รายงานข่าวระบุว่า มีผู้ยื่นร้อง กกต. ให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย
โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นนายกรัฐมนตรี
หลังจากที่เจ้าตัว (นายทักษิณ) ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่ได้แสดงบทบาททางการเมืองอย่างโจ๋งครึ่ม ผสมผสานกับความเคลื่อนไหวและการตัดสินใจทางการเมืองหลายๆ เรื่องของพรรคเพื่อไทยและผู้เกี่ยวข้อง
1. เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางออกจากอาคารชินวัตร 3
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทราบเรื่องที่มีคนไปร้อง กกต. ว่าครอบงำพรรคเพื่อไทย หรือยัง?
นายทักษิณตอบว่า “ไม่รู้เรื่อง อย่าไปสนใจ”
ผู้สื่อข่าวซักถามว่า ถามต่อว่า เรื่องครอบงำจะชี้แจงหรือไม่ และเป็นห่วงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหรือไม่?
นายทักษิณหัวเราะในลำคอ ไม่ได้ตอบคำถาม แสดงสีหน้ายิ้มแย้ม ก่อนที่จะขึ้นรถออกไป
2. นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีข่าวท็อปนิวส์ ปฏิเสธถึงการถูกครอบงำ
ระบุว่า
ไม่มีการเข้าสั่งการแน่นอน เราทำงานเป็นระบบพรรคการเมือง มีกรรมการบริหารพรรค ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ
ส่วนที่หลายๆสื่อออกมาพูดว่า อดีตนายกฯทักษิณแนะนำหลายๆ อย่าง การแนะนำไม่ใช่การครอบงำ ต่างกันเยอะ
หากร้องจริง พวกเราก็เตรียมสู้คดี หากมีคนจะร้องจริงๆ แล้วศาลท่านรับขึ้นมา เราเป็นผู้ถูกร้องก็ต้องเป็นฝ่ายชี้แจง แต่ตนไม่ทราบจริงๆ ว่าร้องในกรณีไหน การบริหารหรือการแต่งตั้งนายกฯ
“...พูดตรงๆ เห็นแก่บ้านเมืองบ้างเถอะ เพราะทุกครั้งที่มีการร้องเรียนหรือมีอะไรเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ประเด็นแค่การเมือง แต่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนล้วนๆ เลย
การทำงานของรัฐบาลกำลังจะไปได้ด้วยดี แต่ในเมื่อมีหน้าที่ที่จะร้องก็ร้องกันไป ส่วนผมมีหน้าที่ทำงานก็ทำงานไป อะไรที่พรรคเพื่อไทยจะต่อสู้ หากศาลรับ พวกเราก็พร้อม โดยจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคดูในรายละเอียด” – เลขาธิการพรรคเพื่อไทยชี้แจง
3. คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย เรื่องอะไร?
สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยว่า รายละเอียดในหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของผู้ร้องรายหนึ่ง ขอให้ กกต. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย
อ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม โดยระบุว่า เป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
โดยหนังสือร้องเรียนดังกล่าว อ้างถึง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน
หนังสือร้องเรียนระบุประเด็นเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ ระบุว่า
“...ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า
“ ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบ “บุคคล” ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ “บุคคล” ดังกล่าว และหลังจากผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบ “บุคคล” ดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ถอนชื่อจากบัญชีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งรู้เห็นยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 หรือ “ผู้อื่น” ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยมิชอบ.....”
ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังเป็นยุติดังกล่าว เป็นฐานแห่งข้อเท็จจริงที่สำคัญทำให้เห็นถึงการยินยอมของนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนเพื่อกระทำการโดยมิชอบ
และทำให้เห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร มีเจตนาชี้นำผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน ไปยังพรรคเพื่อไทย
เนื่องจากการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีอำนาจดำเนินการได้โดยลำพัง แต่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะต้องรับรู้หรือเห็นชอบในการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น การที่นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำนายเศรษฐา ทวีสิน จึงเป็นการชี้นำเพื่อผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน ไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงว่านายเศรษฐา ทวีสิน เสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นการที่นายเศรษฐา ทวีสิน ยินยอมดำเนินการตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการ หรือยินยอมตามการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตรเพื่อนำเอาความต้องการของนายทักษิณ ชินวัตร ไปดำเนินการตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยให้บรรลุผลตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการ และคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยควรรู้ว่าการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีคนดังกล่าวมาจากการชี้นำของนายทักษิณชินวัตร เนื่องจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นบุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ปรากฏจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่างๆ อย่างแพร่หลายว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) ได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าสถานที่พักอาศัยของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี วันที่ 27 เมษายน 2567
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกลางระหว่างช่วงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร กับช่วงเวลาก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในเรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียก่อนที่จะนำความกราบบังคมทูล แม้ว่านายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี
แต่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอชื่อหรือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่เป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ. 2561 ส่วนที่ 3 การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อ 112 ที่กำหนดว่า “การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการและกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่น ให้พิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม จริยธรรม โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกําหนด”
ดังนั้น การเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
การที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบบุคคลซึ่งหมายถึงนายทักษิณ ชินวัตร ที่นายพิชิต ชื่นบาน เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณชินวัตร และหลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร แล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี
แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ยอมรับการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ชี้นำให้เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี
แต่เมื่อข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยกำหนดให้การแต่งตั้งรัฐมนตรีจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐาทวีสิน จึงไม่อาจดำเนินการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีได้โดยลำพัง แต่จะต้องนำเอาการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร แจ้งต่อคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
และเมื่อประกอบกับคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค จึงทำให้การชี้นำพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ไม่มีข้อติดขัด ดังนั้นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจึงย่อมจะต้องรับรู้และยินยอมต่อการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค...”
นอกจากนี้ คำร้องดังกล่าว ยังบรรยายถึงข้อมูลและความคิดเห็นที่น่าสนใจอีกหลายประการ
นี่คือเนื้อหาบางส่วน ตามที่สำนักข่าวอิศรารายงาน
4. สรุปว่า คำร้องข้างต้น ชี้ว่า ทักษิณ ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย ครอบงำหรือชี้นำพรรคเพื่อไทย ผ่านทางนายเศรษฐา ในการเสนอชื่อนายพิชิต เป็นรัฐมนตรี อันไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับพรรคเพื่อไทย ซึ่งแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของนายทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรคอยู่
นี่ยังไม่รวมถึงที่ทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อสื่อภายหลังว่า ตนไม่ได้ครอบงำแพทองธารแต่ตนครอบครอง เพราะแพทองธารเป็นลูกสาวของตน
รวมถึงที่ทักษิณไปพูดในงานของเนชั่น ยังปรากฏเบาะแสข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติมอีกหลายปมที่น่าสนใจ
ส่วนจะมีหลักฐานเพียงพอแล้วหรือไม่ ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องคงจะต้องเป็นผู้พิจารณา
รวมถึงให้ความเป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทยในการชี้แจงข้อมูลรายละเอียดต่อไป
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี