เดือนสิงหาคมนี้จะเป็นการครบรอบ 79 ปี ของการทิ้งระเบิดปรมาณูโดยสหรัฐอเมริกา ที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ของญี่ปุ่น ซึ่งได้นำไปสู่การยอมจำนนรับความพ่ายแพ้ของฝ่ายญี่ปุ่นอย่างไม่มีเงื่อนไข และกลายเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2
ความหายนะจากระเบิดปรมาณูในสองเมืองดังกล่าว ที่เกิดขึ้นต่อชีวิตคน พืช สัตว์ และสภาพแวดล้อม ได้เป็นที่ประจักษ์อย่างไม่ลืมเลือนต่อทั้งคนญี่ปุ่น คนอเมริกัน และชาวโลก ซึ่งความหายนะนี้ก็มิได้จบลงทันที ในช่วงของวันที่ 6 สิงหาคม 2488 ที่เมืองฮิโรชิมา และวันที่ 9 สิงหาคม 2488 ที่เมืองนางาซากิเท่านั้น หากแต่ยังคงมีผลต่อเนื่องและสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งต่อ ร่างกายและสภาวะจิตใจ ของผู้ทุพพลภาพที่ยังมีชีวิตหลงเหลืออยู่ และยังเป็นความทรงจำที่เลวร้ายต่อชาวโลก โดยทุกๆ ปีในเดือนสิงหาคมชาวโลกจะจัดพิธีไว้อาลัยและเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ที่โหดร้ายทารุณจากอาวุธปรมาณู โดยเฉพาะที่ 2 เมืองดังกล่าว เพื่อเป็นการเตือนสติว่า อย่าได้มีการใช้ระเบิดปรมาณู หรืออาวุธนิวเคลียร์บนโลกนี้อีกและชาวโลกจะต้องร่วมมือกันในการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อเป็นหนทางของการเสริมสร้างสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ชาวญี่ปุ่นจากวงการต่างๆ ก็มีการรณรงค์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง และก็ได้รับการสนับสนุนจากชาวโลกอีกด้วย ส่งผลให้มีการจัดตั้งองค์กรที่มิใช่รัฐมากมายทั่วโลกเพื่อต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกันทั้งเมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ก็มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองต่างๆทั่วโลก เพื่อร่วมกันในการให้ความรู้เกี่ยวกับภยันตรายของอาวุธนิวเคลียร์และการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเมืองฮิโรชิมาก็มีความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ ในขณะนี้ (สำหรับผมเองก็ได้เป็นสมาชิกขององค์กร Asia-Pacific Leadership Network for Nuclear Non-Proliferation and Disarmament - APLN หรือองค์กรว่าด้วยเครือข่ายของผู้นำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อต่อต้านการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และเคลื่อนไหวทางด้านการลดอาวุธโดยทั่วไป และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษของศูนย์สันติภาพของเมืองฮิโรชิมาอีกด้วย)
แต่ทว่าโลกในปัจจุบันนี้โดยเฉพาะในระดับผู้นำทางการเมืองต่างๆ กลับให้ความสนอกสนใจเกี่ยวกับการแข่งขันและเผชิญหน้ากันทางด้านการเมืองและความมั่นคง ซึ่งในการนี้ ต่างก็มุ่งเพิ่มงบประมาณเพื่อกิจการทางทหาร รวมทั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จนเพิ่มความหวาดหวั่นกังวลใจให้กับชาวโลก และในกรณีของรัสเซียก็ได้ประกาศออกมาแน่ชัดว่า ถ้าจะต้องจนตรอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ฝ่ายยูเครนได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกรวม 30 ประเทศขององค์การนาโต ฝ่ายรัสเซียก็จะไม่ลังเล ไม่รีรอ ที่จะป้องกันตัวเองด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในที่สุดในขณะเดียวกันทางฝ่ายอิหร่านและเกาหลีเหนือก็เร่งพัฒนาขีดความสามารถในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ โดยไม่แยแสต่อการถูกคว่ำบาตร และต่อพันธะกรณีที่มีอยู่ต่อข้อมติต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ และสนธิสัญญาต่างๆ อันได้แก่ สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation) สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Test Ban)สนธิสัญญาว่าด้วยการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ (NuclearBan)
เมื่อผู้นำโลกที่สำคัญๆ ยังติดกับกับเรื่องความมั่นคงและการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ ภาระหน้าที่ของการขจัดอาวุธนิวเคลียร์และการเสริมสร้างสันติภาพในโลกก็ต้องกลับมาอยู่ที่ชาวโลกทั้งมวลที่จะสร้างเครือข่ายเสริมสร้างพลังเป็นหนึ่งเดียวกันในการบีบคั้นให้บรรดาผู้นำของโลกยุติความบ้าระห่ำ
ในการนี้บรรดาแวดวงวิชาการ แวดวงสื่อและแวดวงประชาสังคม ก็ต้องเพิ่มความขะมักเขม้นในการให้ความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณชนให้กว้างขวางยิ่งๆ ขึ้น และผู้ที่มีความรู้อยู่แล้วก็ต้องช่วยกันออกมาแสดงตนเพื่อเรียกร้องให้บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ให้หันกลับมาสู่เรื่องการเสริมสร้างสันติภาพ และยุติการจมปลักอยู่กับการกระหายสงคราม
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี