“FBI เคยให้ผมช่วยตามเคส แค่เขามอนิเตอร์ว่าเขาเคยพบในโซเชียลว่าบุคคลคนนี้เขาจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อล่วงละเมิดเด็ก เขาจ้างผม เรียกว่าจ้างผมก็แล้วกัน ให้ผมไปตามตั้งแต่สุวรรณภูมิแล้วก็มายังพัทยา ต้องไปนอนค้างสุวรรณภูมิ 1 คืน มาที่พัทยาอีก 3 คืน ตามเขา 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ง่ายๆ ก็ยังไม่พบการกระทำผิดเรื่องนี้ จนเขาบอกว่าพี่รอเดี๋ยวเขาจะเอาเอเย่นต์มา เอเย่นต์เขาบินมาจริงๆ
สรุปแล้วเจ้าตัวเขาไม่ได้ล่วงละเมิด ก็เลยถามเขาว่า ผมถามจริงๆ เถอะ ลงทุนขนาดนี้เพื่ออะไร? คำตอบที่ได้รับคือประเทศเขา หรือในยุโรปอะไรก็แล้วแต่ เขาบอกว่าเยาวชนมันเป็นเรื่องที่สำคัญ มันเป็นอนาคตของชาติ ผมก็เลยเริ่มเก็ตเพราะมีลูกสาวไง เออ!..มันก็น่าจะจริง แล้วพอมาทำเคสมาเรื่อยๆ ตอนนี้บอกได้เลยว่ามือถือมันก็คือประตูไปสู่สวรรค์แล้วก็นรก อันนี้พูดตรงๆ เลย”
พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย รองจเรตำรวจ สำนักงานจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกเล่าในวงเสวนา “ทบทวนการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากยุคอนาล็อกถึงยุคปัญญาประดิษฐ์” เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงการเอาจริงเอาจังของทางการสหรัฐอเมริกา ในการเฝ้าระวังพลเมืองของตนก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภายในประเทศตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเดินทางไปก่อเหตุในประเทศอื่นๆ ด้วย ดังตัวอย่างข้างต้นที่ สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) ประสานกับตำรวจไทยให้ช่วยจับตา เมื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงก่อเหตุเดินทางเข้ามายังประเทศไทย
วงเสวนาดังกล่าวซึ่งมีหลายหน่วยงานร่วมจัด อาทิ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) และอีกหลายองค์กร พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ บอกเล่าประสบการณ์ทั้งการทำคดี ซึ่งหลายเคสเลวร้ายมากถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ต้องไปเข้ากระบวนการเยียวยาจิตใจ อาทิ คดีจับกุมกลุ่มลับ ล่อลวงให้เด็กหญิงถ่ายภาพ-คลิปวีดีโอในสภาพเปลือย และบังคับเป็นทาสให้ถ่ายส่งอย่างต่อเนื่องมีการใช้คำพูด “คนนี้เห็นมาตั้งแต่อายุ 12 เรียกเมื่อไรก็ต้องมา” และเป็นการพูดจริงไม่ได้ล้อเล่น
รวมถึงการไปเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งก็พบว่า “เด็กรู้จักแอปพลิเคชั่นสุ่มเสี่ยงแบบไปไกลกว่าที่ผู้ใหญ่คิด” โดยครั้งหนึ่งเมื่อตนได้พูดถึงแอปพลิเคชั่นหาคู่ชื่อดังแอปฯ หนึ่ง นักเรียนก็พูดสวนขึ้นมาว่าเดี๋ยวนี้เขาไปอีกแอปฯ หนึ่งแล้ว โดยเป็นแอปพลิเคชั่นที่เปิดให้ไม่ว่าหญิงหรือชายมาเต้นโชว์ได้ ซึ่งรวมถึงในลักษณะโป๊เปลือย ดังนั้น “การประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักกับผู้ปกครองและครูจึงเป็นเรื่องสำคัญ” เพื่อให้ช่วยเฝ้าระวังว่าบุตรหลานหรือนักเรียนมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงหรือไม่
สอดคล้องกับความเห็นของ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ฉายภาพ “ปริมาณการใช้อินเตอร์เนตที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว” โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วการเรียนการสอนต้องทำแบบออนไลน์ อย่างสถิติจากแพลตฟอร์มในสหรัฐฯ ก็พบการเติบโตถึงร้อยละ 68 ในช่วง 4-5 ปีล่าสุด จึงเข้าใจได้ว่าเหตุใดคดีละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์จึงเพิ่มขึ้น
แต่เมื่อหันมาดู “กฎหมายไทย” พบว่า “ยังตามไม่ทันภัยอาชญากรรมทางเพศรูปแบบใหม่ๆ” ความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ยังเป็นพฤติกรรมที่ต้องเกิดขึ้นในโลกกายภาพแบบถึงเนื้อถึงตัว เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา ลวนลามกระทำอนาจาร พรากผู้เยาว์ หรือแม้แต่กฎหมายที่เพิ่มขึ้นมาในปี 2558 ว่าด้วยสื่อลามกอนาจารเด็ก ก็ยังต้องรอให้เด็กถูกล่อลวงให้ถ่ายภาพหรือคลิปวีดีโอในลักษณะโป๊เปลือย
ในขณะที่การพูดคุยเพื่อล่อลวงเด็กไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ (Grooming) การส่งข้อความเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก (Sexting) การขู่กรรโชกโดยมุ่งหวังประโยชน์ในเรื่องเพศกับเด็ก (Sextortion) กฎหมายไทยยังไปไม่ถึง จึงเป็นคำถามว่า “ทำไมเราไม่ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม?”ต้องรอให้เด็กถูกล่วงละเมิดทางกายภาพ ซึ่งบางครั้งก็เป็นอันตรายสาหัสหรือถึงขั้นเสียชีวิตก่อนหรือ? ทั้งที่สามารถสกัดกั้นตั้งแต่บันไดขั้นแรกของความเสี่ยงได้
“DSI เราพบว่าเด็กที่เป็นผู้เสียหาย อันนี้ตัวเลข DSI เด็กผู้ชายเป็นผู้เสียหายมากกว่าผู้หญิง เพราะว่าเราสืบจากรูปแบบออนไลน์แล้วค่อยนำไปสู่การยืนยันตัวเด็กที่อยู่ในภาพ เพราะเด็กส่วนใหญ่จะไม่เล่าให้ใครฟัง อันนี้สอดคล้องกับในรายงานทางวิชาการทั้งไทยและในต่างประเทศหลายสถาบันการศึกษา เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” ร.ต.อ.เขมชาติ เล่าถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของต่างประเทศ ในคดีสื่อลามกและการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
ด้าน ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ กรรมการบริหาร สถาบันเอส เคิร์ฟ อะคาเดมี่ (SCA) และ กรรมการสมาคมสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย (TOSF) ยืนยันว่า “ประเทศไทยมีอัตราการใช้เวลากับอินเตอร์เนตที่สูงมาก” โดยจากการติดตามสถนการณ์มา 10 ปี ไทยไม่เคยหล่นจาก “ท็อปทรี” 1 ใน 3 ของโลก และจะเป็น “แชมป์โลก”หากเจาะจงไปที่ “การใช้อินเตอร์เนตผ่านโทรศัพท์มือถือ” โดยคนไทยใช้อินเตอร์เนตอยู่ที่ 9-10 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่าเดนมาร์กหรือญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 5 ชั่วโมงต่อวัน
“ทุกคนก่อนที่จะเข้ามา ดูอะไร? เข้าถึงอย่างไร? แต่กลับกลายเป็นเราอยู่ในองค์กรเทคโนโลยี ที่เขาสอนให้ตั้งคำถามแรกว่า Why (ทำไม?) จะเข้าไปทำอะไร? จะเข้าไปหาองค์ความรู้ ทีนี้ถ้าเด็กยังคิดไม่ได้จะทำอย่างไร? ฉะนั้นจริงๆ แล้วในยุคประมาณตั้งแต่ปี 2012 (2555) ถึงปัจจุบัน เรากลัวประเทศเราไม่ทันเขา เราก็เน้นแต่ในเรื่อง Skill (ทักษะ) คำว่าสมรรถนะ เราก็มองว่า Knowledge (องค์ความรู้) มีไหม? Skill มีไหม? ทีนี้วิธีคิดถ้าเป็นเรื่องของเด็กเล็ก บอกเลยว่าอีกอันที่พยายามพูดเสมอ คำว่า Digital Identity (ตัวตนทางดิจิทัล) หรือการมีตัวตนบนโลกอินเตอร์เนต ก่อนที่จะเริ่มใช้ Large Scale (วงกว้าง) ขนาดนี้” ศุภธิดา กล่าว
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” ขอนำเรื่องราวจากวงเสวนาว่าด้วย “การล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” มาบอกเล่ากับท่านผู้อ่าน โดยหวังว่าผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่คนใกล้ตัวเด็กอย่างพ่อแม่ผู้ปกครองและครูบาอาจารย์จะได้ช่วยกันเฝ้าระวัง ไปจนถึงต้องฝากผู้มีอำนาจหน้าที่หามาตรการป้องกัน ปิดจุดอ่อน-ช่องโหว่ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถชมบันทึกการเสวนาได้ที่ https://www.facebook.com/CofactThailand/videos/3816304335273194/?locale=th_TH
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี