นโยบายของรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะดำเนินโครงการเติมเงินหมื่น ดิจิทัล วอลเล็ต หรือไม่?
นี่เป็นการตัดสินใจที่สำคัญ
เป็นโอกาสของประเทศชาติ ที่ได้รัฐบาลใหม่มาทบทวนแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
อย่าทำลายโอกาส โดยเอาอีโก้ของนักการเมืองอยู่เหนือผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวม
1. จะไม่มีช่วงเวลาฮันนีมูนสำหรับรัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง
ปัญหาใหญ่เฉพาะหน้า คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหากำลังซื้อของประชาชนในเศรษฐกิจฐานราก
อย่างแรก จะต้องไม่สร้างประเด็นการเมืองมาเพิ่มเงื่อนไข สุมไฟความไม่วุ่นวายในบ้านเมืองขึ้นมาอีกซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
ประการต่อมา ต้องเร่งเครื่องเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ค้างคา โดยทำทันที เกิดผลลัพธ์ทันใด
ไม่ควรรอนโยบายดิจิทัล วอเลเล็ต ที่กว่าประชาชนจะได้รับเงินก็สิ้นปีโน่น (แถมมีเงื่อนไขยุบยับ)
2. คุณปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า โดยหลักแล้ว โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ควรจะหยุดลง และไม่ต้องกลับไปถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว หลังจากเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี
3. รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ ปรับเปลี่ยนการใช้เงินจากโครงการเติมเงินหมื่นที่เตรียมไว้ 4.5 แสนล้านบาท นำมาใช้โครงการอื่นๆ ที่รวดเร็วกว่า ทันทีทันใด แม่นยำ เข้าตรงเป้าและคุ้มค่ากว่า
แถมยังจะลดปริมาณเงินที่จะต้องใช้จริง
สามารถนำไปพัฒนาประเทศ สนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้อีกหลายแสนล้านบาท
4. กระตุ้นเศรษฐกิจยังจำเป็น
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องการการกระตุ้น แต่โจทย์ของรัฐบาลใหม่ คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใดจึงจะดีที่สุด คุ้มค่าที่สุด และปลอดภัยที่สุด
“ตอนนี้ ตัวเม็ดเงินอยู่ในงบประมาณปี 2568 ไปแล้ว หรือถูกจัดสรรอยู่ในส่วนของงบการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว ดังนั้น ถึงรัฐบาลไม่ทำดิจิทัล วอลเล็ต ก็ยังมี Room ส่วนนี้ทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น การแจกเงิน (Cash Transfer) เฉพาะกลุ่มเปราะบาง แล้วนำเงินที่เหลือไปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะกลางและยาวที่สร้าง GDP ได้ดีกว่า” -ดร.พิพัฒน์ กล่าว
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังมีความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงทางการคลัง ความเสี่ยงที่กฤษฎีกาเตือน และความเสี่ยงด้านงบประมาณ ในขณะที่มาตรการกระตุ้นที่รัฐบาลสามารถทำได้เลยโดยไม่มีความเสี่ยงมากนัก คือ มาตรการทางการคลังอย่างการแจกเงินให้กลุ่มคนเปราะบาง รวมถึงมาตรการกระตุ้นอื่นๆ ที่เคยใช้ในรัฐบาลก่อนหน้า เพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ
“..เหตุผลที่มองว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องการการกระตุ้นหรือนโยบายแจกเงินอยู่ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ขณะที่คนส่วนมากไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้มากเท่าไร ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การใช้มาตรการทางการคลังจึงอาจมีความจำเป็น เพื่อดูแลคนกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่ต้องไม่ใช่มาตรการทางการคลังแบบหว่านแห แต่ต้องมุ่งหวังให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไหลจากระดับบนลงล่าง และให้เงินหมุนในระบบมากขึ้น” - ดร.อมรเทพกล่าว
5. โอกาสคิดใหม่ ทำใหม่
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เมษายน 2567 เพื่อเสนอเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาในครม.
ประเด็นสำคัญที่พึงนำกลับมาพิจารณาในโอกาสนี้ ได้แก่
“...ควรทำโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น (targeted) เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง
โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่นและมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า และควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย”
“...โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11
โดยโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ในปี 2568 ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม”
“..การดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนๆ ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น”
“...รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่
โครงการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ (ใช้วงเงินเฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) จะสามารถสร้างบุคลากรทางการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง
โครงการเรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี
โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย”
เห็นได้ว่า หากรัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ปรับเปลี่ยนการใช้เงินจากโครงการเติมเงินหมื่นมูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านบาท ก็จะลดความเสี่ยงต่างๆ ไปเกือบหมด รวมถึงระบบการชำระเงินที่ยังไม่เรียบร้อย
แถมยังสามารถใช้นำเงินไปทำโครงการอื่นๆ ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกว่าอีกด้วย
ที่สำคัญ ไม่ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางจากเรื่องนี้อีกด้วย
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี