ในสังคมไทยได้รับเอาพุทธศาสนาเข้ามาเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติ ของการดำรงชีวิต เพื่ออำนวยให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนที่เปี่ยมไปด้วยความไม่สมหวัง หรือความสุขชั่วครั้งชั่วคราว และเมื่อปฏิบัติได้อยู่ในศีลในธรรม มนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก นั่นคือการถ้อยทีถ้อยอาศัยและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้มนุษย์แต่ละคนก็จะต้องมีสติสำรวจและกำกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ในการนี้องค์พระมหากษัตริย์ของไทยเราโดยตลอดมา ก็มักจะบอกว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม และในขณะเดียวกัน สังคมไทยเราก็มีปรัชญาการเมืองว่าด้วยหลักทศพิธราชธรรม ซึ่งหมายความว่า หลักธรรมเป็นหลักของการอยู่ร่วมกันสูงสุดที่ฝ่ายผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องตระหนักและปฏิบัติตนต่างๆ นานา บ้านเมืองก็จะมีความสงบเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้า
ประเด็นปัญหาของบ้านเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยซึ่งได้รับอิทธิพลจากฝ่ายตะวันตก ก็มักจะเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์กติกาว่าด้วยการเข้าถึงซึ่งอำนาจรัฐ การแบ่งแยกอำนาจ และการถ่วงดุลอำนาจ ไปจนถึงระบบตัวแทนที่ประชาชนพลเมืองซึ่งร่วมกันเป็นเจ้าของอำนาจต่างๆ ได้เลือกตัวแทนเพื่อเข้าไปรับหน้าที่บริหารบ้านเมือง ซึ่งจะต้องมีความโปร่งใสและมีการตรวจสอบได้ ซึ่งศัพท์ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Governance หรือหลักธรรมาภิบาล
สำหรับสังคมไทยเรานั้นก็มีกฎหมายกติกาบ้านเมือง แต่เหนือขึ้นไปกว่านั้นก็คือ หลักธรรมแต่เรามิได้มีการนำเอาหลักธรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และหลักปฏิบัติให้กับบรรดาผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ขอบบ้านเมืองอย่างจริงจังและเข้มข้น หรืออาจจะกล่าวว่า มีการลืมเลือนก็ว่าได้
ฉะนั้นสังคมไทยจึงอยู่กันมาด้วยการเรียกร้องให้มีการเคารพกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายผิดแปลกกันไป ก็มีการลงโทษกันไปตามนั้น และในบางกรณีฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ หรือฝ่ายผู้ปกครองก็จะมีการใช้กฎหมาย และกลไกหรือหน่วยงานของรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อจะเสริมอำนาจหรือเพื่อบ่อนทำลายคู่อริหรือคู่ต่อสู้ทางการเมือง และทั้งหมดนี้ก็เพิกเฉย หรือทำตัวไม่รู้ไม่ชี้เกี่ยวกับหลักธรรมแต่อย่างใด
เหตุการณ์ล่าสุดของการบ้านการเมืองของไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ในกรณีพรรคก้าวไกล กับข้อเสนอว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และในกรณีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งที่เคยมีความผิดทางคดีอาญาให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีนามว่า นายเศรษฐา ทวีสินทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวโดยองค์รวมเกี่ยวกับการละเมิดหรือการทำผิดต่อหลักจริยธรรม ซึ่งก็ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่ปรากฏชัดว่าเรื่องธรรมะได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยโดยทั่วไป และเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับผู้ที่อาสาเข้ามารับใช้ประเทศชาติ ในฐานะนักการเมือง รวมทั้งพรรคการเมืองอีกด้วย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ความผิดทางกฎหมายก็เป็นด้านหนึ่งของเหรียญ อีกด้านหนึ่งของเหรียญก็คือ เรื่องการละเมิดหลักธรรม หรือจริยธรรมหรือไม่
แต่บัดนี้ไปก็เป็นที่หวังว่า บรรดาผู้อาสาเข้ามารับใช้บ้านเมือง จะในตำแหน่งการเมืองหรือในตำแหน่งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ หรือพนักงานรัฐอื่นใด ก็จะต้องไม่ละทิ้งหลักธรรม และจะต้องนำเอาหลักธรรมซึ่งจะเรียกว่า จริยธรรม คุณธรรม หรือธรรมาภิบาล ก็แล้วแต่ มาเป็นตัวกำกับทั้งเจตนารมณ์ และทั้งการปฏิบัติตามภาระหน้าที่
อีกด้วย
หากเป็นเช่นนี้ได้ สังคมการเมืองก็จะเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างแน่นอน เพราะสังคมไทยเราจะมีผู้อาสารับใช้ชาติที่มีธรรมะอยู่ในใจ และมีการปฏิบัติที่เห็นจริงเห็นจังและจับต้องได้
ในการนี้ก็หวังว่า การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ดี หรือการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ดี ปรัชญาทางการเมืองของไทยว่าด้วยเรื่องหลักธรรม จะได้รับการนำมาใช้เป็นกรอบ และตัวขับเคลื่อนให้กับสังคมประชาธิปไตยของไทยอย่างถาวรต่อไป
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี