสตร์จำนวนมากได้พยายามศึกษาหาข้อมูล ถึงความเป็นมาที่แน่ชัดของพระองค์ซึ่งยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าพระองค์มาจากไหนกันแน่ เพราะเมื่อประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงพระองค์ท่านนั้น ก็เป็นตอนที่พระองค์ปกครองเมืองอโยธยา เมืองโบราณที่อยู่ใกล้เคียงกับที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา แต่ด้วยเหตุที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น จึงมีการย้ายเมืองมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและสถาปนาขึ้นเป็นราชธานี
หลังจากตั้งกรุงศรีอยุธยาได้เพียง ๑ ปี พระองค์ได้ยกกองทัพไปตีเมืองนครธม ของกัมพูชา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรเขมรมาอย่างยาวนานกว่า ๕๕๐ ปี เป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่จนตกเป็นของไทย และอิทธิพลของเขมรหมดสิ้นไปในช่วงเวลานั้น ซึ่งแสดงถึงความกล้าหาญและเก่งกล้าสามารถเป็นที่ยิ่ง
อาณาจักรอยุธยาในยุคต้นนั้นจึงเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆ มาก็มีความเข้มแข็ง ทรงปกครองบ้านเมืองอย่างดี อาณาประชาราษฎร์มีความสุขโดยตลอดมา จนชาติอื่นที่อยู่ใกล้เคียงไม่คิดที่จะรุกรานเป็นระยะเวลายาวนานประมาณ ๒๐๐ ปี
จนถึงปีพุทธศักราช ๒๐๙๑ สมเด็จพระเทียรราชาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยาทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีขุนนางผู้หนึ่ง คือขุนวรวงศาธิราชที่ได้คบคิดกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพื่อขึ้นครองแผ่นดินในช่วงที่พระยอดฟ้า พระราชโอรสของพระไชยราชาธิราชขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาในขณะที่มีพระชนมายุเพียง ๑๑ พรรษา ทำให้ขุนนางอำมาตย์ทั้งหลายไม่พึงพอใจ และร่วมกันวางแผนสำเร็จโทษขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์จนสำเร็จ แล้วไปอัญเชิญพระเทียรราชาพระอนุชาของพระไชยราชาธิราชซึ่งทรงผนวชอยู่ให้สึกออกมาปกครองแผ่นดิน
ในช่วงเวลานั้น อาณาจักรหงสาวดีมีพระมหากษัตริย์ผู้เข้มแข็งพระองค์หนึ่ง คือพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมื่อทรงทราบว่ากรุงศรีอยุธยามีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน และน่าจะมีปัญหาภายในจนบ้านเมืองอาจจะไม่เข้มแข็ง จึงได้ยกทัพมาเพื่อตีกรุงศรีอยุธยา โดยยกทัพที่มีกำลังพลมหาศาลเพื่อเอาชัยชนะให้ได้
เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบข่าวการยกทัพของพม่ามา ก็ได้มีการจัดเตรียมทัพกรุงศรีอยุธยาเพื่อต่อสู้ และในวันหนึ่งก็ได้เสด็จนำทัพออกเพื่อเข้าโจมตีทัพของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ โดยมีพระศรีสุริโยทัยพระมเหสีตามเสด็จด้วย
การศึกครั้งนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงนำทัพด้วยพระองค์เอง และได้เข้าปะทะกับช้างทรงของพระเจ้าแปร แม่ทัพหน้าของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ช้างทรงของพระองค์ได้เสียหลักและหันหลังหนี ช้างทรงของพระเจ้าแปรจึงรุกไล่ติดตามมา สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงเห็นว่าพระสวามีจะเสียทีแก่ข้าศึก จึงไสช้างทรง เข้าขวางช้างของพระเจ้าแปรไว้ ทำให้ช้างทรงของพระเจ้าแปรได้เปรียบเสยล่าง อันเป็นโอกาสให้พระเจ้าแปรใช้พระแสงของ้าวฟันถูกบริเวณพระอังสาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยจนสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เมื่อพระเจ้าแปรทราบว่าผู้ที่ถูกฟันนั้นเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งไม่ใช่วิสัยของแม่ทัพที่จะทำร้ายสตรีเพศ จึงยุติการรบและถอยทัพกลับ
ระหว่างที่ทัพของกรุงหงสาวดีถอยกลับนั้น พระราเมศวรและพระมหินทราธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ติดตามไป แต่ในที่สุดก็เสียที ถูกทัพพม่าจับไว้ทั้งสองพระองค์ เมื่อทราบข่าวดังนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้เจรจาขอแลกตัวพระราชโอรสคืน โดยยินยอมถวายช้างเผือก๒ เชือกให้กับ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ สงครามครั้งนี้จึงสิ้นสุดลงโดยไม่มีการแพ้ชนะ
อย่างไรก็ดี กรุงหงสาวดีก็ยังมีความคิดที่จะได้ชัยชนะต่อกรุงศรีอยุธยามาโดยตลอด หลังจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้สิ้นพระชนม์ พระมหากษัตริย์ผู้ขึ้นครองราชย์แทนคือ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าที่ได้พระนามว่า ผู้ชนะสิบทิศ ได้มุ่งมั่นที่จะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ โดยได้ทำกลอุบายด้วยการทำพระราชสาส์นเพื่อขอช้างเผือกจำนวน ๒ เชือกจากสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งหลังจากได้ปรึกษาขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายแล้ว ทรงเชื่อในความเห็นของสมเด็จพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงครามจึงทำพระราชสาส์นตอบปฏิเสธ ซึ่งก็เป็นไปตามที่พระเจ้าบุเรงนองคาดไว้ และได้อ้างเหตุที่จะยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา
ในปีพุทธศักราช ๒๑๐๖ พระเจ้าบุเรงนองได้จัดทัพ โดยมีกำลังทัพประมาณ ๙ แสนคน โดยแบ่งออกเป็น ๕ ทัพ ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา ซึ่งสามารถทำให้นำปืนใหญ่ขนาดใหญ่เพื่อมาใช้ในการต่อสู้ได้ เมื่อกองทัพของพระองค์มาถึงเมืองพิษณุโลกที่พระมหาธรรมราชาปกครองอยู่ ได้มีการเจรจากันจนในที่สุดพระมหาธรรมราชาที่ทรงเห็นว่ากำลังทัพของพระองค์จะสู้ไม่ได้อย่างแน่นอน ราษฎรจะต้องเสียชีวิตอย่างมากมาย จึงยอมที่จะเป็นกองทัพที่ช่วยสนับสนุนทัพของพระเจ้าบุเรงนอง
ทัพของพระเจ้าบุเรงนองล้อมกรุงศรีอยุธยาทุกด้านอยู่เป็นเวลา ๗ วัน แล้วพระองค์จึงมีพระราชสาส์นให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิออกมาทำสงครามกันเยี่ยงอย่างกษัตริย์ ในที่สุดสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งได้พิจารณาเห็นแล้วว่าไม่มีทางที่จะต่อสู้กับทัพของพระเจ้าบุเรงนองได้จึงยอมออกมาเจรจา และได้ยอมถวายช้างเผือก ๔ เชือกให้กับพระเจ้าบุเรงนองรวมทั้งยอมให้เอาพระราเมศวร พระยาจักรี และพระสุนทรสงครามไปเป็นตัวประกันด้วย
ต่อมาได้เกิดเหตุบาดหมางระหว่างกรุงหงสาวดีและกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาอีกครั้ง จนทำให้พระเจ้าบุเรงนองยกทัพใหญ่ถึง ๗ ทัพเข้ามาตี
กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงระดมพลเพื่อต่อสู้อย่างเข้มแข็ง แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน จากพระอาการประชวรจากการตรากตรำในการรบ
สมเด็จพระมหินทราธิราชได้ขึ้นครองราชย์แทน และสามารถจะต้านทัพของพม่าได้เป็นเวลานานมากกว่า ๘ เดือน ซึ่งอีกไม่นานจากนี้
นักจะเป็นช่วงฤดูน้ำเหนือหลาก และเชื่อว่าพม่าจะถอยทัพกลับ
แต่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระเจ้าบุเรงนองได้ปรึกษากับแม่ทัพนายกอง และใช้กลอุบายโดยการปล่อยตัวพระยาจักรีที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันในการสงครามก่อนหน้านั้น เพื่อให้กรุงศรีอยุธยาหลงเชื่อว่าพระยาจักรีที่ขณะนั้นสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าบุเรงนองเป็นอย่างยิ่งแล้ว หนีกลับมาเพื่อช่วยกรุงศรีอยุธยาในการรบทำให้สมเด็จพระมหินทราธิราชดีใจและแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคนสำคัญในการรบแต่กลับปรากฏว่าพระยาจักรีได้จัดกำลังทัพในกรุงศรีอยุธยาใหม่ จนกองทัพอ่อนแออย่างที่สุด และในที่สุดก็ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาและต่อสู้กันอยู่นานถึง ๑๐ เดือน ทำให้ไทยต้องเสียอิสรภาพให้กับพม่าในปีพุทธศักราช ๒๑๑๒
ส่วนพระยาจักรีที่กลับมาเป็นไส้ศึกจนทำให้ไทยต้องเสียอิสรภาพนั้น ในที่สุด พระเจ้าบุเรงนองก็ได้สั่งให้ประหารชีวิต เชื่อว่าพระองค์ทรงเห็นว่าบุคคลคนนี้ ไม่ได้รักชาติอย่างแท้จริง กระทำเนรคุณต่อชาติ คงจะไว้ใจไม่ได้อีกต่อไป
หันกลับมาดูการเมืองของไทยในขณะนี้จากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งให้มีการยุบพรรคก้าวไกล อันเนื่องมาจากมีพฤติการณ์ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหลังจากที่ศาลตัดสินแล้ว รวมทั้งก่อนที่จะถูกศาลตัดสินด้วย ก็ได้มีการสมคบคิดกับนักการทูตต่างชาติหลายชาติ ในการที่จะโต้แย้งการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของชาติไทย ผิดมารยาทการทูต โดนอ้างว่าการยุบพรรคเป็นการทำลายประชาธิปไตย
ซึ่งเรื่องนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมของผู้นำและคณะกรรมการพรรค ที่น่าจะเชื่อได้จากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อประเทศชาติในระยะยาว และยังแสดงให้เห็นถึงการกระทำที่เรียกว่าการชักศึกเข้าบ้าน รวมทั้งทำให้เกิดความแตกแยกสามัคคีในหมู่ประชาชนชาวไทย ซึ่งถึงแม้ว่า จะมีการปฏิเสธและกล่าวว่าการพยายามปรับแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่คุ้มครององค์พระมหากษัตริย์นั้นเป็นเจตนาดี จึงเป็นเรื่องที่เชื่อไม่ได้ และน่าจะสรุปรวมได้ว่าเป็นการเนรคุณต่อชาติและสถาบัน
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี