เพจ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” นำเสนอว่า...
วันที่ 19 ส.ค. 2567 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์ วัย 27 ปี ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ,พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากเหตุแต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ ใน #ม็อบ 29 ตุลา รันเวย์ของประชาชน ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม
1) เพียงแค่ย่อหน้าแรก ก็มีการ “ชี้นำ” ทำให้ “พฤติการณ์แห่งคดี” อ่อนลง ไม่ตรงไปตรงมา อย่างที่ “ทนายความ” ควรจะยึดและเป็นหลักให้สังคม การใช้คำว่า “จากเหตุแต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ ใน #ม็อบ 29 ตุลา รันเวย์ของประชาชน” เป็น “มายากลทางภาษา” ที่จะปกปิด กลบเกลื่อน “พฤติการณ์แห่งคดี” ที่มีการกระทำแวดล้อมที่มากกว่า “แต่งชุดไทย” ชี้นำให้คนจำพวก “ขี้เกียจอ่าน” และ “มีอคติต่อ ม.112” นึกก่นด่าอยู่ในใจ ว่าอะไรวะ แค่ “แต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์” ก็ผิดด้วยเหรอ?
2) เพจดังกล่าวนี้ นำเสนอต่อไปว่า “...คดีนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหามาตรา 112 และปรับ 1,500 บาท ในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง โดยศาลยังลดโทษให้ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท ไม่รอลงอาญา ครั้งนั้นจตุพรต้องถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางนาน 3 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท
จากวันนั้นผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปีแล้ว ที่ผ่านมาคดีความที่ยังไม่สิ้นสุด ส่งผลให้เธอรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตและจิตใจ รู้สึกเป็นกังวลว่าเมื่อไรคดีจะมีคำพิพากษาในศาลชั้นถัดไปและจะได้รับสิทธิประกันตัวหรือไม่ นั่นทำให้เธอไม่กล้าจะก้าวเดินชีวิตของตัวเองไปทางไหน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทำธุรกิจ หรือศึกษาต่อในวิชาชีพที่ฝันไว้
ปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จตุพรพยายามก้าวออกนอกพื้นที่ปลอดภัย โดยได้สมัครเรียนทำอาหารเพื่อเป็นเชฟฝึกหัด พร้อมทั้งตัดสินใจซื้อเครื่องแบบและจ่ายค่าเรียนเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่กี่วันต่อมาเธอได้รับหมายศาลแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้...”
3) พรรณนาราวกับบทรายการ “วงเวียนชีวิต” ทั้งๆ ที่หากดำเนินชีวิตมาด้วยความสุจริต ไม่กระทำผิดกฎหมาย ชีวิตจะเป็นอย่างนี้ไหม ใครเลือก ใครกำหนด จนผลลัพธ์ต้องอยู่ในสภาพนี้ ไม่ใช่ตัวเธอเองหรอกหรือ ที่สร้าง “คดีความ” ให้แก่ตัวเอง
4) เพจ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ยังพรรณนาต่อว่า “...จตุพรบอกอีกว่า ในวันนี้ (19 ส.ค.) ตรงกับ “วันคล้ายวันเกิด” ของแม่เธอด้วย นอกจากนี้ การเดินทางมาฟังคำพิพากษาในครั้งนี้ เป็นการเดินทางมาจากบ้านเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาพ่อของจตุพรป่วยเป็น “ไข้หวัดใหญ่” ก่อนจะพบว่ามีภาวะ “ติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง” ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนในห้องผู้ป่วยอาการวิกฤต (ICU) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ตอนนี้มีเพียงแม่ของจตุพรคอยดูแลอยู่อย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาล
“อย่างน้อยขอแค่ได้กลับไปดูแลพ่อที่อยู่ห้องไอซียูก่อนได้มั้ย
ขอกลับไปฉลองวันเกิดกับแม่ก่อนได้มั้ย
ตอนนี้แม่เฝ้าพ่ออยู่คนเดียว แม่หนูเขาก็เป็นโรคหัวใจอยู่ด้วย”
จตุพรบอกเราขณะนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ 403 ระหว่างรอศาลเดินเข้ามาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์..”
5) ฉ่ำมาก น่าเห็นใจมาก แต่ทุกอย่างเกิดมาแต่เหตุที่ตน “กระทำไว้” ทั้งสิ้น รักพ่อ รักแม่ รักครอบครัว อย่าไปทำอะไรที่นำความเดือดร้อนมาให้สิครับ อยู่ดูแลกัน และในทางกฎหมาย สิ่งเหล่านี้นั้น “ทนายความ” ใน “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน”ย่อมรู้ดีว่า เป็นเหตุแห่งการบรรเทาโทษได้หรือไม่ ไยไม่สื่อสารกับสังคมอย่างตรงไปตรงมาและเกิดปัญญาไปด้วยกันล่ะครับ?
6) เพจนี้ รายงานต่อไปว่า
“...ในเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า
ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุสถานที่ถูกปูพื้นด้วยพรมสีแดง บริเวณนั้นมีป้ายสีดำเขียนคำว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และป้ายข้อความต่าง ๆ จำเลยแต่งกายด้วยชุดไทยสีชมพูและถือกระเป๋าสีทองเดินไปบนพรมแดง โดยมีชายผู้หนึ่งสวมชุดไทยราชปะแตนเดินตามหลังเพื่อกางร่มให้ และมีหญิงอีกคนถือพานทองเดินตามหลังด้วย
ระหว่างจำเลยเดินบนพรมแดง ผู้คนบริเวณนั้นตะโกนว่า“ทรงพระเจริญ” และ “พระราชินี” ผู้ชุมนุมบางคนยื่นมือไปจับข้อเท้าของจำเลย ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมตะโกนคำว่า พระราชินีและทรงพระเจริญอยู่ตลอด จากนั้น
“สายน้ำ” ซึ่งสวมเสื้อยืดกล้ามเอวลอยสีดำ และเขียนข้อความบนร่างกายว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” ได้เดินไปบนพรมแดงต่อจากจำเลย และผู้ชุมนุมได้ตะโกนคำว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ” ด้วย
สำหรับความผิดตามข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ 1,500 บาท เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องจากจำเลยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์แก้ต่าง
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ เห็นว่า ขณะจำเลยเดินอยู่บนพรมแดงออกมาผู้คนได้ตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” และ “พระราชินี” โดยผู้ชุมนุมยื่นมือออกไปเพื่อขอจับข้อเท้าและจำเลยก็หยุดให้จับด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมรับว่าตนเองนั้นแสดงเลียนแบบพระราชินี โดยไม่ทำการปฏิเสธ แม้ว่าจะสามารถทำได้ก็ตาม
เมื่อพิจารณาดูสถานที่ในขณะเกิดเหตุและผู้คนซึ่งตะโกนโห่ร้อง เสียดสี และล้อเลียน แสดงให้เห็นว่าจำเลยต้องการแสดงออกว่าตนเองนั้นเป็นพระราชินี และสายน้ำเลียนแบบว่าเป็นพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ ผู้ใดจะละเมิดในทางใดไม่ได้ ผู้คนให้การเทิดทูนไว้เหนือเกล้าจะกระทำการอันละเมิดไม่ได้
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์พระราชินีฯ ยืนตามศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และปรับ 1,000 บาท ในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ...”
7) ดู “พฤติการณ์ในคดี” แล้ว “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” จะโต้แย้งใน “ข้อเท็จจริง” และ “ข้อกฎหมาย” อย่างไรไหม ไฉนจึงเลือกนำเสนอในแนว“ดราม่า-วงเวียนชีวิต” แทนที่จะใช้เป้นเหตุการณ์สอนให้คนในสังคม “รู้ถูก รู้ผิด รู้ปฏิบัติตามกฎหมาย”
8) พีคสุด คือ สองย่อหน้าสุดท้ายที่เพจ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” นำเสนอว่า
“...หลังจบการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทนายความได้ยื่นประกันจตุพรระหว่างฎีกาด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ทำให้ระหว่างรอฟังคำสั่งจตุพรจะต้องถูกนำตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลาง
นี่จึงนับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่จตุพรต้องถูกคุมขังในเรือนจำ และทำให้จำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 43 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 เกินครึ่งถึง 29 คน และเป็นผู้ต้องขังระหว่างการต่อสู้คดีที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวถึง 21 คน...”
9) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็น “ความผิดอาญา” ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี ซึ่งถือว่าเป็นการด้อยค่า ด้อยศักดิ์ศรีมนุษยชน ที่คนเป็นมนุษย์ไม่พึงกระทำต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือกระทำต่อ “ประมุขแห่งรัฐ” อย่างคดีนี้
องค์กรที่ใช้ชื่อ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน”ไม่พึงส่งเสริม ไม่ว่าทางหนึ่งทางใด และยิ่งไม่ควรใช้คำว่า “ผู้ต้องขังทางการเมือง”
และเพราะการส่งเสริม การให้ท้าย ให้ความเข้าใจที่ผิดๆ หรือเปล่าล่ะ ที่ทำให้จำนวนของ “ผู้ต้องหา-ผู้ต้องขัง” ที่มี “พฤติการณ์แห่งคดี” แบบนี้ เพิ่มจำนวนมากขึ้น
นัยที่ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ต้องการสื่อจากข้อความว่า “...นี่จึงนับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่จตุพรต้องถูกคุมขังในเรือนจำ และทำให้จำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 43 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 เกินครึ่งถึง 29 คน และเป็นผู้ต้องขังระหว่างการต่อสู้คดีที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวถึง 21 คน...”คืออะไร?
คุณกำลังตำหนิศาลที่ทำหน้าที่
ตำหนิกฎหมายที่ห้ามการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี
หรือคุณควรตำหนิการกระทำเช่นนี้ ซึ่งเป็นการทำ“ผิดกฎหมาย”
ขอให้อธิบายเพิ่มเติมด้วย!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี