ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 มีการประชุมสภาฯครั้งแรกของเดือนในวันที่ 5 ตุลาคม แล้วก็เว้นไม่มีการประชุมไป 20 กว่าวัน เพราะเกิดเหตุการณ์กบฏที่ยกกำลังทหารจากต่างจังหวัด เข้ามาจะยึดพระนครเพื่อล้มรัฐบาล สภาฯ กลับมามีการประชุมได้ในโอกาสแรกหลังการเกิดกบฏ คือในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ถือว่าทางรัฐบาลสามารถคุมสถานการณ์ คือชนะเรียบร้อยแล้ว
นายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ แถลงต่อสภาฯ ว่า
“…คือเกิดการกบฏ เมื่อวันที่ 11 ได้ทราบข่าวว่า พระองค์เจ้าบวรเดชกับพวก ได้ทำการมั่วสุมชุมนุมกันขึ้นที่มณฑลนครราชสีมานครราชสีมา เพราะฉะนั้นทางฝ่ายรัฐบาลเรานี้ก็ได้ส่งขุนศรีศรากรขึ้นไปดูเหตุการณ์ ก็หายไปไม่ทราบข่าวคราว ทางรัฐบาลจึงได้ส่งพระกล้ากลางสมรเป็นหัวหน้าและมีนายร้อยโทกับนายดาบตำรวจ กับนายสิบหรือพลตำรวจขึ้นไปจับกุมอีก เพื่อจะให้ระงับเหตุการณ์ แต่พอขึ้นไปถึงตำบลปากช่อง ก็ถูกพวกกบฏเหล่านั้นทำร้ายเอาที่ปากช่อง นายตำรวจเสียชีวิตไป 1 นาย นายดาบ 1 นาย นายสิบบาดเจ็บสาหัสมีอาการหนัก และยังป่วยอยู่จนถึงบัดนี้ ส่วนพระกล้าฯ ก็ถูกจับไป ต่อมาพวกกบฏเหล่านั้นก็รีบรุดลงมา ยึดดอนเมืองไว้ได้ ทางฝ่ายรัฐบาลก็ยังเห็นว่าควรประนีประนอมกันได้ จึงส่งนายพันตรีหลวงเสรีเรืองฤทธิ์ ออกไปเจรจา ชั้นแรกเขาก็ทำท่าจะตกลงด้วยประการต่างๆ การที่ทำเช่นนี้ ก็เพื่อจะหน่วงเวลาให้มีกำลังส่งมาอีก และได้จับคนที่ไปเจรจาขังไว้ มีหนังสือของพระยาศรีสิทธิสงครามให้พระแสงสิทธิการถือลงมาเป็นเชิงขู่ จะขอให้รัฐบาลยอมในการที่เขาขอนี้ภายใน 1 ชั่วโมง ถ้าไม่ยอมเขาเขาจะเข้าตี ยึดพระนคร”
พระยาพหลฯ บอกเล่าถึงวันที่ฝ่ายกบฏยกกำลังลงมายื่นคำขาดกับรัฐบาล
“แต่การขอนั้นเป็นการข่มขี่ต่อรัฐบาลๆ จะไปยอมแก่พวกเหล่านี้อย่างไรได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอยู่เอง ที่จะยอมตามคำขอไม่ได้ เราก็ส่งทหารของเราไปยึดบางซื่อไว้ …มีคำขอ 6 ข้อดังที่พระองค์เจ้าบวรเดชส่งมานั้น ข้อขอต่างๆเหล่านี้ เราปฏิบัติอยู่แล้วในข้อ 1 จนถึงข้อ 5 แต่ส่วน ข้อ 6 นั้นเราทำไม่ได้ เพราะจะแบ่งกำลังทหารให้เท่าๆกันทุกจังหวัดนั้นย่อมทำไม่ได้ …เราจึงเข้าตีจนได้บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง ข้าศึกถอยไปอย่างอลหม่าน ไม่มีท่าทางสู้อีกแล้ว เราได้ยึดเมืองตามทางรถไฟเป็นลำดับ และได้ปะทะกันที่หินลับ ในหลัก 142 กม. ระหว่างหินลับกับทับกวาง เลยสู้รบกันจนถึงขั้นตะลุมบอน ทางฝ่ายกบฏเสียพระยาศรีสิทธิสงคราม ตั้งแต่นั้นก็เริ่มเสียขวัญถอยไปจนถึงปากช่อง… เวลานี้เข้าใจว่าฝ่ายเราได้ยึดโคราชไว้โดยเรียบร้อยแล้ว …ข้าศึกเห็นว่าจะบรรลุไปไม่ได้ จึงกลับใจอ่อนน้อมกับพระขจัดฯ ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมาอ่อนน้อมต่อหลวงพิบูลสงคราม อีกส่วนหนึ่งมีนายทหาร คือพระยาเสนาสงครามกับตำรวจและพลทหารหนีลงไปทางเขมร…และฝ่ายกบฏคงจะสิ้นกำลังเพียงเท่านี้…”
จบลงที่ฝ่ายกบฏแพ้ และหนีออกนอกประเทศ ที่จริงการก่อการเพื่อล้มรัฐบาลครั้งนี้ ทำให้เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารของฝ่ายกบฏและทหารของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งก็เป็นทหารไทยด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยมีการรบกันต่อเนื่องประมาณ 5 วัน อันวันที่แสดงฝ่ายกบฏแพ้คือวันที่พระยาศรีสิทธิสงครามถูกยิงเสียชีวิตในการสู้รบที่บริเวณหินลับนั่นเอง และการกบฏคราวนี้นับว่าเป็นสงครามกลางเมืองครั้งแรกของสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475
พระยาประมวญวิชาพูล “การกระทำของรัฐบาลที่ปรากฏคราวนี้เป็นที่พอใจแก่ราษฎรทั้งปวง… ข้าพเจ้าเห็นว่าสภานี้ควรแสดงความพอใจให้แก่รัฐบาล” ได้มีสมาชิกยกมือให้พร้อมกัน
นอกจากนั้นยังมีสมาชิกอื่นอีกหลายนายที่ลุกขึ้นมาสนับสนุน เช่น พระสุธรรมวินิจฉัย “… ข้าพเจ้าขอแสดงความไว้อาลัยในทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียเลือดเนื้อไป… โดยวิธีให้ยืนขึ้น” นายดิเรก ชัยนาม “ขอให้แสดงความขอบใจกองทัพของรัฐบาล” นายมานิต วสุวัต “ขอเสนอให้แสดงความขอบใจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและประชาชนทั่วๆไป”
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี