รัฐบาลบังกลาเทศภายใต้การนำพาของ นางชีค ฮาซีนา ได้ออกนโยบายและมาตรการว่าด้วยการจัดโควตาพิเศษสำหรับตำแหน่งข้าราชการให้กับญาติพี่น้อง ลูกหลานเหลน ของอดีตนักต่อสู้เพื่อเอกราช แยกปากีสถานตะวันออก จากปากีสถานตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลกลางเมื่อปี ค.ศ. 1971 (ปากีสถานตะวันออก มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า เบงกอลตะวันออก) แตกต่างจากเบงกอลตะวันตกที่อยู่ในประเทศอินเดีย
นโยบายและมาตรการดังกล่าวได้รับการต่อต้านอย่างใหญ่หลวงไปทั่วประเทศ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมและเป็นการเลือกปฏิบัติ การประท้วงก็ขยายตัวบานปลายถึงขั้นจลาจล ทำลายบ้านเรือน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็ตัดสินใจใช้กำลังอาวุธในการปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ก็มิสามารถหยุดยั้งความไม่พอใจของฝ่ายประชาชนไปได้ จนในที่สุด นางชีค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรี ต้องตัดสินใจลาออก และลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศอินเดีย ดังที่ทราบกันดีอยู่ทั่วโลก
ในสถานการณ์ดังกล่าวก็เป็นที่คาดหมายกันโดยทั่วไปว่า ฝ่ายกองทัพบังกลาเทศน่าจะเข้ายึดอำนาจและปกครองประเทศอีกต่อไป ดังหลักปฏิบัติทั่วๆ ไปในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่เพียรพยายามจะเป็นประเทศประชาธิปไตยซึ่งเมื่อมีประเด็นปัญหา การบริหารราชการก็มักจะได้เห็นบทบาทของกองทัพเข้ามาในเวทีการเมือง
แต่ความเป็นไปในบังกลาเทศกลับมิได้เป็นไปตามความคาดหมาย (หรือตามหลักปฏิบัติแบบธรรมเนียมประเพณีดังกล่าว) และจัดได้ว่าบังกลาเทศได้เสนอนวัตกรรมการเมืองใหม่เข้าสู่เวทีการบ้านการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่ง ที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรจะได้มีการศึกษา เพื่อเป็นข้อคิด เป็นหลักปฏิบัติ หรือเป็นแบบอย่างใหม่ๆ กล่าวคือ
1.แทนที่ฝ่ายกองทัพจะทำการยึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ แต่กลับเลือกที่จะวางตัวเป็นผู้รักษาความสงบและเป็นตัวกลางให้มีการปรึกษาหารือระหว่างฝ่ายประธานาธิบดี ฝ่ายพรรคการเมือง ฝ่ายค้าน ฝ่ายผู้นำการประท้วง โดยเฉพาะผู้นำนักศึกษา และฝ่ายองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคม
2.แทนที่จะมีการจัดตั้งคณะรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีขึ้นมาเป็นรัฐบาลชั่วคราวหรือรัฐบาลรักษาการดังประเพณีปฏิบัติโดยทั่วๆ ไป ก็ปรากฏว่าฝ่ายที่ได้ร่วมปรึกษาหารือดังกล่าว ได้ตกลงกันที่จะจัดตั้งกลุ่มผู้บริหารประเทศเป็นการชั่วคราวภายใต้ชื่อ คณะที่ปรึกษาประเทศ โดยผู้ที่เข้ามามีตำแหน่งที่ปรึกษาก็จะมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเสมือนรัฐมนตรี และมีภารกิจหลักคือ การนำเอาความสงบเรียบร้อยกลับสู่บ้านเมืองพร้อมๆ กับการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป
3.ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก และยอมรับเข้ามาดำรงตำแหน่งคณะทำงานที่ปรึกษา ก็คือ นายมูฮัมหมัด ยูนูส ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องระบบการให้กู้ยืมเงินแบบจิ๋ว (Micro credit) เพื่ออำนวยให้คนยากจนสามารถเข้าถึงซึ่งแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะฝ่ายสตรี แม่บ้าน ผู้ค้ารายย่อยต่างๆ ซึ่งความสำเร็จนำไปสู่การได้รับรางวัลที่มีชื่อเสียงสูงสุดของโลกคือ รางวัลโนเบลเพื่อสันติภาพเมื่อปี ค.ศ. 2007 และโดยตลอดมานายยูนูส ก็มิได้ใช้รางวัลดังกล่าวเป็นฐานและเส้นทางสู่อำนาจทางการเมือง หากแต่วางตัวอยู่ในสังคมบังกลาเทศด้วยความระมัดระวัง ไม่เอนเอียงไปกับคู่แข่งขันทางการเมืองหนึ่งใด และฉะนั้นนายยูนูส จึงเป็นที่เคารพนับถือและเชื่อถืออย่างกว้างขวางในแวดวงบังกลาเทศ และในแวดวงประชาคมระหว่างประเทศ ประเด็นที่สำคัญคือ บังกลาเทศมีคนดีของบ้านเมือง และคนดีนั้นได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาดังกล่าวอย่างไม่มีข้อแย้ง ข้อกังขาใดๆ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเชื่อว่า นายยูนูส จะทำการก็เพื่อประเทศชาติเท่านั้น ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นข้อคิดให้กับประชาคมโลกได้ตระหนักและจัดเป็นข้อปฏิบัติที่ว่า จะต้องเอาคนดีที่พิสูจน์ตัวตนได้แล้ว ให้เข้ามากู้ชาติเท่านั้น จะเป็นอื่นมิได้
4.ในสังคมหลายๆ สังคมก็มักจะมีความคิดที่เป็นอคติ ดูถูก และดูแคลน ไม่ไว้วางใจกันเกี่ยวกับการควรไม่ควรหรือความเหมาะสมหรือไม่ ที่คนหนุ่มคนสาวโดยเฉพาะนักศึกษาต่างๆ จะเข้ามามีบทบาทในความเป็นไปของบ้านเมือง ซึ่งเหตุการณ์ที่บังกลาเทศก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่ฝ่ายนักศึกษาคนหนุ่มคนสาวสามารถเลือกประเด็นที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องชอบธรรมให้กับบ้านเมือง โดยมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ กล้าเสี่ยงต่อภยันตราย แล้วก็ประสบความสำเร็จในการขับไล่รัฐบาลที่เต็มไปด้วยการบีบน้ำตาหลอกลวง และรู้จักแต่แค่การใช้กำลังอำนาจ โดยขาดการถ่อมตัวและการถ้อยทีถ้อยอาศัยออมชอม
5.ฝ่ายรัฐบาลที่ถูกขับไล่ไปดังกล่าว บัดนี้ก็กลับมาเป็นฝ่ายค้าน และก็คงจะได้เข้าร่วมแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้าในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งฝ่ายกองทัพ และฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมประชุมกันจัดตั้งคณะที่ปรึกษาประเทศดังกล่าว รวมทั้งคณะที่ปรึกษาดังกล่าว ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะออกไปตามล้างตามเช็ดพรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายรัฐบาลดังกล่าว ถือเป็นการช่วยลดอุณหภูมิทางการเมืองและเป็นหนทางของการลดความเป็นคู่อริแต่เป็นแค่ผู้แข่งขันเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ และประคับประคองสังคมประชาธิปไตยกันต่อไป
กลับมามองดูที่ประเทศไทยของเรา บรรยากาศการเมืองคือ การแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย เป็นคู่อริกัน มิใช่คู่แข่งขันตามวิถีทางประชาธิปไตย และเมื่อเป็นคู่อริก็ต้องประหัตประหารกันให้ถึงที่สุด ซึ่งในระดับหนึ่งก็คงจะกระทำได้ในระดับกายภาพ แต่อะไรที่เป็นเรื่องความคิด เป็นเรื่องอุดมการณ์ และความเชื่อถือแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะขจัดให้สิ้นสุดลงไปได้
ทางออกเดียวก็คือ การหันหน้ามาจับเข่าพูดคุยกันว่า เราจะร่วมกันจัดวางโครงสร้างและเนื้อหาของราชอาณาจักรไทยที่เป็นประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์แบบได้หรือไม่ อย่างไรเท่านั้น
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี