“อย่าล้อเล่นกับระบบ” คำที่มาจากการหยอกล้อหรือใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมเริ่มกลายเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ขึ้นมาท่ามกลางความวุ่นวายในปัจจุบันที่อาจดึงการเมืองของประเทศไทยให้ถอยหลังกลับสู่ความมืดมนและไร้เสถียรภาพ ประชาชนต่างรู้สึกถูกหักหลังจากประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” ความจริงอันโหดร้ายนี้กำลังทำลายรากฐานความเป็นประชาธิปไตยไปทีละน้อยซ้ำร้าย ความหวังของประชาชนตาดำๆที่หวังเพียงแค่ว่า แต่ละภาคส่วนในสังคมจะร่วมกันพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่องจากการกระทำของที่พึ่งและปราการด่านสุดท้ายอย่าง “สถาบันตุลาการ” ที่อาจกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เสียงของประชาชนถูกด้อยค่าและนำพาสู่ความสิ้นหวังทางการเมือง ผู้เขียนจะขอพาทุกคนไปร่วมสำรวจแนวคิด“ตุลาการธิปไตย” แนวคิดที่อำนาจฝ่ายตุลาการอาจเป็นไปมากกว่ากลไกตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติหรือบริหาร และถูกใช้งานเพื่อความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมือง
แนวคิด “ตุลาการธิปไตย” หรือ Juristocracy ถูกพูดถึงครั้งแรกในหนังสือที่มีชื่อว่า “Towards Juristocracy: The Origins and Consequences of the New Constitutionalism” หรือมุ่งหน้าสู่ตุลาการธิปไตย โดยศาสตราจารย์แรน เฮิร์ชล์(Ran Hirschl) อาจารย์และนักทฤษฎีทางการเมืองที่ศึกษาถึงบทบาทของสถาบันตุลาการอย่าง “ศาล” ที่มีความเกี่ยวข้องและเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางทางการเมือง ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจตุลาการที่อาจบั่นทอนรากฐานความเป็นประชาธิปไตย ผ่านการคว่ำกฎหมาย การยุบพรรคการเมืองหรือการถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหาร ที่หลายครั้งไม่ได้เป็นไปเพื่อการถ่วงดุลอำนาจอื่นๆ แต่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนผ่านกลไกของสถาบันตุลาการ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองซึ่งอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารยังไม่มั่นคง ทำให้การบริหารงานหยุดชะงัก รวมถึงสร้างความหวาดกลัวต่อผู้ที่ “กล้า” ท้าทายระบบเดิม มองเผินๆ ก็ดูคล้ายสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างบังเอิญ(?)
หลายคนคงเข้าใจและรู้รายละเอียดของสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างกรณีการยุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคฯ 10 ปี ที่เกิดขึ้นจากคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล อ้างถึงหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ซึ่งทำให้หลายส่วนเกิดความสงสัยในการใช้อำนาจตุลาการอย่างมาก ทั้งนี้ ความสงสัยเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งก่อตัวขึ้นในประเทศไทย แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบวงจรการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองไปจนถึงการปกป้องไว้ซึ่งอำนาจฯ ผ่านกลไกของสถาบันตุลาการ อย่างเช่นกรณีการยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2549 ภายหลังการทำรัฐประหาร โดยอ้างว่าพรรคไทยรักไทยกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งจากการจัดหาพรรคขนาดเล็กลงเลือกตั้งเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงของตน ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและการก่อตั้งพรรคพลังประชาชน ซึ่งก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอีกครั้งในปี 2551 โดยอ้างว่าแกนนำพรรคกระทำทุจริตในการเลือกตั้ง หรือกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 โดยศาลให้เหตุผลว่าพรรคอนาคตใหม่กระทำผิดกฎหมายการเงินพรรคการเมืองจากการกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แต่อีกกรณีที่คล้ายกันในปี 2554 ที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเงินบริจาค มิหนำซ้ำ ในปี 2550 หลังการรัฐประหาร ศาลยังมีบทบาทสำคัญในการยืนยันความชอบธรรมของการรัฐประหาร ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยว่า ฝ่ายตุลาการอาจเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้มีอำนาจในการรักษาที่ต้องการรักษาสถานะ และกดดันผู้ที่ท้าทายระบบอยู่เสมอ
กรณีที่ยกตัวอย่างมาอาจไม่ได้มีเหตุที่เหมือนกันทั้งหมด แต่ก็ทำให้เห็นถึงการใช้อำนาจตุลาการ ที่อาจถ่วงดุลอำนาจอื่นๆ จนตราชั่งแห่งความเที่ยงธรรมนั้นไม่สามารถอยู่ได้อย่างเที่ยงตรงตามที่ควร สิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์สำหรับว่าประเทศไทยอาจกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “ตุลาการธิปไตย” หรือไม่อาจจะเป็นมานานกว่าที่เราจะสามารถนึกย้อนและเชื่อมโยงกลับไปได้ วงจรนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยที่วนเวียนกลับสู่จุดที่ประชาชนกลายเป็นผู้ถูกทรยศเสมอ โดยสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ได้หากขาดความเชื่อมโยงต่อกลุ่มอำนาจอื่นๆ ที่เกื้อหนุนให้กลุ่มอำนาจบางกลุ่มยังคงสามารถอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดชะตาชีวิตของประเทศไทยผ่านผลประโยชน์ของตนอยู่เสมอ หากมองในมุมรัฐศาสตร์แล้วอาจมีผลจากการขาดโมงยามแห่งรัฐธรรมนูญ (Constitutional moment) ที่ทำให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง อันเป็นผลมาจากการรัฐประหารหลายครั้งตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ศาลเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และในช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร มักจะมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีแนวคิดสอดคล้องกับอำนาจรัฐ การปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารมักจะมีบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการแทรกแซงในกระบวนการทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนและนักการเมืองหลายส่วนไม่มีสิ่งที่สามารถยึดถือเป็นหลักในการตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ ในสังคม การทำหน้าที่ของพลเมืองกลายเป็นสิ่งที่ไร้สาระ เพราะแค่ต้องคิดว่าจะอยู่อย่างไรต่อในสังคมที่ไม่มีหลักการอะไรที่น่าเชื่อถือหรือความมั่นคงก็ยากเกินกว่าจะมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้ว
แม้ส่วนต่างๆ อาจทำให้เห็นถึงความสิ้นหวังต่อกระบวนการทางการเมืองของประเทศไทย ที่แม้แต่ปราการที่ควร “ยุติธรรม” มากที่สุดยังอาจเอนเอียง แต่ผู้เขียนเชื่อว่า นี่คือความท้าทายที่สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยที่อาจมีการบั่นทอนเจตจำนงและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบอบอยู่เสมอ การต่อสู้กับอำนาจตุลาการไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองหรือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนควรตระหนักถึงปัญหาการใช้อำนาจตุลาการ ที่เป็นสิ่งสำคัญต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่ไม่ได้มีเพียงแค่การเลือกตั้ง แต่ยังรวมถึงการติดตามและวิจารณ์การตัดสินของศาล และการสร้างแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบตุลาการ การชุมนุมอย่างสันติ การเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ ต่างก็เป็นกลไกที่ประชาชนสามารถใช้ในการปกป้องสิทธิของตนและเรียกร้องให้ศาลทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่า ทุกคนจะยังมีหวังและมีแรงเพื่อสร้างสังคมที่พวกเราไม่ต้องรู้สึกระแวงต่อการใช้อำนาจของสถาบันแห่งความเที่ยงธรรมอีกต่อไป
วสุพล ยอดเกตุ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี