เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งรับฟ้องคดีตากใบ
คดี อ.578/2567 ที่ญาตินายอาแวเลาะ ปะจูกูเล็ง ผู้ตาย กับพวกรวม 48 คน จากเหตุการณ์สลายม็อบตากใบ เมื่อปี 2547 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตเเม่ทัพภาค 4 กับพวก รวม 9 คน
1. กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 มีการจับกุมผู้ชุมนุม นำตัวขึ้นรถบรรทุกนอนทับกัน เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ เสียชีวิตรวม 78 คน
ล่าสุด จำเลยที่ถูกยื่นฟ้องทั้ง 9 คน ประกอบด้วย
จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ยศในขณะนั้น อดีตผู้บัญชาการพล. ร. 5
จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และอดีต สว.
จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว.
จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสภ.อ.ตากใบในขณะนั้น
จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี ขณะนั้นตำแหน่งรองผอ.กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
ยกฟ้องจำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาค และยกฟ้องจำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับสภ.อ.ตากใบ
ศาลประทับฟ้อง ในส่วนจำเลยที่ 1,3-6 และ 8,9 มีมูลความผิดในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย หน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงเเก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80,83 มาตรา 310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 290, 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา (จำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่)
เเละให้ยกฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นรับอันตรายสาหัสโดยกระทำทารุณโหดร้าย
นัดสอบคำให้การจำเลยเเละตรวจพยานหลักฐานเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 12 ก.ย.2567 ซึ่งเป็นการรับฟ้องก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 2567
2. เหตุการณ์สลายการชุมนุมและควบคุมประชาชนที่ สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อำมหิตโหดร้ายขนาดไหน?
ขณะนั้น ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สว. กรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ไปสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น และจัดทำสมุดปกเหลืองเรื่อง “ความจริงที่ตากใบ : ไร้มนุษยธรรม ความชอบธรรมสิ้นสูญ” เปิดเผยความจริง (ปมได้ร่วมเดินทางลงไปในพื้นที่เกิดเหตุด้วย)
รายงานบางส่วน ระบุว่า
...เป็นการกวาดจับโดยไตร่ตรองเตรียมการไว้ก่อน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทางการได้เตรียมการจะจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน โดยได้ถ่ายภาพผู้ชุมนุมด้านใน ทั้งวีดีโอและภาพนิ่ง เพื่อกำหนดตัวบุคคลที่ทางการต้องการจับกุมเอาไว้ก่อน ระหว่างการเจรจากับผู้ชุมนุมนั้น ก็ได้มีการเตรียมรถจีเอ็มซีจำนวน 4 คัน จากค่ายอิงคยุทธบริหารไปรอที่หน้าอำเภอตากใบ เพื่อเตรียมไว้ขนคนจำนวน 100 คน แต่ก่อนการสลายการชุมนุม ตัวบุคคลที่ทางการต้องการจับกุมนั้นกระจายตัวไปฝูงชนที่เข้ามาร่วมชุมนุมเจ้าหน้าที่ของทางการจึงใช้วิธีปิดล้อม กวาดจับกุมไว้ทั้ง 1,300 คน เพื่อ “ตะแกรงร่อน” เอาคน 100 คน ที่กำหนดตัวไว้เดิม แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อกวาดจับกุมแล้วได้มีการให้ผู้ชุมนุมถอดเสื้อมัดมือไพล่ เกลือกกลิ้งไปตามพื้นดิน ทำให้ไม่สามารถเลือกจับกุมเฉพาะตัวคน 100 คน ที่ทางการเชื่อว่าเป็นแกนนำได้ จึงกวาดจับไปทั้งหมดประมาณ 1,300 คน…
..การขนผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไว้โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จาก อ.ตากใบ ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ใช้รถทหารจำนวน 25 คัน และรถตำรวจกับรถเช่าอีกจำนวนหนึ่ง ขนผู้ชุมนุมประมาณ 1.300 คนโดยยัดแน่น อัดกันอยู่ในรถ มีการจับประชาชนที่ถูกมัดมือไพล่หลัง ร่างกายอ่อนเพลียจากถูกปะทะในระหว่างสลายการชุมนุมและอยู่ระหว่างถือศีลอดโยนส่งขึ้นไปบนรถ บังคับให้นอนคว่ำหน้าบนพื้นรถ ขณะที่มือยังถูกมัดไพล่หลัง มีการวางประชาชนนอนซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ 4-5 ชั้น โดยใช้เวลาเดินทางนานถึง 5-6 ชั่วโมง โดยต้องถูกมัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้า ทับกันไปอย่างนั้นตลอดเวลาเดินทาง คนที่นอนคว่ำหน้าอยู่แถวล่างสุด (ถูกคนทับอยู่ 3-4 ชั้น)เมื่อใกล้ตาย ขาดอากาศหายใจ กล้ามเนื้อถูกกดทับทำลาย ร้องขอความช่วยเหลือ ก็ถูกทหารที่ควบคุมไปกับรถขึ้นไปเหยียบด้านบน และใช้พานท้ายปืนตี พร้อมกับพูดว่า “จะได้ให้พวกมึงรู้ว่า นรกมีจริง”
ข้อสังเกต การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทางการเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่เคารพสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ใช้วิธีทารุณกรรมขนย้ายผู้ชุมนุมโดยไม่ตระหนักว่า ประชาชนผู้ชุมนุมเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์…
3. ทักษิณ ชินวัตร กับเหตุการณ์ตากใบ
วันที่ 25 ต.ค.2565 ทักษิณกล่าวระหว่าง liveกลุ่มแคร์ โทนี่ วู้ดซัม ระบุว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย พร้อมเล่าว่าเมื่อ 18 ปีที่แล้ว วันนั้นขณะเกิดเหตุได้ตีกอล์ฟอยู่ย่านบางนา และได้รับรายงานว่ามีการไปล้อมโรงพักเพื่อจะให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่านำอาวุธไปส่งให้กับผู้ก่อความไม่สงบ
ทางตำรวจได้มาถามว่าจะทำยังไง ซึ่งได้บอกไปว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีการล้อมอยู่นาน ผลสุดท้ายการที่เจ้าหน้าที่ใช้น้ำฉีดและมีการปะทะกัน ซึ่งน่าจะมีผู้เสียชีวิต 6 คน ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายปกครอง ตำรวจ และช่วงนั้นทหารนิดหน่อย หลังจากนั้นก็มีการสลายชุมนุม และมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมไป แต่หลังจากนั้นไม่รู้เลยว่าจับยังไง เอาไว้ที่ไหน ไม่มีใครรายงาน มารู้อีกทีก็มีการตายเกิดขึ้น
“..ผมก็อ้าว ทำไมถึงตาย มันจบไปแล้วที่นั่น แล้วทำไม่มีการตายอีก ปรากฏว่า มีการลำเลียงผู้ต้องหาที่อ่อนล้ามาทั้งวัน เพราะเป็นช่วงที่ถือศีลอดช่วงรอมฎอน และแทนที่จะเอาไปไว้ในรถบรรทุกดีๆ กลับแต่เอาไปซ้อนกัน
ผมคิดว่ามนุษย์ทั่วไปไม่น่าจะคิดเอาไปซ้อนกันได้อย่างนั้น มันก็ขาดอากาศหายใจ ก็ตายบ้าง เจ็บบ้าง
ผมมารับรู้รายงานทีหลัง ก็เสียใจ ทำไม่มันซื่อบื้อขนาดนี้ ผมก็เป็นคนเกลียดคนโง่อยู่แล้ว พอทำอะไรพวกนี้ผมก็ด่า วันนั้นก็ไม่รู้อะไรลึกกว่านี้ รู้ที่รายงานมาแบบนี้ เสร็จแล้วผมก็โดนเกลียดชัง โดนโกรธจากมุสลิมที่นั่น..
...ถึงแม้ผมจะไม่ได้สั่งการ แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ผมต้องขอโทษ ขออภัย ญาติพี่น้องผู้ที่สูญเสียในครั้งนั้นด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการผิดพลาดอย่างแรง ของการลำเลียงผู้ต้องหาแบบนั้นตอนหลังมาวัวหายแล้วล้อมคอก มาซื้อรถกันผู้ต้องหาหลบหนี…”
นอกจากนี้ นายทักษิณยังกล่าวในส่วนของการทวงคืนความยุติธรรมให้ผู้ที่สูญเสียได้ว่า ต้องถามท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร) ในฐานะอดีต ผบ.ทบ. ขณะนั้น ซึ่งจะรู้เรื่องทหารดี จะชดเชยอย่างไร ตนไม่มีหน้าที่อะไรแล้ว
4. ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี คือ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวนายทักษิณ ชินวัตร
ขณะที่นายทักษิณก็กลับมาประเทศไทยแล้วมีบทบาททางการเมืองอย่างมาก
จะแสดงความจริงใจมากกว่าการกล่าว “ขออภัย” อย่างไร?
จะดำเนินการชดเชย เยียวยา สมานแผลตากใบ อย่างไร?
เป็นโอกาสที่จะไถ่บาป จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้อำนาจบริหารประเทศของชินวัตรผู้พ่อ โดย ไม่ต้องรอคดีมีคำพิพากษาถึงที่สุด
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี