Thousand Talents Program (TTP) เป็นโครงการดึงดูดหัวกะทิจากทั่วโลกให้กลับบ้านเกิดเพื่อเข้ามาพัฒนาประเทศของรัฐบาลจีน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น โครงการดึงสมองไหลกลับ ซึ่งหลายๆ ประเทศก็มีโครงการลักษณะเช่นนี้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
TTP ของจีนเริ่มขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๑ หรือ ๑๖ ปีที่แล้ว โดยในระยะแรกมุ่งเน้นไปยังชาวจีนที่ไปเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก แล้วได้ทำงานต่ออยู่ในประเทศนั้นๆ ต่อมา TTP ได้ขยายฐานเป้าหมายไปยังชาวต่างชาติ ด้วยการให้ทุนวิจัยด้านต่างๆ เพื่อให้มาทำงานร่วมกันกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน โดยเฉพาะนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำงานวิจัยอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ สถาบันนโยบาย สถาบันความคิด (think tank) หรือหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลในประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา TTP ของรัฐบาลจีนได้เริ่มถูกจับตามองจากรัฐบาลอเมริกันเป็นพิเศษ ว่าอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศสหรัฐ เมื่อเจ้าหน้าที่ FBI ได้เข้าทำการจับกุม Charles Lieber หัวหน้าภาควิชาเคมีและชีวเคมี มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในข้อหาให้การเท็จต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ศาสตราจารย์ Lieber ปัจจุบันอายุ ๖๕ ปี เป็นนักชีวเคมีระดับแนวหน้าของโลก ในแวดวงเคมีเก็งกันว่าเขาน่าจะได้รับรางวัลโนเบิลในสาขานี้ อีกไม่ช้าไม่นาน ถ้าเขาไม่ถูกสั่งฟ้องเสียก่อน เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ โดยอัยการ รัฐแมสซาชูเซตส์ ด้วยข้อหาให้การเท็จเรื่องสายสัมพันธ์ของเขากับโครงการดึงสมองไหลกลับหรือ TTP กับรายได้ที่ได้รับจากรัฐบาลจีน
ดร.Lieber เข้าร่วมโครงการ TTP ด้วยการเข้าไปทำงานวิจัยเรื่อง นาโนเทคโนโลยี (nanotechnology) ให้กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอู่ฮั่น (Wuhan University of Technology หรือ WUT) ที่เมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ โดยที่ไม่ได้แจ้งให้ฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยต้นสังกัดทราบ เขาได้รับเงินก้อนโตประมาณ ๕๐ ล้านบาทในการเข้าร่วมโครงการนี้จากรัฐบาลจีน และเงินอีก ๑.๕ ล้านบาทต่อเดือน สำหรับการทำงานในห้องทดลอง เรื่องนาโนเทคโนโลยีที่เขาเป็นคนสร้างขึ้นที่ WUT โดยก่อนหน้านั้น ดร.Lieber ได้รับเงินวิจัยกว่า ๔๕๐ ล้านบาท จากรัฐบาลอเมริกันในการวิจัยเรื่องเดียวกัน
ในปี ๒๕๖๐ เมื่อทรัมป์ขึ้นเถลิงอำนาจและเริ่มออกมาฟาดหัวฟาดหางกับรัฐบาลจีนในหลายๆ เรื่อง รวมถึงโครงการ TTP ด้วย ดร.Lieberถูกทั้งกระทรวงกลาโหมและฮาร์วาร์ดสอบถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ TTP และ WUT ซึ่งเขาก็ให้การปฏิเสธว่าไม่เคยเข้าร่วมกับโครงการดังกล่าวและไม่เคยมีการติดต่ออะไรที่เป็นทางการกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้
การทำงานวิจัยของ ดร.Lieber ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอู่ฮั่น ทำให้มีการเชื่ยมโยงเรื่องราวอันนำไปสู่การสร้างทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (conspiracy theory)ที่ว่า...นักวิทยาศาสตร์สหรัฐเป็นผู้ค้นคิดไวรัสโควิด-19ที่ห้องทดลองในเมืองอู่ฮั่น เพราะการระบาดเป็นครั้งแรกของโควิด-19 นั้นเกิดขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ หรือ เจ็ดปีต่อมา หลังจากที่ ดร.Lieber ได้เริ่มไปทำงานวิจัยที่ WUT....อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนอันใด ที่จะมาสนับสนุนทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดดังกล่าวนี้
ภายหลังการจับกุม ดร.Lieber รัฐบาลอเมริกัน โดยกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงศึกษาธิการก็ขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อขอข้อมูลเรื่องทุนวิจัย เงินช่วยเหลือ การแลกเปลี่ยนนักวิจัย สัญญาการทำวิจัยร่วมกับรัฐบาลต่างชาติโดยเฉพาะจีน รัสเซีย อิหร่านและซาอุดีอาระเบีย รวมไปถึงบริษัทเอกชนจากประเทศเหล่านี้ เช่น Huawai บริษัทด้านเทคโนโลยีการสื่อสารชื่อดังของจีน, Kaspersky บริษัทผลิตโปรแกรมป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ของรัสเซีย และองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) อย่างเช่น มูลนิธิอาลาวี (Alavi Foundation) ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอิหร่าน เพื่อให้ทุนการศึกษาและการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องอิหร่านในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาเปอร์เซีย อิหร่านศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรมอิสลาม โดยเฉพาะนิกายชีอะห์
ศาสตราจารย์ Simon Ang เป็นบุคคลรายต่อมาที่ถูกจับกุม ด้วยข้อหาลักษณะเดียวกันกับ ดร.Lieber
ดร.Ang ปัจจุบันอายุ ๖๗ ปี เชื้อสายมาเลเซียน-อเมริกัน อดีตผู้อำนวยการศูนย์อิเล็กทรอนิกส์ความหนาแน่นสูง มหาวิทยาลัยอาร์คันซอ (University of Arkansas) ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ดร.Ang ทำงานแบบปัญญาจารชนสองหน้า ให้ทั้งกับกระทรวงกลาโหม (Pentagon) และองค์การ NASA โดยมีรายได้จากการวิจัยให้สองหน่วยงานนี้มากกว่า ๑๕๐ ล้านบาท ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์ความหนาแน่นสูงที่เขาเคยนั่งเก้าอี้เป็นผู้อำนวยการมาก่อนถูกจับ ก็ได้ทุนก่อตั้งมาจากเพนตากอน เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเอาไว้ใช้ในสถานีอวกาศนอกโลก ส่วนอีกหน้าหนึ่ง ดร.Ang ก็เข้าร่วมในโครงการ TTP ทำงานวิจัยให้กับ Xidian University รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ในจีนด้วย
หลักฐานสำคัญที่มัดตัว ดร.Ang ก็คืออีเมลที่เขียนถึงนักวิจัยชาวจีนที่ Xidian University ที่กำลังจะเดินทางมาหาเขาที่ University of Arkansas ว่า...ให้ลบอีเมลนี้ทันทีที่อ่านเสร็จ เพราะที่นี้ แทบไม่มีใครรู้ว่าเขาทำงานให้กับโครงการ TTP......
ปัญญาจารชนสองหน้าอีกหนึ่งรายที่โดนจับ ก็คือ ศาสตราจารย์ ลี้ เซียว-เจียง (Li Xiao-Jiang) จาก Emory University ที่มีโรงเรียนแพทย์ชั้นนำและทำงานวิจัยร่วมกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดแห่งชาติ (Center for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ในเรื่องระบาดวิทยามาโดยตลอด เพราะทั้งสองสถาบันนี้ตั้งอยู่ที่เมือง Atlanta รัฐจอร์เจีย โดย ดร.ลี้ ไม่สามารถอธิบายถึงที่มาของเงินจำนวนกว่า ๑๕ ล้านบาท ที่ได้รับมาจากการเข้าร่วมกับโครงการ TTP ได้
ปัจจุบัน สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (FBI) กำลังตรวจสอบการโจรกรรมทรัยพ์สินทางปัญญากว่า 200 กรณี ในสถาบันวิจัยกว่า 70 แห่งทั่วประเทศทั้งที่อยู่ในและนอกมหาวิทยาลัยของสหรัฐ การโจรกรรมดังกล่าวนี้ไม่ใช่เป็นการโจรกรรมความลับทางการทหาร รายชื่อสายลับสองหน้า หรือข้อมูลลับสุดยอดทางการเมือง เหมือนช่วงยุคสงครามเย็น แต่เป็นการโจรกรรมไอเดีย ความคิดในการสร้างนวัตกรรม เป็นการขโมยข้อมูล การออกแบบระเบียบวิธีวิจัยและการทดลอง อันนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและการแพทย์
สามศาสตราจารย์ จากสามมหาวิทยาลัยนี้ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งรายแรกๆ ที่โดนจับกุม ในขณะที่กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงศึกษาธิการคิดว่าน่าจะยังมีปัญญาจารชนอีกหลายคนที่มีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันกับสามคนนี้ เพราะในเบื้องต้นกระทรวงศึกษาธิการ สหรัฐ พบว่าทั้งฮาร์วาร์ดและเยลไม่ได้รายงานที่มาที่ไปของเงินจำนวนกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่ทั้งสองมหาวิทยาลัยได้รับจากรัฐบาลต่างชาติ
นอกจากนั้นยังมีเงินอีกจำนวนทั้งหมดประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ที่ทั้งสองกระทรวงกำลังตามรอยเส้นทางการเงินของมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง ชิคาโก บอสตัน เท็กซัส เพนซิลเวเนีย เอ็มไอที คอร์แนลและคาร์เนลกี้ เมลอนที่ได้มาจากต่างชาติเช่นกัน ทั้งนี้พระราชบัญญัติอุดมศึกษาของสหรัฐ กำหนดให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องรายงานรายการทรัพย์สินทุกชนิดและการทำสัญญาที่มีมูลค่ามากกว่า ๗.๕ล้านบาท ที่ได้มาหรือทำกับรัฐบาลต่างชาติ
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี